ชีวิต’วิ่งสู้ฟัด’-เกษม อัชฌาศัย นักข่าวอาวุโส เจ้าของรางวัล ‘นราธิปพงศ์ประพันธ์’

‘เกษม อัชฌาศัย’ นักข่าวอาวุโส ที่ผ่านประสบการณ์การเป็นนักข่าว มีหลายสำนัก ล่าสุดได้รับรางวัล นราธิปพงศ์ประพันธ์ ได้เขียนบทความบอกเล่าชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก จากเด็กบ้านนอกเข้ากรุง ครอบครัวยากจนต้องดิ้นรนเลี้ยงชีพ จนได้เรียนธรรมศาสตร์

เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ

กรณีที่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยประกาศให้ผมได้รับรางวัลเกียรติยศ
“นราธิปพงศ์ประพันธ์”ด้วยคนหนึ่งในจำนวนนักเขียนทั้งสิ้น ๑๕ คนประจำปี ๒๕๖๓ และเป็นข่าวไปแล้วนั้น ปรากฏว่านายกสมาคมนักเรียนเก่าวัดสระเกศคือ พล.ต.ท.ธวัชชัย จุลลสุคนธ์ และครู”สมจิต ธรรมชีวัน”(ครูสอนภูมิศาสตร์คนแรกตั้งแต่เริ่มเรียนม.๑) ได้ติดต่อขอให้ผมเขียนเรื่องลงตีพิมพ์ในวารสารโรงเรียนหน่อย ผมก็รับปากและเพิ่งเขียนจบ รอจะส่งเรื่องไปให้พร้อมกับภาพถ่ายรับรางวัล ซึ่งเลื่อนกำหนดพิธีมอบไปไม่มีกำหนดเพราะภาวะ”โควิด 19”
ความที่กลัวว่า เรื่องผมจะไม่ได้ลงตีพิมพ์ เพราะไม่รู้จะตายวันตายพรุ่ง จึงขออนุญาตนำมาลงไว้ ตรงนี้ก่อน เผื่อพระเจ้าเรียกตัวผม ไปเข้าเฝ้าโดยไม่คาดหมาย จะได้เอาเรื่องจากตรงนี้ไปลงตีพืมพ์อีกที ดังต่อไปนี้ครับ
“ศิษย์ ส.”ต่อสู้เพื่ออยู่รอด
เมื่อปลายปี ๒๕๖๓ ขณะนั้น ผมอายุ ๗๖ (หลังเกษียณจากอาชีพนักข่าวมาแล้ว ๑๑ ปี) ได้รับแจ้งจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยว่า เป็นหนึ่งใน ๑๕ คน ที่ได้รับรางวัล”นราธิปพงศ์ประพันธ์”ประจำปี ๒๕๖๓
ข่าวนี้ทำให้ผมเกิดความปีติยินดีอย่างยิ่ง ตามประสามนุษย์ธรรมดาเพราะไม่นึกไม่ฝันว่า จะได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ
จึงขออนุญาตป่าวประกาศซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า นักเขียนทั้ง ๑๕ คนที่ได้รับรางวัลนั้น มีรายชื่อเรียงตามลำดับอักษรดังต่อไปนี้
๑ ศ.เกียรติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี
๒ นายเกษม อัชฌาสัย
๓ นางจงกลณี สุวรรณทรรภ (อรุณรุ่ง,ดวงเดือน)
๔ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์
๕ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล’
๖ นายชานนท์ ภาคศิริ(สุรินทร์ ภาคศิริ)
๗ นายโชติ ศรีสุวรรณ
๘ รศ.นภาลัย สุวรรณธาดา
๙ นายไพบูลย์ พันธ์เมือง(พร เมืองใต้,ผกายฟ้า ประกาศิต)
๑๐นายไพบูลย์ สำราญภูติ(ศรี อยุธยา,คีตา พญาไทย)
๑๑นายมังกร แพ่งต่าย
๑๒นางรำไพพรรณ ศรีโสภาค (โสภาค สุวรรณ)
๑๓นางวรรณา สวัสดิ์ศรี(ศรีดาวเรือง)
๑๔นายเวทินทร์ ศันสนียเวทย์
๑๕ม.ร.ว.อรฉัตร ซองทอง (อร อักษรา)
การคัดเลือกนี้คณะกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยกระทำเป็นประจำในทุกปีตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ (ยกเว้นปี ๒๕๕๘ และปี ๒๕๕๙) เพื่อยกย่องให้เกียรติแก่นักเขียนไทย ที่มีผลงานการเขียน เข้ากรอบระเบียบของสมาคม เพื่อสนับสนุนผู้ที่ทำงานเขียนหนังสือที่มีอยู่มากมาย ได้เกิดขวัญและกำลังใจในการทำงานอุทิศเพื่อสังคมส่วนรวม
บอกตรงๆ ละครับ ว่าแทบจะไม่เชื่อว่า ผลงานเขียนของนักข่าวอย่างผม จะได้รับการพิจารณา นับว่าเป็นอดีตนักข่าวเพียงหนึ่งเดียวในกลุ่มนี้ ที่มีผลงานไม่น่าจะเกี่ยวข้องหรือเข้าข่ายงานวรรณกรรม เพราะงานที่ทำในแต่ละวัน ก็เพียงเพื่อสื่อความเป็นไปในสังคมโลก ซึ่งเริ่มทำมาตั้งแต่เข้าทำงานในหนังสือพิมพ์”สยามรัฐ”ในปี ๒๕๑๑ มุ่งยึดเป็นอาชีพหลัก ไม่ได้เขียนเพื่อความบันเทิง หรือมุ่งสร้างวรรณกรรมในเชิงศิลป เหมือนท่านผู้อื่นแต่อย่างไร
งานที่ทำก็ไม่เคยจัดเก็บเป็นการส่วนตัวอย่างจริงจัง ทำแล้วก็ทิ้งขว้าง ไปเสียหมด จะปรากฏอยู่ก็แต่เฉพาะในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันที่เคยทำมา ไล่เรียงตั้งแต่”สยามรัฐ-วัฏจักร-มติชน-กรุงเทพธุรกิจ-The Nation”
ทั้งนี้ ยังไม่รวมงานที่ทำให้นิตยสารอื่น ๆ เช่นสังคมศาสตร์ปริทัศน์-สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์-สู่อนาคต-มติชนสุดสัปดาห์-เนชั่นสุดสัปดาห์” รวมทั้งนิตยสารรายเดือน ฯลฯ รวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์รายสะดวกมากมาย จาระไนไม่หมด กับ”สื่อดิจิตัล”เช่นสำนักข่าวเจ้าพระยา” หากจะนับเป็นชิ้น ไม่สามารถจำได้
เขียนทุกเรื่องในทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่าง หากเขียนแล้วได้ค่าตอบแทน นั่นหมายความว่า เรื่องที่เขียนให้ใครฟรีๆ นั้น ก็มีอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง
จากวันนั้นถึงวันนี้ ผมยังเขียนไม่หยุด
ผลงานของผมถ้าจะนับ คงมีเป็นหมื่นๆ ชิ้น ทั้งในรูปข่าวและบทความ บทสัมภาษณ์ สารคดี แม้แต่หนังสือเล่ม ที่เขียนจริงจังออกมาสองเล่มด้วยกันคือ “ก่อการร้ายทำลายล้างโลก”กับ”ทำไม?ต้องโค่น”ซัดดัม ฮุสเซน”และยังไม่รวมงานทางวิชาการว่าด้วยวิธีเขียนบทความ ที่ได้เสนอไว้ร่วมกับนักเขียนอื่นๆ เช่น ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ (อีกหลายคนจำไม่ได้)ในการสัมมนาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีการรวบรวมเป็นเล่ม รวมทั้งงานเขียนตำรากับคณาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อใช้ประกอบการเรียนและศึกษาระยะทางไกล ว่าด้วย”การบริหารงานกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์”และการแปลวิทยานิพนธ์จากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ
ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงเอกสารเชิงตำรา เขียนไว้เพื่อประกอบคำบรรยายของตนเองในมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ว่าด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์โลกและการเขียนบทความ) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ(ว่าด้วยข่าวและจริยธรรม) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(ว่าด้วยข่าว บทความและจริยธรรม) ซึ่งคาดว่า น่าจะยังคงเหลือเอกสารไว้ในห้องสมุดมหาวิทยาลัยที่ว่านั้น
ต้นฉบับ ที่ผมเขียนในการทำบทข่าวอีกมากมาย(หากนับจำนวนชิ้น)ใน”สื่อโทรทัศน์”ใน”ช่อง ๗ สี”แต่จะไม่นับจำนวนข่าวที่อ่านผ่านสื่อวิทยุของ”เครือเนชั่น”ด้วย เพราะไม่ได้เขียนเองเพียง อ่านออกเสียงอย่างเดียว
นั่นคือข้อสรุปผลงานของผมในด้านการเขียนอย่างหลากหลายและกว้างขวาง ทั้งในแง่ข่าว บทความว่าด้วยการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ฯลฯ ซึ่งน่าจะมีส่วนทำให้ได้รับรางวัล ในช่วงระยะเวลาที่เริ่มทำงานมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๑
