ก๊วน ส.ว. สรรหา เอาอีกแล้ว!! เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความ กฎหมายประชามติ อาจขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 9 และ 166 จะทำให้เกิดความขัดแย้ง ระหว่าง ฝ่ายบริหาร และ นิติบัญญัติ เล็งยื่นให้ศาลฯ 1-2 เม.ย.นี้
วันที่23มี.ค.64 เวลา 11.30 น. ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ ส.ว.แต่งตั้ง กล่าวถึงการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตรา 9 ของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่มติรัฐสภาเสียงข้างมากให้แก้ไข โดยเพิ่มสิทธิให้กับรัฐสภาและภาคประชาชนเข้าชื่อร้องขอให้จัดทำประชามติได้ นายสมชายกล่าวว่า ตนตีความว่า เฉพาะมาตรา 9 และ 166 ขัด เพราะในกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นควร แต่เมื่อไปเติมของอาจารย์ชูศักดิ์เรื่อง (4) ที่รัฐสภามีอำนาจส่งไป มันจะเกิดปัญหาระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ หมายความว่าฝ่ายนิติบัญญัติสามารถมีมติสั่งให้ฝ่ายบริหารทำได้
เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าสามารถทำได้หรือไม่ แต่ถ้าประชาชนมีมติต้องทำตลอดทุกครั้ง ก็ยิ่งไปกันใหญ่ กำลังรอดูว่าผลการแก้ไขเนื้อหามาตรา 9 ของ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติจะไปกระทบกับเนื้อหา มาตรา 10-11 และมาตราอื่นๆ ถ้าแก้แล้วมีเนื้อหาไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็อาจไม่ต้องยื่นตีความ แต่ถ้าแก้แล้วมีเนื้อหาไปขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จำเป็นต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ดูแนวโน้มแล้วคิดว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า หากแก้ไขเนื้อหามาตรา 9 แล้ว ยังเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ ส.ว.จะโหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.ประชามติ วาระ 3 ใช่หรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า ยังมั่นใจว่าร่าง พ.ร.บ.ประชามติจะผ่านวาระ 3 แต่ถ้าไม่ผ่านก็สามารถใช้ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับเดิมในการทำประชามติเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญได้
ด้าน นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่าจะมีสมาชิกรัฐสภายื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความบทบัญญัติที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในมาตรา 9 ของร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ที่รัฐสภามีมติให้แก้ไขเพิ่มสิทธิให้รัฐสภาและภาคประชาชนสามารถเข้าชื่อร้องขอให้จัดทำประชามติได้ เกรงว่าจะเป็นการแก้ไขเกินกรอบรัฐธรรมนูญและหลักการร่างกฎหมายที่กำหนดไว้ หากรัฐสภาเห็นชอบให้บัญญัติเนื้อหาดังกล่าวอาจมีผลกระทบ ในชั้นนี้ได้พิจารณารายละเอียดแล้ว เชื่อว่าจะมีผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ
ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.กล่าวว่า การแก้ไขมาตรา 9 ร่าง พ.ร.บ.ประชามตินั้น สมาชิกรัฐสภาบางส่วนและรัฐบาลเห็นว่ามีความขัดหลักการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ และขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 แม้เนื้อความในมาตรา 166 ตอนท้ายเขียนว่า “ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ” แต่กฎหมายที่ออกมาควรทำหน้าที่เพียงขยายความ กำหนดขั้นตอนรายละเอียดในการปฏิบัติให้ชัดเจน ไม่ควรบัญญัติหลักการเกินกรอบรัฐธรรมนูญ กรณีนี้รัฐธรรมนูญกำหนดหลักการให้ ครม.มีอำนาจพิจารณาใช้ดุลพินิจตัดสินใจการจัดทำประชามติ แต่หากเนื้อหาที่แก้ไขไปบัญญัติให้รัฐสภา หรือประชาชนเข้าชื่อกันให้ ครม.จัดการออกเสียงประชามติได้ อาจเป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้
“ขณะนี้สำนักงานกฤษฎีกาอยู่ระหว่างปรับแก้มาตราต่อเนื่องจากมาตรา 9 ให้มีกรอบที่ไม่มัดมือ ครม.เกินไป กมธ.จะนัดพิจารณาวันที่ 1-2 เมษายนนี้ เชื่อว่านอกจากจะพิจารณาเนื้อหาที่กฤษฎีกาเสนอแล้ว อาจมีข้อเสนอจาก กมธ. อาทิ ให้ชะลอการบังคับใช้มาตรา 9 ส่วนตัวเชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ผ่านวาระ 3 ยาก อาจเกิดกรณีถามหาความรับผิดชอบด้วยการยุบสภา ซึ่งส.ส.ไม่ต้องการ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องมีทางออกหลายวิธี เช่น เสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขมาตรา 9 เป็นต้น” นายคำนูณกล่าว