“กลุ่มสร้างไทย” ร่อนแถลงการณ์ ร่วมกัน แก้รธน.ผ่าทางตัน ประเทศไทย

“สุดารัตน์ เกยุราพันธ์” ในฐานะ หน.กลุ่มสร้างไทย ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกัน ผ่าทางตันของประเทศ เพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังรัฐสภามีมติผ่าาน วาระ2 ลุ้นผ่านวาระ3 17-18 มี.ค.62

จากการที่ภาคประชาชน ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลเห็นพ้องร่วมกันว่า สมควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เป็นองค์กรยกร่างนั้น ในที่สุดได้มีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาโดยให้มี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจำนวน 200 คน เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบในวาระที่ 1 แต่มติเสียงข้างมากของรัฐสภา โดยสมาชิกวุฒิสภาเกือบทั้งหมดและ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กลับขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ล่าสุดรัฐสภาลงมติเมื่อ 24 – 25 กุมภาพันธ์ 2564 ผ่านวาระที่ 2 คงเหลือเพียงวาระที่ 3 ต้องรอไว้ 15 วัน

กลุ่มสร้างไทย ซึ่งนำโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ระบุว่า การที่รัฐสภา โดยเสียงข้างมากขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยประเด็นข้างต้นเป็นเรื่องแปลกประหลาดและส่อให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการสมคบคิดเพื่อทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. เป็นไปไม่ได้ ยิ่งศาลรัฐธรรมนูญขอความเห็นจากบุคคล 4 คน คือ นายมีชัย​ ฤชุพันธุ์, นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ , นายสมคิด เลิศไพฑูรย์​ และ นายอุดม รัฐอมฤต ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า มีจุดยืนข้างฝ่ายประชาธิปไตยหรือไม่ ยิ่งทำให้เกิดความกังวลมากขึ้น

การที่รัฐสภาลงมติในวาระที่ 1 และวาระที่ 2 ไปแล้วย่อมแสดงให้เห็นว่ารัฐสภา มั่นใจว่ามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยใช้ระบบ สสร. ซึ่งถ้าทุกอย่างเป็นไปตามปกติเมื่อผ่านวาระที่ 3 จะมีการเปิดประชุมรัฐสภาวันที่ 17 – 18 มีนาคม 2564 ) จะไปสู่การทำประชามติ หากผ่านประชามติจะมีการเลือก สสร. 200 คนโดยประชาชน เมื่อ สสร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จจะต้องทำประชามติอีกครั้ง ถ้าผ่านจึงทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงทรงพระปรมาภิไธย

และจะมีการเลือกตั้งกันตามรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งถือเป็นฉบับประชาชนอย่างแท้จริงและจะเป็นฉบับแรกของประเทศไทยที่ประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐจะธรรมนูญขึ้นในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย จึงไม่มีเหตุผลและความเหมาะสมใดเลยที่จะสมคบคิดกันหยุดยั้งการดำเนินการเช่นนี้ นอกจากต้องการจะปกป้องระบบเผด็จการอำนาจนิยมที่เกิดจากการรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ จึงควรที่จะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้เสร็จสิ้นก่อนการลงมติในวาระที่ 3 และถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัย ก็จะทำให้ระบบรัฐสภาแข็งแรงขึ้น เพราะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะแก้ไขเป็นรายมาตรา หลายมาตราหรือจัดทำใหม่ทั้งฉบับภายใต้ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญเองเป็นอำนาจโดยเฉพาะของรัฐสภา หรือมิเช่นนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็ควรจะยืนยันว่าเป็นอำนาจของรัฐสภา

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจ ก่อนการลงมติวาระที่ 3 ฝ่ายค้านก็ต้องคิดให้ดีว่าจะผ่านร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่มี สสร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยก่อนการลงมติดังกล่าว ฝ่ายค้านก็ควรหาวิธีการไม่ให้มีการลงมติจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจทำได้หรือไม่ หากฝ่ายค้านลงมติเห็นชอบ วาระที่ 3 โดยยังไม่มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าส่วนที่เกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. นั้นใช้ไม่ได้เพราะรัฐสภาไม่มีอำนาจ ก็จะทำให้รัฐบาลโดยความร่วมมือกับ สว.สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ทุกประเด็นเว้นแต่จะไม่ผ่านประชามติ

กลุ่มสร้างไทยจึงขอวิงวอนทุกฝ่ายได้ร่วมมือกัน ผ่าทางตันของประเทศเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่แท้จริง อย่าเอาแพ้ชนะกันในสิ่งที่ในที่สุดแล้วไม่มีใครชนะแต่ทุกคนและประเทศแพ้หมด