จนกระทั่งเวลานี้ ก็ยังเขียนอยู่อย่างต่อเนื่องในรูปข่าวและบทความ ทั้งใน”เฟซบุ๊ก”ส่วนตัวและในเว็บไซต์”INEWHORIZON-ขอบฟ้าใหม่ ซึ่งเป็นเว็บไซต์หลากหลาย รวบรวมความรู้และความเห็นจากนักเขียนและนักวิชาการหลายสาขา เพื่อเป็น”วิทยาทาน”ต่อสาธารณชนที่สนใจใฝ่รู้
ในชีวิตผม สิ่งที่ผมถือว่าเป็นความสำเร็จสูงสุดก็คือ การทำมาหาเลี้ยงชีพเพื่อเอาตัวรอดอย่างหนึ่งกับการประสบความสำเร็จในอาชีพที่สุจริต เพื่อบริการและตอบแทนสังคม(ทั้งสังคมประเทศและสังคมโลก)อีกอย่างหนึ่ง
ไม่ได้มีอะไรไปมากกว่านั้นเลย
ผมไม่มีความตั้งใจที่ต้องร่ำรวย หรือต้องมีเกียรติยศสูงส่งในหน้าที่การงาน อะไรทั้งสิ้น
แต่เนื่องจาก”ต้นทุนชีวิต”ของผมต่ำกว่าคนอื่นๆ เพราะฉะนั้น กว่าที่ผมจะก้าวเข้ามาประกอบอาชีพนักสื่อสารมวลชนอันเป็นที่รักนี้ ผมจึงต้องสู้อย่างยิบตา สู้ไม่ถอย ถึงกับในบางครั้งสู้อย่างดุเดือด กว่าจะดำรงตนเป็นมนุษย์ในสังคมโลกได้อย่างสง่าผ่าเผย เทียมเท่ากับคนอื่นๆ อย่างมีคุณค่าและมีความภาคภูมิใจ
ผมเกิดเป็นลูกชาวนา ที่อำเภอบ้านโพธิ์จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือที่เรียกกันว่า”แปดริ้ว”
ได้เข้าเรียน ป.๑ ถึง ป.๔ (ระหว่างปี ๒๔๙๖-๒๕๙๙)ในโรงเรียนวัดคลองสวน(คลองสวนวิทยาคาร) ชื่อในสมัยนั้น
เข้าเรียนโรงเรียนวัดสระเกศรอบบ่าย(เพราะเด็กในเกณฑ์ที่จะต้องรับมีจำนวนมากเกินที่จะเรียนเพียงรอบเดียว) ตั้งแต่ ม.๑ ถึง ม.๘ ระหว่างปี ๒๕๐๐-๒๕๐๗ โดยไม่ต้องสอบเข้า
กลุ่มที่สอบเข้ามีสองห้อง ๆละประมาณ ๔๐ คนได้อยู่รอบเช้า สอนโดยครูคนละชุด คือรอบเช้า สอนโดยครูชุดดั้งเดิมที่ล้วนมีประสบการณ์
ส่วนรอบบ่ายก็มีสองห้องเช่นกัน โดยครูแทบจะชุดใหม่เอี่ยมทั้งหมดที่เพิ่งสำเร็จจากหลักสูตรฝึกสอนมาหมาดๆ หรือครูที่สอนมาแล้วประเภทกลางเก่ากลางใหม่คละกันไป
แรกเริ่มเดิมทีผมไปสมัครเรียน ม.๑ ที่โรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์เพราะมีญาติเรียนที่นั่นและใกล้บ้านพักที่สี่แยกมหานาค แต่เขาบอกว่าไม่รับเด็กนอกเขต(”บ้านนอก”)แถมแนะนำให้ไปสมัครที่โรงเรียนวัดสระเกศ ซึ่งรับทันที โดยไม่ต้องสอบเข้าสำหรับรอบบ่าย ซึ่งในตอนนั้น รู้สึกเอาเองว่า“ต่ำระดับ”กว่าชั้นเรียนรอบเช้า ซึ่งสอบเข้าตามปกติ
แต่ก็เอาเถอะ ขอให้ได้มีที่เรียนได้เป็นพอ เพราะเราเป็นเด็ก”บ้านนอก” จริงๆ
ก่อนหน้าที่ผมจะมาเรียนโรงเรียนวัดสระเกศ ผมแทบไม่สนใจเลยว่าที่ผ่านๆมาเรียนเป็นอย่างไร เพียงแต่ฝันว่าจะเป็นหมอ หรือเป็นนักวิทยาศาสตร์อย่าง ดร.ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ (หนึ่งในตัวละครในหัสนิยายหรือนิยายขบขัน “พล นิกร กิมหงวน”ของ “ป.อินทรปาลิต”)ให้ได้ ต่อเมื่อเริ่มเรียน ม.๑ แล้วนั่นแหละ
แต่มีอย่างหนึ่ง ที่ติดแน่นหนึบอยู่ในใจผม หลังจากเรียนจบ ป.๔ นั่นก็คือ ชอบภาษาอังกฤษ แม้ไม่มีสอนในชั้นประถมศึกษาสมัยนั้น ผมถึงกับเอาหนังสือเรียนภาษาอังกฤษ ม.๑ มาตรวจดูว่าเขาสอนเขาเรียนอะไรกันบ้าง ก็ลองอ่านผ่านๆ จากตำรานั้น
ช่วงอยู่บ้านนอก เคยได้ยินเสียงบทสนทนา จากหนังขายยาที่ไปฉายให้ชมอยู่เนืองๆ หลังโรงสี(ข้าว)ตลาดคลองสวน โดยเฉพาะที่พูดตอบโต้กันในหนังคาวบอย แม้จะฟังไม่รู้เรื่องเลย ดีที่เขาพากย์ให้เข้าใจ
แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งเป็นหนังฝรั่งเสียงในฟิล์ม ไม่มีการพากย์ ดูแล้วเข้าใจทุกอย่าง เพราะบทพูดแทบจะไม่มี นั่นคือหนังเรื่อง”โลกล้านปี”หรือ One Million Years BC แสดงนำโดย”วิคเตอร์ เมเจอร์” ดูทีไรสนุกทีนั้น ไม่เชื่อลองหามาดูสิครับ
