ศาลปกครองสูงสุด เพิกถอน!! คำสั่งปลด “คุณหญิงณัษฐนนท” พ้นปลัด กทม.

ศาลปกครองสูงสุด มีคำวินิจฉัยให้ แก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น พร้อมเพิกถอนคำสั่ง ผู้ว่าฯกทม.ที่ สั่งปลด “คุณหญิงณัษฐนนท์ ทวีสิน” พ้นตำแหน่ง ปลัด กทม.

วันที่ 23 ก.พ.64 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา แก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้เพิกถอนคำสั่งของ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 5313/2551 ลงวันที่ 29 ธ.ค.2551 ที่ให้ลงโทษปลด คุณหญิงณัษฐนนท ทวีสิน (ผู้ฟ้องคดี) กรณีก่อให้เกิดความเสียหายจากการทุจริตการจัดซื้อรถ และ เรือดับเพลิง รวมถึงอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย จากบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จํากัด ประเทศออสเตรีย เมื่อปี 2547 ออกจากราชการ และ เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี โดยให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่มีคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าว ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า คณะกรรมการป้องกัน​และ​ปราบปราม​การ​ทุจริต​แห่งชาติ​ (ป.ป.ช.)​ ได้มีหนังสือแจ้งมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้กรุงเทพมหานคร ทราบว่า ในกรณีของผู้ฟ้องคดีนั้น เป็นกรณีที่มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ซึ่ง คณะอนุกรรมการสามัญประจำกรุงเทพมหานคร (อ.ก.ก.) สามัญในการประชุม ครั้งที่ 6/2551 เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2551 ได้มีมติให้ปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มีคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 5313/2551 ลงวันที่ 29 ธ.ค. 2551 ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2549 ซึ่งเป็นวันสิ้นปีงบประมาณ ที่ผู้ฟ้องคดีได้พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการเป็นต้นไป อันเป็นการลงโทษผู้ฟ้องคดีในความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

โดยมิได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ขึ้นทำการสอบสวนทางวินัย ตามมาตรา 102 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหนังสือแจ้งให้กรุงเทพมหานครลงโทษผู้ฟ้องคดี อันมิใช่ในความผิดทางวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ หนังสือฉบับดังกล่าวของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเป็นเพียงการชี้มูลความผิดทางวินัย นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรุงเทพมหานคร จึงไม่อาจถือเอารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้

เมื่อมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ตามนัยมาตรา 102 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 การที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกคำสั่งกรุงเทพมหานคร ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการในความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 84 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ดังกล่าว

จึงเป็นการกระทำโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือ วิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น คำสั่งลงโทษทางวินัยแก่ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน