“กรณ์” นำ!! พรรคกล้า “ระดมสมอง”แนะรัฐ โยกงบฯ 4แสนล้าน เร่งช่วยปชช.

หัวหน้าพรรคกล้า นำทีมระดมสมองในคลับเฮาส์ ย้ำต้องโยกงบหลายแสนล้านที่ยังไม่ได้ใช้เยียวยาประชาชนซื้อวัคซีนโควิด-19และต่อลมหายใจผู้ค้ารายย่อย 4 ล้านรายทั่วประเทศ

วันที่ 13 เม.ย.64 เวลาประมาณ 19.30 น. พรรคกล้าและคนเจนกล้า เปิดพื้นที่ ระดมสมองแบบคนต่างวัยต่างมุมมอง ผ่านแอปพลิชั่น “คลับเฮ้าส์” (Clubhouse) เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็น “ถ้าเป็นรัฐบาลจะรับมือคิดรอบนี้อย่างไร” โดยมี ผู้บริหารของพรรคกล้า นำโดย นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค นายวรวุฒิ อุ่นใจ , นายพงษ์พรหม ยามะรัด รองหัวหน้าพรรคกล้า ร่วมด้วยสมาชิกพรรค คนเจนกล้า และคนทั่วไป ที่มาจากหลากหลายอาชีพรวมถึงนักการเมืองรุ่นเก๋าอย่างนายจาตุรนต์ ฉายแสง ก็เข้ามาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นด้วย

นายกรณ์ กล่าวว่า ประเด็นปัญหาโควิด ขณะนี้มีหลายระดับมาก ตั้งแต่ผลกระทบเศรษฐกิจ จนถึงเรื่องของวัคซีนว่าเราจะได้รับเมื่อไร คุณภาพแต่ละประเภทวัคซีน ต้องเป็นอย่างไร ตลอดจนถึงเรื่องความชัดเจนในเรื่องของการให้ความรู้กับประชาชนว่า กลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการตรวจหาเชื้อนั้นต้องไปตรวจที่ไหน ประสบการณ์ตรงคือ มีน้องคนหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่า เขาไปตรวจที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง แต่ไม่สามารถตรวจได้ สุดท้ายต้องไปโรงพยาบาลเอกชน ก็ได้รับแจ้งว่าตอนนี้ยุติการตรวจแล้ว ขณะที่อีกสองวันต่อมา ดาราชื่อดังได้โชว์ผลตรวจว่าตัวเองไม่ติดโควิด ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเดียวกับที่น้องคนนั้นไปขอเข้ารับการตรวจแต่ได้รับการปฏิเสธ มันก็เกิดประเด็นกระทบความรู้สึกกัน ดังนั้นความชัดเจน ถูกต้อง และรวดเร็วที่จะต้องสื่อสารกับประชาชนจึงเป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะสถานการณ์ดูจะแย่ลงเรื่อย ๆ

ตอนนี้สิ่งที่ต้องการจากรัฐ คือ ในกรณีของผู้ที่ต้องการตรวจหาเชื้อโควิด รัฐต้องให้ข้อมูลว่าโรงพยาบาลไหนบ้างที่รับหรือไม่รับตรวจ และถ้าไม่รับก็ต้องชัดเจนถึงเหตุผลที่ไม่รับ สถานพยายาลทุกที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม และในกรณี อีกกรณีถ้าติดแล้ว ตามกฎหมาย คือ กักตัวเองไม่ได้ ต้องในโรงพยาบาลเท่านั้น ปัญหาคือ โรงพยาบาลไม่ตอบรับ ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม และการเชื่อมโยงของโรงพยาบาลไม่มีเลย แม้แต่ต้นสังกัด เช่น นาย ก.ไปตรวจที่โรงพยาบาลต้นสังกัดของตัวเอง พบว่าติดเชื้อ ก็ต้องหาเตียง และถ้าเตียงเต็ม ก็ต้องเชื่อมโยงหาเตียงให้กับผู้ป่วยให้ได้ แต่ปัจจุบันยังขาด กลายเป็นว่าต้องไปอาศัยระบบอุปถัมภ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบมีปัญหา และจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ระบบข้อมูลจึงสำคัญ การโหลดแอป หรือการเช็คอิน ก็ไม่ได้มีข้อมูลเตือนว่าใครเสี่ยง ใครติด และไม่มีสัญญาณเตือนอะไร จนมีข่าวว่าผู้ติดโควิดขึ้นเครื่องบินไปลงที่ จ.นครศรีธรรมราชได้ สร้างความกังวลให้กับผู้ร่วมเดินทาง

หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะเปิดโอกาสให้เอกชน สามารถซื้อวัคซีนมาฉีดได้เองว่า เท่าที่ดูข้อมูลประเทศอื่นยังไม่มีระบบนี้ ทั้ง อังกฤษ ญี่ปุ่น หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา ก็ยังถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะจัดสรรวัคซีนให้กับประชากรของเขา มีที่เดียวที่ถกกันเรื่องนี้คือประเทศมาเลเซีย แต่เขาก็ยังไม่ยอมให้เอกชนหรือประชาชนที่มีเงินสามารถซื้อวัคซีนได้ มองในมุมหนึ่งคือลดภาระของรัฐ ที่ไม่ต้องไปแย่งวัคซีนกับคนที่เงินไม่พอที่จะเข้าถึงวัคซีนได้เอง แต่มองอีกมุม เมื่อวัคซีนมีจำกัด การจัดสรรก็น่าจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือไม่ นอกจากนี้ ฐานะทางการเงินของประเทศเพียงพอที่จะผลักดันหนี้สาธารณะให้เพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้าสามารถช่วยให้ประชาชนดีขึ้นตนเห็นด้วย แต่ก็ต้องไปดูงบที่ยังมีอยู่ด้วยว่า ได้ถูกใช้ไปอย่างเหมาะสมาแล้วหรือยัง

“งบฟื้นฟูที่กันไว้สี่แสนล้านนั้น วันนี้ใช้ไปนิดเดียว เท่าที่ทราบตอนนี้มีเหลืออยู่สองแสนกว่าล้านตอนนี้ ก็ควรจะโยกมาก่อน แทนที่จะนำไปใช้กับโครงการตามระบบราชการ ตามวิถีสภาวะปกติ แต่ให้นำมาใช้เพื่อ เยียวยาช่วยเหลือ เอสเอ็มอี ประชาชน และการซื้อวัคซีน ซึ่งหากรัฐบาลบอกว่าซื้อไม่ได้ ก็จะมีคำถามว่า แล้วที่บอกว่าจะเปิดให้เอกชนไปซื้อ เขาไปซื้อจากไหน อยากเรียนว่า ฐานะทางการคลังของประเทศขณะนี้ยังไม่มีปัญหา ถ้างบฟื้นฟูหมด ก็ยังมีงบฉุกเฉินแสนล้านที่ยังไม่ได้ใช้ และงบกระทรวงสาธารณสุขที่กันไว้ห้าหมื่นกว่าล้านเพิ่งใช้ไปนิดเดียว จากเดิมที่เราคิดว่าเรารอวัคซีนได้ เราจะซื้อที่เราจองไว้ รวมกับที่เราจะผลิตได้เอง จึงไม่ได้รีบร้อนเพราะคนไทยติดเชื้อน้อย แต่วันนี้ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนไปก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด แล้วใช้เงินนี้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ การฉีดวัคซีน และเยียวยาประชาชน” นายกรณ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นไปอย่างเข้มข้น ทั้งผู้มีประสบการณ์ตรงในภาครัฐ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และผู้ที่อยู่วงนอกที่อยากรู้ โดยมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ประเด็นเฉพาะหน้า ถ้าต้องกักตัว กักที่ไหน ถ้าป่วยรักษาที่ไหน จึงอยากให้ภาครัฐทำการประชาสัมพันธ์ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และขยายการตรวจให้กว้างขึ้นเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งกลายเป็นสถานที่เสี่ยงไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตามทุกคนยอมรับว่า แม้จะมีการขยายเตียงไปยังโรงพยาบาลสนามก็ตาม แต่หากบุคลากรทางการแพทย์ยังคงที่การดูแลก็ไม่มีทางทั่วถึง นอกจากนี้ยังมีการยกตัวอย่างภูเก็ตโมเดล ที่เคยได้รับผลกระทบด้านการท่องเที่ยวสูงสุดในรอบการระบาดที่ผ่านมา จึงทำให้เอกชนกดดันเพื่อให้มีมาตรการช่วยเหลือ จนนำไปสู่นโยบายการเปิดเมืองให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ จึงมีการระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้ว 1 แสนราย และเข้มงวดกับมาตรการการคัดกรองที่เข้มข้น ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่จำนวนผู้ติดเชื้อกลับน้อยมาก เมื่อเทียบกับ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และ ชลบุรีที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ดังนั้นการฉีดวัคซีน จึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างเร่งด่วน เพราะภาวะที่ปลอดภัยจะต้องครอบคลุม 60-70% ของประชากรทั้งหมด และหากต้องปูพรมฉีดทั้ง 67 ล้านคน ต้นทุนคนละ 1,000 บาท รัฐบาลก็ควรทำ เพราะงบประมาณที่ใช้คิดเป็น 1% ของจีดีพีเท่านั้น แต่ปัญหาคือจะเอาวัคซีนจากที่ไหน เพราะรัฐบาลก็ประเมินผิดพลาดที่หวังพึ่งวัคซีนที่ผลิตในประเทศ โดยจะดำเนินการได้ในเดือนมิถุนายน เนื่องจากไม่คิดว่าการแพร่ระบาดจะมาเร็ว และสุดท้ายสิ่งที่ถกกันมากที่สุด คือถ้าต้องอยู่กับโควิดไปอีกนานรัฐบาลจะทำอย่างไร การให้ข้าราชการ work from home ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่น่าจะเป็นทางออกที่ดี ธุรกรรม นิติกรรม หลายอย่างก็ไม่สามารถดำเนินการทางออนไลน์ได้ บางคนเสนอให้มีการปรับโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เอื้อต่อการรับมือวิกฤต