ผมชอบหนังฝรั่งตรงที่ว่า สำเนียงการออกเสียงฟุดฟิดฟอไฟมัน”เท่ ดี”และใฝ่ฝันว่า สักวันหนึ่งหากโตจะขึ้นเครื่องบินไปเมืองฝรั่งที่มี”คาวบอย”ให้จงได้ จะได้พูดภาษาอังกฤษเป็น จะได้อ่านออกเขียนได้
ครับ ผมทำให้ความฝันนี้กลายเป็นจริงในที่สุด และสามารถนำมาใช้คู่กับภาษาไทย ในการทำมาหาเลี้ยงชีพได้ชั่วชีวิต เพราะเช่นนั้น เมื่อได้เข้าเรียนในโรงเรียนวัดสระเกศ เริ่มเรียนเอบีซี ในชั้น ม.๑ จึงใส่ใจเต็มที่ เกินกว่าคนอื่น
เริ่มต้น ม.๑ มีการสอนเรื่องตัวอักษรเอบีซี แยกตัวอักษรว่าอะไรเป็นเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ ตัวพิมพ์เล็ก ตัวเขียนใหญ่ เขียนอย่างไร ตัวเชียนเล็กเขียนอย่างไร และเขียนต่อเนื่องโดยไม่ยกปากกาเขียนอย่างไร สระและพยัญชนะ ผสมกันแล้วมีเกณฑ์ออกเสียงโดยทั่วไปอย่างไร มีข้อยกเว้นอย่างไร
มีการสอนให้จำศัพท์ง่ายๆ สอนให้รู้ว่าอะไรคือคำนาม สรรพนาม กริยาแท้ กริยาช่วย กริยาวิเศษณ์ คุณศัพท์
การเรียนรู้คำศัพท์ จนสามารถแยกแยะออก นับว่าเป็นหัวใจของการสร้างประโยค เพื่อการเรียงความ แต่การที่จะก้าวไปจนถึงจุดนั้น ก็ต้องเรียนรู้เรื่อง โครงสร้างประโยคในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีหลักการว่าจะต้องมี ประธาน กริยาและกรรม ที่สำคัญมากก็คือ จะต้องรู้จักการผันกริยาสามช่อง เพื่อนำไปใช้ในรูปประโยคซึ่งในภาษาอังกฤษ นิยมใช้ passive voice ซึ่งดูเหมือนจะมากกว่า active voice เสียด้วยซ้ำ
นอกจากนั้นที่สำคัญอีกอย่าง คุณจะต้องแม่นยำในการใช้ tense หรือ “กาล” ว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อไร เช่นปัจจุบันกาล อดีตกาลและอนาคตกาล
ผมเรียนภาษาอังกฤษที่เขียนเล่ามานี้ ด้วยความสนุกสนาน ไม่สับสน
แรกๆ ก็ไม่เข้าใจนักว่า ในชีวิตจริง คนอังกฤษใช้ tense ต่างๆ อย่างไร แต่ก็อย่าไปสนใจมาก จริงๆ แล้วเขาใช้กันไม่กี่ tense หรอก ในเวลาพูดจา ยกเว้นในการเขียนซึ่งจะต้องพิจารณาให้ดีๆ ว่า ตามธรรมเนียมภาษาแล้ว เข้าของภาษา เขาใช้กันอย่างไร ก็เท่านั้นเอง
อยากจะอวดว่า เมื่อไปสอบการใช้ไวยากรณ์อังกฤษในชั้นทดสอบพื้นความรู้ที่มหาวิทยาลัยอเมริกันคราวหนึ่ง คะแนนผมนับว่า อยู่ในขั้นแนวหน้า นำนักเรียนฝรั่งเจ้าของภาษาหลายคนเลยทีเดียว
ที่ยากมากก็คือสำนวนภาษาที่นิยมใช้กันทั่วๆไป ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะถูกต้อง เช่น I am gone ทำไมไม่ใช้ I went away
ถ้าเราใช้ผิดพลาดการใช้ถ้อยคำ ฝรั่งอ่านแล้วคงจะยิ้ม เหมือนที่เราพบฝรั่งใช้ภาษาไทยแปลกๆ
ลองมาพิจาณาเนื้อเพลง Five hundred miles ดู
If you missed the train I’m on.
You will know that I’m gone.
ทำไม เขาใช้ I’m gone. ทำไมไม่ใช้ I went away.
การเรียนรู้การใช้สำนวนภาษาตามประเพณีและวัฒนธรรมของเจ้าของภาษาจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้ให้ลึกซึ้งจริงๆ
ทางที่ดีที่สุดในการเรียนรู้ก็คือ อ่านให้มากและที่สำคัญมากไปกว่าก็คือต้องคลุกคลีตีโมงสนทนาแลกเปลี่ยนกับเจ้าของภาษาบ่อยๆ ฟังบ่อยๆ รวมทั้งฟังวิทยุ โทรทัศน์และภาพยนตร์ ภาษาจึงจะซึมซับเข้ามาเป็นของเรา จนสามารถหยิบยกมาใช้ ได้อย่างเหมาะสมในเวลาจำเป็น
เมื่อผมเข้าเรียนในโรงเรียนวัดสระเกศได้ อันที่จริง ไม่ได้กระตือรือล้นเรียนเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่วิชาวิชาสำคัญๆ อื่นๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาตร์และศีลธรรม ก็ให้ความสำคัญมาก ไม่แพ้กัน เพราะมีความตั้งใจแต่แรกว่าจะต้องเลิศกว่าคนอื่น อย่างน้อยก็ในห้องเรียนเดียวกัน
