แบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง ออก 2 มาตรการการเงินเร่งด่วน โดย ครม.อนุมัติวงเงินรวม 3.5 แสนล้านฟื้นธุรกิจ และพักหนี้ จากผลกระทบจากไวรัสโคโรนา โควิด-19 เร่งเติมสภาพคล่องให้กับ ผู้ประกอบการ ดีเดย์ พ.ค.64
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือเยียวยาระยะสั้น ของภาครัฐแก่ลูกหนี้ผ่าน พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 เม.ย.63 ยังไม่เพียงพอรองรับสถานการณ์ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยาวนานกว่าที่คาดไว้
ทั้งนี้ ธปท.และกระทรวงการคลัง จึงเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติม โดยคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบต่อมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (มาตรการฟื้นฟูฯ) วงเงินรวม 350,000 ล้านบาท มีระยะเวลาเบิกเงินกู้ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ และขยายต่ออายุได้อีก 1 ปีหากมีเหตุจำเป็น
สำหรับมาตรการฟื้นฟูนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพให้สามารถประคับประคองกิจการ พยุงระดับการจ้างงาน และมีโอกาสในการฟื้นฟูศักยภาพ รองรับโลกยุคหลังวิกฤตโควิด-19 โดยออกแบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ความเสี่ยงในปัจจุบัน และมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนเพื่อให้รองรับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงครอบคลุมการแก้ปัญหาให้กลุ่มลูกหนี้ที่มีความจำเป็นต่างกันในแต่ละภาคธุรกิจ
โดยในการจัดทำมาตรการในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคสถาบันการเงิน และภาคเอกชน อาทิ หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสามารถตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจและสอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจำแนกมาตรการเป็น 2 หมวด ตามลักษณะปัญหาที่ต่างกัน
1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท มุ่งเน้นให้สถาบันการเงินส่งผ่านสภาพคล่องดังกล่าวแก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบแต่ยังมีศักยภาพ ซึ่งได้ปรับปรุงข้อจำกัดจากมาตรการครั้งที่แล้ว โดยขยายขอบเขตลูกหนี้ให้ครอบคลุมทั้งลูกหนี้รายเดิม และลูกหนี้รายใหม่ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน เพื่อให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น พร้อมกับรองรับการฟื้นตัวที่ต้องใช้เวลา ด้วยการปรับเพิ่มวงเงินกู้ให้สูงขึ้น ขยายระยะผ่อนชำระให้ยาวขึ้น และกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เอื้อต่อการฟื้นฟูกิจการยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ภาครัฐยังสนับสนุนกลไกการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รวมถึงยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ ธปท. สนับสนุนสภาพคล่องต้นทุนต่ำแก่สถาบันการเงินเพื่อให้เกิดการส่งผ่านสภาพคล่องไปยังกลุ่มเป้าหมาย
2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้ และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท มุ่งเน้นในการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว แต่ยังมีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน ด้วยการเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงินเพื่อหยุดหรือลดภาระหนี้ภายใต้เงื่อนไขสัญญามาตรฐานที่กำหนด อาทิ ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์คืนเป็นลำดับแรกในราคาต้นทุน ภายในระยะเวลา 3-5 ปี เท่ากับราคาตีโอนบวกด้วยต้นทุนการถือครองทรัพย์ (carrying cost) 1% ต่อปีของราคาตีโอน และต้นทุนในการดูแลรักษาทรัพย์ตามที่จ่ายจริงและสมควรแก่เหตุ โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถขอเช่าทรัพย์กลับมาดูแลหรือเปิดดำเนินการ และสถาบันการเงินจะนำค่าเช่าที่ได้รับ ไปหักออกจากราคาที่ขายคืนทรัพย์ให้กับลูกหนี้ เพื่อช่วยรักษาโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ถูกกดราคาบังคับขายทรัพย์ (fire sale) สามารถกลับมาสร้างงานและทำรายได้อีกครั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย
ทั้งนี้ ธปท.ให้การสนับสนุนสภาพคล่องต้นทุนต่ำแก่สถาบันการเงินเท่ากับมูลค่าทรัพย์ที่สถาบันการเงินและลูกหนี้แต่ละรายตกลงร่วมกัน และภาครัฐสนับสนุนยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาษีและค่าธรรมเนียมในการตีโอนทรัพย์ ทั้งขารับโอนและขายคืนให้กับลูกหนี้รายเดิม โดยในการให้ความช่วยเหลือภายใต้มาตรการฟื้นฟูฯ ได้คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรทั้งของภาครัฐและเอกชนให้เกิดประสิทธิผลและมีประโยชน์สูงสุด โดยสภาพคล่องจะถูกส่งผ่านไปยังกลุ่มลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ รักษาการจ้างงาน พัฒนาทักษะแรงงานและปรับรูปแบบธุรกิจ ให้กลับมาสร้างรายได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
นอกจากนี้ ธปท. และภาครัฐยังมีนโยบายลักษณะอื่น เพื่อรองรับความต้องการที่ต่างกัน อาทิ กลุ่มรายย่อยที่ขาดสภาพคล่องชั่วคราว ภาครัฐมีนโยบายเสริมสภาพคล่อง โดยเพิ่มรายได้ผ่านโครงการต่างๆสำหรับกลุ่มที่ต้องแก้ไขหนี้เดิม มีมาตรการพักหนี้ รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อเร่งบรรเทาปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ขณะเดียวกัน ธปท.ได้ออกหลักเกณฑ์การปรับฐานและอัตราการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะช่วยกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและมีปัญหาในการชำระหนี้ เพื่อช่วยลดภาระและสร้างความเป็นธรรมในการใช้บริการทางการเงินของประชาชนรวมถึงลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพในระบบการเงิน อย่างไรก็ดี คาดว่ามาตรการใหม่ที่ออกมานี้ จะมีผลบังคับใช้ได้ในเดือน พ.ค.64
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จำนวน 2 มาตรการ คือ มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) และมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้ และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) นั้น สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก พร้อมสนับสนุนการดำเนินมาตรการดังกล่าว เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ในช่วงที่เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงจากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งคาดว่าต้องใช้ระยะเวลาอีกนานในการฟื้นตัว
โดยการจัดทำมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูฯ ในครั้งนี้ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้หารือและรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการภาครัฐในการดูแลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ความกังวลของสถาบันการเงิน และสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างตรงจุด
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนได้เห็นถึงความตั้งใจของภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง และ ธปท.ที่ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และขอบคุณที่รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนมาปรับปรุงใหม่และออกแบนนโยบายตลอดจนมาตรการใหม่ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือต่างๆ แก่ภาคธุรกิจได้ดีขึ้น ดังเช่นที่ ครม.ได้อนุมัติมาตรการในวันนี้ ทั้งการสนับสนุนสภาพคล่องสำหรับ SMEs ให้ช่วยพยุงการจ้างงาน และการพักหนี้แก่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะธุรกิจด้านบริการ ให้มีโอกาสรักษากิจการไว้ได้ และกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็ว
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาในวันนี้ ถือว่าเป็นการตอบโจทย์ภาคเอกชนได้อย่างแท้จริง หลังจากที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เคยพยายามนำเสนอมาหลายครั้ง ซึ่ง 2 มาตรการใหม่ที่ออกมาวันนี้ ถือเป็นการปลดล็อคอย่างจริงจังให้แก่ภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้เดิมที่มีปัญหา หรือลูกหนี้ใหม่ที่กำลังจะมีปัญหาเช่นกัน
นอกจากนี้มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ซึ่งเชื่อว่าไม่ได้เป็นการให้ความช่วยเหลือเฉพาะในธุรกิจโรงแรมเท่านั้น แต่เป็นการให้ความช่วยเหลือทุกธุรกิจทั้งรายกลาง รายย่อย และรายใหญ่ที่มีปัญหา ซึ่งถือว่ามีความครอบคลุมมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดยธนาคารของรัฐ เชื่อว่าช่วยเต็มที่ แต่ธนาคารของเอกชนขอฝากด้วย มีโครงการดีๆอย่างนี้ อยากให้ธนาคารเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปล่อยกู้ในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง เชื่อว่าการจ้างงานจะกลับเข้ามา และเศรษฐกิจจะฟื้นกลับมา