ดร.วินัย ดะห์ลัน แจงกลุ่มพุทธฯฟ้องศาลปกครองยกเลิกฮาลาลเข้าใจผิด ระบุสร้างมูลค่าหลายแสนล้าน

ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองประธานคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท.) โพสต์ข้อความระบุว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2560 มีคนกลุ่มหนึ่งฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้บังคับจุฬาราชมนตรีและคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยให้ยกเลิกตราฮาลาลจากสินค้าทั่วราชอาณาจักรภายในสามเดือน พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายตลอดระยะเวลาที่มีการติดตราฮาลาล พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี คำฟ้องเป็นไปในทำนองว่าการติดตราฮาลาลถูกบังคับใช้กับสินค้าทั้งหลายอย่างผิดกฎหมาย ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เป็นอย่างไร

การรับรองสินค้าว่า “ฮาลาล” สามารถให้ผู้บริโภคมุสลิมเกิดความเชื่อมั่นในตัวสินค้าเกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.2492 แล้ว ครั้งนั้นผู้ประกอบการส่งออกเนื้อไก่ไปยังประเทศในตะวันออกกลางเกิดปัญหาไม่สามารถส่งออกได้เนื่องจากประเทศปลายทางไม่ยอมรับว่าไก่จากประเทศไทยถูกเชือดอย่างถูกต้อง บริโภคแล้วอาจเป็นบาป เป็นความเชื่อทางศาสนาสำหรับประชากรมุสลิมที่มีอยู่ทั่วโลกนับถึงวันนี้ไม่น้อยกว่า 1,800 ล้านคน เมื่อผู้ซื้อไม่มั่นใจ ผู้ขายอย่างผู้ประกอบการในเมืองไทยจำเป็นต้องหาทางสร้างความเชื่อมั่น ไม่อย่างนั้นขายไม่ได้ การขอการรับรองตราฮาลาลจึงเกิดขึ้นในประเทศไทยนับแต่นั้น

การรับรองฮาลาลในอดีตทำโดยสำนักจุฬาราชมนตรี จนกระทั่งปลาย พ.ศ.2542 จึงโอนไปที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เป็นไปตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ที่ให้อำนาจไว้ว่าการดำเนินงานในกิจการศาสนาอิสลามให้เป็นอำนาจขององค์กรอิสลามเหล่านั้น ประโยชน์ที่ได้จากการรับรองฮาลาลจึงเกิดกับผู้ประกอบการซึ่งส่วนใหญ่มิใช่มุสลิม

ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไปยังประเทศมุสลิม 57 ประเทศมีมูลค่า 347 ล้านเหรียญสหรัฐใน พ.ศ.2544 เมื่อถึง พ.ศ.2558 ผ่านไป 14 ปี มูลค่าการส่งออกพุ่งไปอยู่ที่ 6,100 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 17.6 เท่า เป็นการเติบโตมากที่สุดในบรรดาการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทั้งหมด ประโยชน์ที่ได้จากประเทศมุสลิมเหล่านั้นไหลมาสู่ผู้ประกอบการไทยโดยตรงและรัฐบาลไทยโดยอ้อมในรูปภาษีแต่ละปีมีจำนวนมหาศาล ทั้งนี้โดยไม่นับการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลไปยังประเทศที่มิใช่มุสลิมที่มีอยู่อีกมหาศาล เมื่อการส่งออกสะดุดลงจากปัญหาเศรษฐกิจซบเซาทั่วโลก การส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลกลับเติบโตสวนกระแส ประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากฮาลาลมีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ที่กลายไปเป็นรายได้ขององค์กรศาสนาอิสลามซึ่งทำหน้าที่ให้การรับรองฮาลาลอันเนื่องมาจากผู้ประกอบการมาขอรับบริการไม่ใช่การบังคับให้มาขอ เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจกันหน่อย

การร้องต่อศาลปกครองครั้งนี้จะด้วยเจตนาอะไรก็ตามที โดยอาจไม่เข้าใจความสำคัญของการรับรองฮาลาลต่อการสร้างเศรษฐกิจของประเทศ อาจไม่ทราบว่าผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของฮาลาลตกอยู่กับคนส่วนใหญ่ที่มิใช่มุสลิม อย่างไรก็ตาม ควรรับรู้ว่าการลดความเชื่อถือเรื่องตราสัญลักษณ์ฮาลาลนั้นผู้เสียประโยชน์โดยตรงคือประเทศไทย และประชาชนไทย หากไม่ให้องค์กรศาสนาอิสลามในประเทศไทยรับรองฮาลาลก็ต้องให้องค์กรจากต่างประเทศเข้ามารับรองอยู่ดี ไม่อย่างนั้นก็ส่งออกไม่ได้ หรือเจตนาคืออย่างนั้น

กลุ่มชาวพุทธฯที่ไปยื่นฟ้องสาลปกครอง