นายกฯต้องมาจาก ส.ส.!! ปชป.เปิดเนื้อหา ร่างแก้รธน.6 ฉบับของ3พรรคร่วมรบ.

พรรคปชป. เปิดเนื้อหาร่างแก้รัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ ของ 3 พรรคร่วมรัฐบาล “ปชป.-ภท.-ชทพ.” ยึดระบบเลือกตั้งปี 50 ให้มี สส.เขต400คน และ บัญชีรายชื่อ100คน พร้อมกำหนดคุณสมบัติ นายกรัฐมนตรี ต้องมาจาก ส.ส.

วันที่ 15 เมษายน 2564 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยถึงเนื้อหาของประเด็นที่จะเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับในส่วนของ 3 พรรคร่วมรัฐบาล คือ พรรคประชาธิปัตย์ , พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ว่า เนื้อหาเบื้องต้นที่พรรคประชาธิปัตย์เตรียมเสนอให้อีก 2 พรรคร่วมรัฐบาลพิจารณา คือ 1.ประเด็นแก้ไขมาตราว่าด้วยสิทธิของประชาชน 4 มาตรา ว่าด้วย สิทธิในกระบวนการยุติธรรม , สิทธิที่ดินทำกิน , สิทธิผู้บริโภค และ สิทธิชุมชน 2.ประเด็นระบบเลือกตั้ง โดยเนื้อหาจะยึดการเลือกตั้งที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 คือ ให้มีส.ส.เขต 400 คน , ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน เลือกตั้งโดยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

3.ประเด็นว่าด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรี จะเสนอแก้ไข 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 88 ว่าด้วยให้พรรคการเมืองแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เกิน 3 รายชื่อ โดยจะตัดวรรคสอง ที่ระบุว่าพรรคการเมืองจะไม่เสนอรายชื่อบุคคลดังกล่าวก็ได้ ออก เพื่อให้ทุกพรรคการเมืองต้องเสนอบัญชีนายกรัฐมนตรี ให้ประชาชนได้พิจารณาในช่วงการแข่งขันเลือกตั้ง , มาตรา 159 ว่าด้วยการพิจารณาแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี จะเพิ่มเนื้อหาให้ บุคคลที่เสนอชื่อให้สภาฯ ลงมติเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. และ ตัดมาตรา 272 ที่ให้อำนาจวุฒิสมาชิกร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี

4. ประเด็นแก้ไข มาตรา 256 ว่าด้วยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะใช้เนื้อหาที่รัฐสภาผ่านวาระสอง ที่กำหนดให้ใช้เสียงรับหลักการ ไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 และตัดส่วนของเสียง ส.ว. จำนวน 1 ใน 3 ออก

5.ประเด็นการตรวจสอบการกระทำที่ผิดจริยธรรมของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยเสนอแก้ 2 มาตรา คือ มาตรา 236 และมาตรา 237 ที่กำหนดให้ประธานรัฐสภา เมื่อรับเรื่องจากส.ส., ส.ว. หรือสมาชิกรัฐสภา จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 แล้วต้องพิจารณาว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำตามที่ถูกกล่าวหารือไม่ ก่อนจะเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ โดยจะปรับบทบาทของประธานรัฐสภา เป็นเพียงคนกลางที่ส่งเรื่องไปยังประธานศาลฎีกา แทนการพิจารณา

“ประเด็นดังกล่าวกังวลว่าอาจเกิดความไม่ถ่วงดุลเกิดขึ้น เพราะหากมีนักการเมืองที่ต้องการใช้ประเด็นดังกล่าวต่อรองเรื่องคดีความอาจยื่นเรื่องให้รัฐสภาพิจารณาได้ และหากประธานรัฐสภา ไม่ใช่นายชวน หลีกภัย อาจเกิดกรณีต่อรองคดีขึ้นได้” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

6.มาตราว่าด้วยการกระจายอำนาจ ซึ่งนายถวิล ไพรสณฑ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยกร่างแก้ไข โดยมีเนื้อหาที่ขอให้เพิ่มเติม 2 มาตรา และปรับแก้ไข มาตรา 249 – 254 โดยสาระสำคัญเพื่อให้ความสำคัญกับท้องถิ่น การกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งตรงของประชาชน เพื่อคืนอำนาจให้กับท้องถิ่น

“ทั้งนี้ตัวร่างทั้ง 6 ฉบับนั้น จะให้ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล ที่ตกลงจะยื่นญัตติร่วมกันพิจารณาอีกครั้งว่า จะมีประเด็นใดเพิ่มเติมหรือปรับปรุงหรือไม่ โดยพรรคประชาธิปัตย์จำเป็นต้องขอเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลเพิ่มเติมเพื่อลงลายมือชื่อเสนอญัตติดังกล่าวไม่น้อยกว่า 100 ชื่อ และขณะนี้ของพรรคประชาธิปัตย์มี 51 ชื่อ” นายราเมศ กล่าว