กระทรวงการคลัง ส่งสัญญาณ เตรียมโยกเงิน 2.4 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 760,000 ล้านบาท โปะเยียวยา-กระตุ้นใช้จ่าย ก่อนไตรมาส3 หลังโควิดแพร่ระบาดระลอกที่สาม
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การดำเนินมาตรการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ภายใต้ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ขณะนี้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการสำหรับกู้เงินในก้อนดังกล่าวแล้ว 760,000 ล้านบาท ยังคงเหลือเงินกู้อีก 240,000 ล้านบาท ซึ่ง พ.ร.ก. ดังล่าว จะครบกำหนดวันที่ 30 กันยายน 2564 แต่หลังจากนั้น หากจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม จะต้องออกกฎหมายเพิ่มเติม หรือกฎหมายฉบับใหม่
น.ส.กุลยา กล่าวว่า ขณะที่ เม็ดเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ที่ยังเหลืออยู่อีก 240,000 ล้านบาท ยังมีเม็ดเงินจากงบประมาณรายจ่าย งบกลาง ปี 2564 ในส่วนของเงินสำรองจ่ายเพื่อการฉุกเฉินและจำเป็น วงเงิน 99,000 ล้านบาท โดยมีการเบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 500 ล้านบาท หรือ 0.5% และยังมีงบสำหรับบรรเทาโควิด-19 อีก 40,000 ล้านบาท ซึ่งมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 3,200 ล้านบาท หรือ 8% จึงยังมีเงินเพียงพอสำหรับนำมาใช้ได้
น.ส.กุลยา กล่าวอีกว่า ตามแผนเดิม หลังจบมาตรการ “เราชนะ” ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 จะมีการประเมินผล หากต้องการเพิ่มการขับเคลื่อน (โมเมนตั๊ม) ในระบบเศรษฐกิจ อาจนำโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 มาใช้ต่อ เพราะถือเป็นมาตรการที่กระตุ้นการใช้จ่ายได้อย่างดี แต่ตอนนี้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปต้องมาประเมินสถานการณ์กันอีกครั้งหนึ่ง
“เม็ดเงินกู้ยังเหลืออีก 240,000 ล้านบาท เม็ดเงินนี้ควรเอามาใช้อัดฉีดลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงต้นไตรมาสที่ 3/2564 เป็นต้นไป แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เกิดการระบาดอีกรอบ จะต้องมาพิจารณาว่าเม็ดเงินควรจะลงสู่ระบบเร็วขึ้นหรือไม่ คืออยากเห็นเม็ดเงินที่ลงต่อเนื่อง ซึ่งเงินกู้นี้ต้องอนุมัติวงเงินภายในเดือนกันยายนปีนี้ โดยต้องมีโครงการที่จะใช้งบ ที่ชัดเจน” น.ส.กุลยา กล่าว
น.ส.กุลยา กล่าวว่า สำหรับการดำเนินมาตการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นับตั้งแต่เกิดการระบาดในช่วงต้นปี 2563 รัฐบาลได้ดำเนินมาตราการเยียวยา ผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการเยียวยาผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้ได้สิทธิ์ 15.3 ล้านคน วงเงิน 228,919 ล้านบาท โครงการเยียวยาเกษตรกร ผู้ได้สิทธิ์ 1.16 ล้านคน วงเงิน 3,080 ล้านบาท โครงการเยียวยากลุ่มเปราะบาง ผู้ได้สิทธิ์ 6.66 ล้านคน วงเงิน 19,991 ล้านบาท โครงการเยียวยาผู้ประกันตนตาม ม.33 ที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน ผู้ได้สิทธิ์ 1.39 หมื่นคน วงเงิน 209 ล้านบาท
โดยเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 1 ผู้ได้สิทธิ์ 13.57 ล้านคน วงเงิน 20,341 ล้านบาท และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 1 ผู้ได้สิทธิ์ 14.794 ล้านคน วงเงิน 50,141 ล้านบาท ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปี 2563 จำนวน 435,984 ล้านบาท ส่งผลต่อตัวเลขเศรษฐกิจ 1.2% ทำให้ตัวเลขจีดีพีปี 2563 ติดลบลดลงเหลือ 6.1%
ขณะที่การดำเนินมาตรการในปี 2564 ผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 ผู้ได้สิทธิ์ 14.79 ล้านคน วงเงินประมาณ 51,923 ล้านบาท โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2 ผู้ได้สิทธิ์ 13.34 ล้านคน วงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท และมาตรการเยียวยาหลังมีการระบาดรอบใหม่ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ผ่านโครงการเราชนะ ผู้ได้รับสิทธิ์ล่าสุด 32.5 ล้านคน วงเงินที่ตั้งไว้ 210,200 ล้านบาท และ โครงการเรารักกัน ผู้ได้รับสิทธิ์ประมาณ 9.27 ล้านคน วงเงินประมาณ 37,100 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบผ่านโครงการดังกล่าวรวมประมาณ 319,200 ล้านบาท ส่งผลต่อตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 2 ของปี 2564 ประมาณ 0.8% – 0.9%
สศค. เตรียมประเมินตัวเลขจีดีพีปี 2564 ใหม่ ในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ จากตัวเลขเดิมที่ประเมินไว้ในช่วงเดือนมกราคม 2564 คือขยายตัวได้ที่ 2.8% แต่ตัวเลขที่จะปรับประมาณการณ์ใหม่จะเป็นอย่างไร ยังต้องรอผลการประเมินอีกครั้ง เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบที่ 3 จึงยังต้องรอดูว่าในช่วงสงกรานต์นี้ จะมีเม็ดเงินสะพัดมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจของละจังหวัดจะมีมาตรการใดๆ ออกมาบ้าง