รัฐสภาเห็นชอบลงคะแนนประชามติทางออนไลน์” หมอชลน่าน” จี้ถามวิธีอื่นคืออะไร ควรเขียนให้ชัด หวั่นเขียนกฎหมายตีเช็คเปล่าให้กกต.
วันที่ 8 เม.ย.64 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 แต่เมื่อเริ่มเปิดประชุมมีสมาชิกรัฐสภามาประชุมบางตา เนื่องจากมี ส.ว.หลายคนไปฉีดวัคซีนโควิด ตามโรงพยาบาลที่สำนักเลขาธิการวุฒิสภาประสานงานให้ แต่เมื่อครบองค์ประชุม นายพรเพชรแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องกรณี กกต.ขอให้วินิจฉัยสมาชิกภาพ 5 ส.ส.กปปส.ไว้พิจารณา ทำให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ดังนั้น จำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดที่มีอยู่ขณะนี้ จึงเหลือ 731 คน มีองค์ประชุม 366 คน
จากนั้น จึงเข้าสู่การพิจารณาร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ วาระ 2 โดยเป็นการพิจารณา ส่วนที่ 3 ว่าด้วยการลงคะแนนออกเสียง โดยเครื่องลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ หรือทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือโดยวิธีอื่น ตั้งแต่มาตรา 42/3 – 42/6 ซึ่งกมธ.เพิ่มขึ้นใหม่ โดย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิก ส.ว. ในฐานะประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ชี้แจงถึงเนื้อหาว่า สำหรับการลงคะแนนออกเสียง โดยเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ฯ เป็นส่วนหนึ่งของหมวด 6 การลงคะแนนออกเสียงและการนับคะแนน โดยกมธ.ปรับปรุงขึ้นเพื่อให้ตอบรับกับการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เนื่องจากร่างเดิมที่รัฐบาลที่ส่งมานั้น จะมีวิธีเดียวคือการใช้บัตรออกเสียง ดังนั้น จึงเพิ่มเพื่อให้การออกเสียงสามารถเข้าถึงประชาชนได้สะดวกและตอบรับความก้าวหน้าเทคโนโลยี
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายตั้งข้อสังเกตในมาตรา 42/6 เรื่องการลงคะแนนโดยวิธีอื่น ว่า ขณะนี้วิธีการออกเสียงมีด้วยกัน 4 เรื่อง คือ 1.บัตรออกเสียง 2.เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ 3.ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และ 4.วิธีอื่น จึงอยากสอบถามว่า วิธีอื่นมันคือวิธีอะไร และเจตนารมณ์เป็นอย่างไร และวิธีอื่นถ้าจะใช้คืออะไร อีกทั้งปัจจุบันการเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็มีเพียงไม่กี่หน่วยเท่านั้นที่ใช้ มองว่าเป็นการบัญญัติกฎหมายที่เขียนเช็คเปล่าให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือไม่ เพราะบัตรออกเสียง ถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญทางกฎหมาย ซึ่งกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ฉบับปัจจุบันก็ระบุว่า การออกเสียงลงคะแนนให้กระทำโดยใช้บัตรเลือกตั้ง ดังนั้น วิธีอื่นคืออะไร ถ้ามี เหตุใดจึงไม่เขียน เขียนไปก็ไม่ได้ใช้ ไม่เกิดประโยชน์ ถ้าจะเขียนเพื่อ อนาคตตนไม่เห็นด้วยเลย และมองไม่เห็นช่องทางด้วย
ขณะที่ นายสุรชัยชี้แจงว่า สำหรับโดยวิธีอื่น ขณะนี้ไม่ทราบว่าเป็นวิธีอะไร เพราะที่กำหนดอยู่ในกฎหมายฉบับนี้คือโดยใช้บัตรไปรษณีย์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังต้องไปที่หน่วยออกเสียง เพียงแต่เปลี่ยนจากการกาบัตรมากดเครื่อง ส่วนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น ก็เป็นเรื่องอนาคตที่เรามองเห็นว่าน่าจะมาปรับใช้ เพียงแต่ยังมีข้อถกเถียงว่าตอบโจทย์เรื่องโดยตรงและลับหรือไม่ ดังนั้นต้องรอความพร้อมเทคโนโลยีก่อน ซึ่งเราคิดเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ส่วนวิธีอื่นนั้นเป็นวิธีที่เผื่ออนาคตที่ไกลออกไปอีก แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าวิธีอื่นคืออะไร แต่เพื่อให้สมกับเป็นกฎหมายปฏิรูป ซึ่งผู้ที่รับผิดชอบคือ กกต.ก็ต้องปฏิรูปหน่วยงานเช่นกัน แต่ขอยืนยันว่าเราไม่ได้ตีเช็คเปล่าให้ กกต. จากนั้นเมื่อสมาชิกอภิปรายครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมลงมติเห็นชอบกับทุกมาตราที่ กมธ.เสนอมาตั้งแต่มาตรา มาตรา 42/3-42/6