เมื่อเรียนในแต่ละคาบ ในแต่ละวิชา ผมจะทบทวนบทเรียนซ้ำๆ อย่างน้อยสองเที่ยว อันไหนยาวหน่อยก็จะทำสรุปสั้นๆ เอาไว้ในการทำความเข้าใจ กันลืม
วิธีเรียนอย่างนี้ต่อเนื่องจนจบ ม.๘ ผมได้ที่ ๑ มาตลอด น้อยนักที่จะมาที่ ๒ หรือที่ ๓
ตอนจบ ม.๖ ได้ที่ ๑ ของโรงเรียน ด้วยคะแนนสูงสุดถึง ๙๗.๓๒ (ถ้าจำไม่ผิด) ถูกเชิญตัวไปปรากฎตามชั้นต่างๆ เพื่อโชว์ว่า”เด็กรอบบ่าย”ทำคะแนนได้อย่างนี้ (แต่พอไปสอบเข้าเรียนต่อโรงเรียนจ่าอากาศผมกลับไม่ติด ทั้งๆ ที่ได้คะแนนสอบแข่งขัน มาเป็นที่ ๒ ทำไมครับ ทำไม)
ผมก็ได้แต่ภาคภูมิใจในตัวเอง แต่เตือนตัวว่า”อย่าเหลิง”
แต่ตอนจบ ม.๘ ได้คะแนนแค่ ๖๐ เปอร์เซ็นต์กว่า มาเป็นที่ ๓ ในจำนวนทั้งหมดที่สอบผ่านสี่คน จากห้องเรียนเดียวในตอนนั้นราว ๔๐ คน ทั้งนี้ สอบตามหลักสูตรการสอนเดิม ปรากฏว่าผลสอบไล่ ม.๘ ทั่วประเทศปีนั้น หลายโรงเรียนพากันตกยกชั้น
ทั้งนี้ ด้วยฝีมือการออกข้อสอบของกระทรวงศึกษาธิการ ถือเป็นการออกข้อสอบแบบ”ทิ้งทวน”ก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้หลักสูตรใหม่ คงเพื่อยืนยันว่าหลักสูตรเดิมใช้การไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนใหม่
แต่ผมก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ที่ ๓๘ จากจำนวนนักศึกษา ที่รับได้ราว ๑,๒๐๐ คน จากนักเรียนที่สมัครสอบเข้าธรรมศาสตร์กว่าเกือบสองหมื่นคน
ได้ความที่หลังว่าที่สอบได้ที่ ๓๘ นั้น เขาวัดจากคะแนนภาษาอังกฤษ ซึ่งมีผลต่อการจัดห้องเรียน ให้อยู่ในอันดับต้นๆ
เป็นอันว่าผมได้เข้าเรียนปี ๑ ในคณะศิลปศาสตร์ โดยเข้ารับฟังรวมการบรรยายทั้ง ๑,๒๐๐ คนในวิชารากฐานที่จำเป็นต่อการเรียนรู้การอยู่ร่วมในสังคม ในหลายวิชาเพื่อหล่อหลอมความเป็นมนุษย์ รวมทั้งวิชาที่คล้ายๆ กับ”ดนตรีวิจักษณ์”และวิชาว่าด้วยอายธรรมโลก
ส่วนการแยกห้อง เป็น A1 ถึง A15 และB1 ถึง B15 นั้น นอกจากจะแบ่งเกรดด้วยภาษาอังกฤษแล้ว ก็เพื่อสะดวกต่อการแยกติวเข้มในรายวิชาเช่นวิชาภาษาอังกฤษและเพื่อดูแลการเรียนของนักศึกษา ซึ่งแต่ละชั้นจะมีอาจารย์ประจำ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาโดยห้องหนึ่งๆจะมีนักศึกษาราว ๔๐ คน
ทั้งนี้ ก่อนที่จะสามารถเลือกเข้าเรียนในคณะต่างๆ ได้ในปี ๒, ปี ๓ และปี ๔ ตามความตั้งใจดั้งเดิมที่จะเรียน
จะว่าบังเอิญหรือไม่ ก็ไม่รู้ได้ ที่ห้องที่ผมถูกจัดเข้าเรียนคือ A1 นั้น มีรุ่นพี่วัดสระเกศ ที่สอบได้ด้วยคะแนนภาษาอังกฤษได้อันดับดีกว่าผม ท่านผู้นั้น ก็คือ “เสกสรร ยงยุทธ”เลยได้อยู่ห้องเดียวกัน
”เสกสรร”หลังจบเศรษฐศาสตร์แล้ว กลับไม่ยอมไปทำมาหากินเกี่ยวกับความรู้ที่เรียนมา แต่ไปเป็นนักเปียโน มืออาชีพ ทำมาหากินจนเป็นหลักเป็นฐานมั่นคงมาทุกวันนี้
บอกให้เลยครับว่า รากฐานการสอนการเรียนภาษาอังกฤษของโรงเรียนวัดสระเกศสมัยนั้น ไม่เป็นรองโรงเรียนฝรั่งที่ดังๆ มากสักเท่าใด
ยกเว้นแต่ว่า พวกเรา”เด็กวัด”อ่อนในเรื่อง”การพูดและฟัง”เท่านั้นเอง เพราะไม่มีโอกาศ ได้พูดจากับเจ้าของภาษาเลยในตอนเรียน
ทางออกของส่วนตัวของผมนั้น ช่วงที่เรียน ก็ไปเดินหาฝรั่งคุยด้วยตามสถานที่ท่องเที่ยว เช่น พระบรมมหาราชวัง วัดเบญจบพิธ หรือแม้แต่ภูเขาทอง
