วันนี้ (10 มี.ค.) กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน นำโดยนายจรูญ วรรณกสิณานนท์ เข้ายื่นฟ้อง จุฬาราชมนตรี และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รวม 16 คน ต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้มีคำสั่งว่าตราสัญลักษณ์ฮาลาลเป็นสิ่งผิดกฎหมายพร้อมเพิกถอนตราสัญลักษณ์ฮาลาลออกจากสินค้าทั้งหมดทั่วราชอาณาจักร โดยให้เก็บคืนสินค้าดังกล่าวออกจากตลาดทั้งหมดภายใน 3 เดือน และชดใช้ค่าเสียหาย แก่ผู้ผลิตสินค้า ผู้ประกอบการ หรือผู้บริโภค ที่ได้รับความเสียหายจากการเรียกเก็บเงินของผู้ถูกฟ้องคดีตลอดระยะเวลาที่กระทำความผิดพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี
นายจรูญกล่าวว่า จุฬาราชมนตรี และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นผู้ที่ออกมาระเบียบขึ้นมาเพื่อเรียกเก็บเงินค่าตราฮาลาลจากผู้ที่ผลิตสินค้ามากว่า 20 ปีแล้ว ทั้งที่ไม่มีอำนาจ หรือมีกฎหมายกำหนดให้ทำ ช่วงที่ผ่านมาคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.เรื่องตราฮาลาลไว้ ที่ สนช. แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่ออกมาบังคับใช้ ผู้ผลิตสินค้า ถูกจับกุม ถูกเรียกค่าเสียหายจากการไม่ติดตราฮาลาล ตั้งแต่หลักหลายหมื่นบาท ไปถึงหลักหลายล้านบาท ซึ่งการกระทำดังกล่าวได้มีคำวินิจฉัยจากผู้ตรวจการแผ่นดิน สภาความมั่นคงแห่งชาติ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วินิจฉัยเหมือนกันว่าไม่มีกฎหมายให้ทำเช่นนั้นได้ โดยผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องเอาผิดทั้งทางปกครองและทางแพ่งได้ ทางกลุ่มจึงเห็นว่าการที่สินค้าต้องติดตราฮาลาลเป็นภัยต่อประชาชน เพราะผู้บริโภคก็ต้องซื้อสินค้าในราคาแพงขึ้นเนื่องจากผู้ผลิต ต้องบวกค่าตราฮาลาลเข้าไปในราคาสินค้า ขณะที่เงินจำนวนมหาศาลที่คณะกรรมการกลางอิสลามเรียกเก็บไปได้นั้นก็ไม่ได้นำเข้าเป็นรายได้ของแผ่นดิน แต่อาจนำไปใช้ในสิ่งที่จะกลับมาเป็นภัยต่อประชาชน การกระทำดังกล่าวจึงอาจเข้าข่ายเป็นอาชญกรทางเศรษฐกิจเป็นภัยต่อความมั่นคง
นาจรูญยืนยันว่า ในประเทศมุสลิมทั่วโลก หรือในกลุ่มประเทศอาหรับก็ไม่ได้มีการบังคับใช้สัญลักษณ์ฮาลาล แต่หลังจากที่ประเทศไทยทำตราฮาลาลขึ้นมาเก็บเงิน ประเทศมาเลเซียที่เริ่มดำเนินการบ้าง และตอนนี้ก็มีเวิลด์ฮาลาลขึ้นมาอีก การกระทำทั้งหมดไม่ใช่เพื่อการบริโภคที่ถูกต้องตามหลักอิสลามจริงๆ มีการแอบแฝงข้อบังคับต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับคำสอนเข้ามาเยอะมาก จริงๆ หลักคำสอนมีเพียงห้ามสุกร สุนัข เลือดสัตว์ตายเอง สัตว์ที่ฆ่าโดยไม่เอ่ยนามพระเจ้าเท่านั้น แต่ตราฮาลาลที่ใช้ในปัจจุบันกลับบังคับกับทั้งอาหารทุกประเภท ผลิตภัณฑ์ยาทุกชนิด เครื่องสำอาง ไม่เว้นแม้แต่พืช ผัก น้ำมันเครื่องก็ถูกรวมเข้าไปด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ความขัดแย้งระหว่างศาสนา เพราะคนอิสลามเป็นผู้ผลิตสินค้าก็ถูกเอาเปรียบ จึงเป็นเรื่องการนำคำสอนของศาสนามาหาผลประโยชน์เท่านั้น