คุยรู้เรื่อง ไม่รู้เรื่องมั่ง ผิดมั่ง ก็ช่างหัวมัน พวกฝรั่งเขารู้ ว่าเราอยากฝึกพูดอยากเข้าใจเข้าพูด เขาก็คุยด้วยความเอ็นดู
แต่ที่ยากที่สุดก็คือ พูดกับชาวอินเดียครับ แค่หนสองหน ผมไม่พูดด้วยอีกเลย เพราะ ภาษาเธอรัวเสียจน เราหัวหมุน
แต่ที่ได้ฝึกฝนจริงๆ เป็นเรื่องเป็นราว ก็เมื่อได้เข้าทำงานที่โรงแรม
”แกรนด์ โฮเตล”หน้าสนามกีฬาแห่งชาติ ในตำแหน่งพนักงานต้อนรับหรือ receptionist ช่วงกลางคืน เวลานั้นเรียนอยู่ปีสี่แล้วเห็นจะได้ ทำให้ได้เจอะเจอแขกต่างชาติหลากหลาย โดยเฉพาะทหารอเมริกัน ที่มารบในเวียดนามและมาพักผ่อนในไทย ผมจึงได้สำเนียงอเมริกันปนมากับสำเนียงไทยดั้งเดิม
ทีนี้ภาษาพูด-ฟัง ของผมแบบชาวบ้าน ก็ดีขึ้นเป็นเงาตามตัว
แต่มีปัญหาอีกครับ เพราะตอนหลังไปเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในสหรัฐแล้ว แรกๆ ก็ไม่เข้าใจเลยว่า เขาบรรยายอะไรกัน
ต้องเข้าหลักสูตรอบรม”การฟัง-การพูด”สักระยะหนึ่งนั่นแหละ จึงฟังเข้าใจคำบรรยายรู้เรื่องและจดตามได้….เล่นเอาแทบตาย
แต่ภาษาเขียนผมพอใช้ได้ครับ สามารถเอาตัวรอด ทั้งนี้จากการฝึกฝนนั่นเอง อ่านหนังสือพิมพ์ “บางกอก โพสต์”บ้าง “เธอะ เนชั่น”บ้าง หรืออ่านหนังสือภาษาอังกฤษที่ใช้ภาษาง่ายๆ ของ The Ladders series books บ้าง พอแก่กล้าเข้าก็อ่านTime Magazine, Newsweek ไปจนกระทั่ง The Economist
อีกอย่างผมเรียนจากเพลงฝรั่งที่ผมชอบ
ผมชอบ”แพต บูน”และ”แนท คิง โคล” สามารถจำและร้องเพลงของสองท่านนี้นับสิบๆ เพลง เช่น Remember you’re mine และ Autumn Leaves
ถามว่าร้องแล้ว ได้อะไร ตอบว่าได้รูปแบบการ การเขียนประโยค สามารถนำมาประยุกต์ใช้ เวลาเจอข้อสอบให้เขียนเรียงความภาษาอังกฤษครับ
อันที่จริง ผมได้”เขียน”ภาษาอังกฤษด้วย แต่ก็ไม่มากนัก ในช่วงอยู่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ เคยเขียนให้นิตยสารในสิงคโปร์(จำชื่อไม่ได้) เกี่ยวกับการเมืองและเศรษฐกิจไทย
ผมก็เขียนภาษาอังกฤษแบบไทยๆ ไปนั่นแหละ ง่ายๆ ตรง ๆ สั้นๆ (เลียนแบบผลงานของ“เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์”อดีตนักข่าว-นักเขียนผู้ล่วงลับ ผู้เขียน”เฒ่าผจญทะเล” หรือ The old man and the sea) แต่เขาก็ต้องเอาไปปรับเป็นภาษาที่สละสลวยอีกทีหนึ่ง
มีโอกาศได้เขียนอีก ก็ตอนอยู่”เครือเนชั่น” เขียนลงคอลัมน์ประจำเสียด้วย(จำไม่ได้ว่าชื่อคอลัมน์อะไร) ผมถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่ง แต่แน่นอน เขาจะมีเจ้าของภาษาคอยขัดเกลาให้เช่นเคย ซึ่งนั่นก็ถูกต้องแล้วเพราะภาษาอังกฤษไมใช่ภาษาพ่อภาษาแม่ของผม
อย่างไรก็ตาม มีคนไทยอยู่ท่านหนึ่งซึ่งผมให้ความเคารพนับถือมาก สามารถเขียนภาษาอังกฤษ ได้ดีกว่าภาษาไทยเสียอีก (ผมเคยได้รับความไว้วางใจจากญาติของท่านให้คัดเลือกบทความที่ท่านเขียนไว้มากมาย(อ่านกันตาแฉะ) เพื่อนำไปตีพิมพ์หนังสืองานศพของท่าน)
ท่านคือ ม.ร.ว.อายุมงคล โสณกุล ซึ่งอำลาโลกนี้ไปแล้วตั้งแต่อายุยังน้อย ถ้า”คุณชาย”ยังอยู่ อายุก็จะมากกว่าผมหกปี ท่านผู้นี้มีผลงานเขียนมากมายใน”บางกอก โพสต์”, “บางกอก เวิร์ลด์” และ “เธอะ เนชั่น”
ทีนี้กลับไปพูดถึง ช่วงเวลาที่เรียนอยู่โรงเรียนวัดสระเกศสักหน่อย ว่ามีประสบการณ์อะไรที่สมควรจะนำมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อจะได้คติอะไรกันบ้าง
บอกแต่แรก แล้วไงว่าผมมาจากตระกูลที่มีต้นทุนต่ำ เพราะฉะนั้นจึงต้อง”วิ่งสู้ฟัด”มาแต่เริ่ม
เรื่องเป็นอย่างนี้ครับ
เมื่อผมจำความได้ตอนสี่ขวบ พ่อกับแม่ยังรับจ้างทำนาอยู่ ส่วนใหญ่ครอบครัวผมอาศัยอยู่กับปู่ย่าและบ้ายยายทวด ไม่เคยมีบ้านอยู่เอง
เลิกนาก็ว่างงาน ไม่มีอะไรจะทำ พ่อจะเข้ามาแจวเรือจ้างระหว่างคลองตันกับประตูน้ำสระปทุม ไม่ได้มีรายได้เป็นหลักเป็นฐานอย่างไร เคยไปทำไร่มันอยู่ที่บางละมุงอยู่พักหนึ่ง ทั้งครอบครัวเจอไข้ป่า ต้องเตลิดกลับคลองสวน กลับมาหาปลาขายเป็นหลัก เพราะสมัยก่อนกุ้ง-ปลายังชุมมาก
ในที่สุดทนสภาพการครองชีพไม่ไหว พ่อก็เลยต้องพาครอบครัวเข้ากรุงเทพ พร้อมกับน้องชายคนที่สอง(เกิดที่บางละมุง)ไปอยู่ที่มหานาค
ผมก็เลยเติบโตมากับปู่และย่าซึ่งมีอาชีพหลักคือทำนา แต่ย่า(ผู้ขยันขันแข็ง)มีอาชีพเสริม เป็นแม่ค้าขายขนมจีน(น้ำพริก- น้ำยา-ซาวน้ำ)ที่ตลาดคลองสวน จนกระทั่งเข้าเรียนในโรงเรียนประชาบาล
พ่อมากรุงเทพ ก็ประกอบอาชีพขี่จักรยานสามล้อรับจ้าง มีรายได้ดีพอสมควรสามารถเลี้ยงครอบครัวได้สบายๆ นานๆ ทีก็ไปเยี่ยมผมที่คลองสวน
ผมอยู่คลองสวน เมื่อเข้าเรียนโรงเรียนประชาบาล ก็เรียนด้านศาสนาอิสลามไปด้วยเพื่อการเป็นมุสลิมที่ดี เมื่อจบ ป.๔ อายุราว ๑๑-๑๒ ผมเข้ากรุงเทพมาเรียนต่อชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนวัดสระเกศนี่เอง
พ่อกับแม่เช่าห้องอยู่ที่กรุงเทพมาแต่แรก ไม่ใช่อยู่ห้องแถว แต่เป็นใต้ถุนบ้าน ซึ่งกั้นเป็นห้องๆ เพียงเพื่อซุกหัวนอน มีครอบครัวอื่นอาศัยอยู่ข้างเคียง แต่ผมก็ไม่เดือดร้อนอะไรมาก เพราะมีที่วิ่งเล่นในบริเวณสุสานอิสลามสี่แยกมหานาค
ความยากลำบากเกิดขึ้นกับครอบครัวผม เมื่อรัฐบาลสั่งเลิกสามล้อรับจ้างในเขตกรุงเทพตั้งแต่ต้นมี ๒๕๐๗ ด้วยเหตุผลที่ว่าทำให้การจราจรติดขัด รัฐบาลพยายามช่วยคนสามล้อ(ส่วนมากเป็นชาวอีสาน)ด้วยการส่งตัวกลับภูมิลำเนา แต่พ่อผมไม่มีภูมิลำเนาจะกลับไปทำมาหากิน เลยต้องทู่ซี้หางานทำต่อในกรุงเทพ ส่งน้องชายสองคนและน้องสาวหนึ่งคนไปให้ปู่ย่าช่วยเลี้ยงดูเพื่อลดภาระ แต่ก็ยังจะมีน้องสาวอีกสามคนเกิดตามมา
ช่วงชีวิตจากนี้ไปสำหรับผมคือการ”วิ่งสู้ฟัด”ตามที่เกริ่นไว้ เพราะครอบครัวเริ่มแตกแยก
พ่อตัดสินใจไปถีบสามล้อต่อที่หาดใหญ่ เพื่อจะส่งเงินกลับบ้าน แม่พาลูกสาวอีกสามคนระเหเร่ร่อนช่วยแม่ค้าขายของที่สนามหลวงบ้างที่ตลาดยอด(ย่านบางลำพู)เพื่อแลกอาหารแต่ละมื้อโดยอาศัยตลาดเป็นที่พำนัก
ผมไปขออาศัยอยู่กับญาติหลายบ้าน ตามแต่เขาจะเมตตาให้ได้กิน ให้ได้นอน
ทีนี้ผมก็ต้องพี่งพาตนเอง ด้วยการหาค่าใช้จ่ายในการเรียนค่าเทอมค่าเสื้อผ้าค่าและค่าสมุดหนังสือ ระหว่างอยู่ชั้น ม.๗ และม.๘ ด้วยการตระเวณขายของ เช่นแป้งน้ำควินนา ยาทากันยุงสกีโทลีนและธูปเทียน ไปตามสถานที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพ ซึ่งแทบไม่มีย่านไหนที่ผมไม่รู้จัก
การเดินตระเวณขายของตามบ้าน ทำให้ได้เรียนรู้ชีวิตและเรียนรู้มาตรฐานจิตใจของคนกรุงเทพบางส่วนได้ในระดับหนึ่ง
ผมเคยบังเอิญเข้าไปในบ้านซึ่งมองผาดๆ ไม่รู้ว่าเป็นซ่องโสเภณี เห็นมีหญิงสาวเยอะแยะ ปราฏว่าขายดีครับ วันนั้น
มีพี่ผู้หญิงคนหนึ่งเย้าผมว่า “มาอยู่กับพี่ไหมล่ะ ไม่ต้องเดินขายของ”
เล่นเอาผมอายม้วนต้วนไปเลย
วันหนึ่ง เจอเจ้าของบ้านปล่อยหมาไล่กัด ผมต้องโกยอ้าวหนีสุดฤทธิ์
ที่จริงปฏิเสธผมดีๆ ก็ได้ แต่นี่ไม่ไว้หน้า ให้เกียรติกันเลย ทั้งที่ผมแต่งตัวนักเรียนเรียบร้อย
วันนั้นผมยืนน้ำตาไหล ก่อนจะไปต่อด้วยความคับแค้น พยายามปล่อยวาง
เมื่อได้เงินมา ส่วนหนึ่งผมซื้อปลาทูและข้าวสารเพื่อนำไปเลี้ยงครอบครัว อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้ กลางวันบางทีไม่มีอะไรตกท้องนอกจากน้ำ กินอาหารเย็นเพียงมื้อเดียว
ด้วยภาวะเช่นนี้ ในที่สุดพ่อต้องเดินทางกลับมาจากหาดใหญ่ในสภาพที่ไม่มีเงินติดตัวมาเลย แต่อาศัยหลบขึ้นขบวนรถสินค้ามาลงที่หัวลำโพง แล้วกลับมารวมตัวกัน ในห้องเช่าใต้ถุน พื้นที่อาศัยติดดิน ที่บ้านญาติฝ่ายแม่ที่”เจริญผล”หลังวัดช่างแสง
สภาพที่อยู่ซึ่งอุดอู้และชื้นอับ ทำให้ต่อมา ผมเป็นโรคไขข้อเรื้อรังอยู่พักหนึ่ง ต่อมาหายจากโรคนี้เพราะความเมตตาของแพทย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งรักษาให้ผมต่อเนื่อง
ธรรมศาสตร์นั้นก็มีบุญคุญต่อผมนัก
ช่วงม.๗, ม.๘ ครูบางท่านเกิดไปรู้เรื่องความลำบากของผมเข้า จากใครก็ไม่รู้ได้ พยายามหาทางช่วยเหลือ ด้วยการยกเว้นค่าเทอมและหาทุนให้ ครูบางคนสู้อุตส่าห์ ไปขอให้กรมประชาสงเคราะห์ช่วยทางด้านการเงิน ซึ่งก็ได้มา เป็นครั้งคราว
อย่างไรก็ตามทางด้านการเรียนผมไม่เคยบกพร่อง ไม่เคยขาดเรียนแม้แต่วันเดียวนอกจากป่วย แถมขยันเป็นพิเศษในการทบทวนบทเรียน คิดในใจว่าสักวันหนึ่งจะต้องรายได้ มีบ้านเองให้ได้และ จะต้องมีอาหารกินสามมื้อ
ช่วงอยู่โรงเรียน ผมไม่เคยกินอาหารระหว่างพัก แต่ใช้เวลาที่ว่านั้นเข้าห้องสมุดที่เรือนหลังเตี้ย ผมตะลุยอ่านหนังสือเกือบจะทุกเล่มในห้องสมุด อ่านดะตั้งแต่ ขุนช้างขุนแผน, รามเกียรติ์, สามก๊ก,นิราสภูเขาทอง, เกิดวังปารุสก์, หนังสือชุดของหลวงวิจิตรวาทการ หลายเล่ม ซึ่งช่วยเปิดโลกกว้างให้ผม ในความรู้หลายสาขา
แม้แต่นิยายต่างๆก็อ่านแทบจะทุกเล่ม
แต่ที่ประทับใจผมมากที่สุดก็คือ “ละครแห่งชีวิต”เขียนโดยหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ว่าด้วยชีวิตของนักข่าวไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ
งานเขียนกึ่งจริงกึ่งนิยายของท่านเล่มนี้ ทำให้ผมเกิดแรงบรรดาลใจอย่างแรงกล้า มุ่งมาดปรารถนา ที่จะเป็นนักข่าวในเวลาต่อมา
ผมเห็นจะต้องจบเรื่องนี้ (เพราะเขียนมามากแล้ว อาจน่าเบื่อ)ตรงที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ในปี ๒๕๐๗ แต่ไม่มีเงินสักแดงเดียวจะๆไปซื้อเครื่องแบบนักศึกษา หรือซื้อตำรับตำรา ซึ่งไม่รู้ว่าจะสักเท่าไร
ตอนที่ไปรายงานตัวเข้าเรียน ก็ในชุดนักเรียนที่มีอยู่ชุดดียว (ซักเย็น-เช้ารีด)
ความที่ไม่รู้ว่าจะไปหาเงินที่ไหน ผมทำยังไงรู้ไหม
ผมไปขอยืมครูวัดสระเกศที่ผมคุ้นเคย มาท่านละร้อยบาทรวมเป็นแปดร้อยบาทยังขาดอีกสองร้อยบาทไปยืมอาจารย์ใหญ่(สุวัฒน์ กาญจนวสิต) บอกกับทุกท่านว่า จะนำมาคืนและก็คืนได้ทุกท่าน
แต่ท่านอาจารย์ สุวัฒน์ กาญจนวสิต ท่านยกให้ ไม่รับคืน ผมก็ได้แต่ขอบพระคุณและไหว้ท่านอย่างนอบน้อม ด้วยความสำนึกในบุญคุญยิ่ง
นี่ครับ โรงเรียนวัดสระเกศที่ผมได้ร่ำเรียนมา ไม่ได้ให้ผมแค่ความรู้อย่างเดียว แต่ได้ให้ความเมตตา และความมีมนุษธรรม ซึ่งช่วยกล่อมเกลาให้ผมประพฤติตนเป็นคนดี มีประโยชน์ต่อสังคมในเวลาต่อมา จนกระทั่งได้รางวัล”นราธิปพงศ์ประพันธ์”
เรื่องราวของผมยังมีอีกเยอะในการ”วิ่งสู้ฟัด”กว่าจบธรรมศาสตร์ กว่าจะเข้าทำงาน”สยามรัฐ”และกว่าจะสอบได้ทุนของ World Press Institute ไปฝึกฝนวิชาชีพเพิ่มเติมในสหรัฐอเมริกา
หากมีโอกาส จะเขียนมาให้อ่านอีกครับ