ย้อนรอยบาป ตำนาน”กรือเซะ-ตากใบ” กับท่าที ทักษิณ “เสียใจ จำไม่ค่อยได้”

กลายเป็นคำตอบสั้นๆ จาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ใช้ชื่อ Tony Woodsame ร่วมสนทนาทางแอพพ์ Clubhouse ในห้อง ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองกันตรงเน้ ทว่า กลับเสียดแทงใจใครหลายคน เนื่องจากประโยคดังกล่าวอยู่ในคำตอบของคำถามซึ่งเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี

“ทักษิณ” ตอบคำถามเต็มๆ เพียงว่า “รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ตอนนั้นอยู่ในการควบคุมทหาร ผมก็ได้รับรายงาน ก็เสียใจ จำไม่ค่อยได้ เสียใจ” ขณะที่ โลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงในทันที พร้อมระบุว่า เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ-ตากใบ ได้เป็นประเด็น “อ่อนไหว” ที่อดีตนายกฯอึกอักที่จะตอบอย่างชัดเจน

เกิดอะไรขึ้นในตากใบ? 25 ตุลาคม 2547 เกิดเหตุการณ์ สลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ การชุมนุมครั้งนั้นเกิดจากคนจำนวนนับพันเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จำนวน 6 คน ที่ถูกทางการตั้งข้อหา พร้อมคุมขังระหว่างการสวบสวนนานกว่าสัปดาห์ เนื่องจากสงสัยว่ามีการพัวพันกับอาวุธปืนที่หายไป แต่ชาวบ้านเชื่อว่าคนเหล่านั้นไม่ผิด

การชุมนุมจึงดำเนินต่อไป กระทั่งการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายไม่ได้รับข้อสรุป เกิดการขว้างปาสิ่งของ และผู้ชุมนุมพยายามจะเข้าไปภายใน สภ.อ.ตากใบ เพื่อเจรจาอีกครั้ง ต่อมา แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้นมีคำสั่งสลายการชุมนุม เริ่มจากการฉีดน้ำใส่ฝูงชน ใช้แก๊สน้ำตา และยิงตอบโต้นาน 30 นาที

การสลายชุมนุมครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 85 คน สูญหาย 7 คน และบาดเจ็บมากกว่า 1,000 คน นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของชาวปาตานี หรือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ตั้งกรรมการสอบฯ กรณีผู้เสียชีวิตเหตุการณ์ตากใบ 2 พฤศจิกายน 2547 หลังเหตุการณ์ราว 1 สัปดาห์ มี คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 335/2547 แต่งตั้ง คณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ปรากฏข้อมูลเผยแพร่ใน ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ในตอนหนึ่งระบุว่า

“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้เริ่มก่อเหตุการณ์คือกลุ่มแกนนำบางคนที่ต้องการให้สถานการณ์ยืดเยื้อ เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นฝ่ายเข้าไปดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ละคนได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนภายใต้ข้อจำกัดหลายประการ ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อบกพร่องไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ไม่มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดการเสียชีวิต บาดเจ็บ

“อนึ่ง ในเหตุการณ์นี้มีข้อสังเกตว่าข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่หลายท่านได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเสียสละ กล้าหาญ จึงต้องนำเหตุการณ์นี้มาศึกษาเสนอแนะเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายเช่นนี้ขึ้นอีก และการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมจำนวนมากระหว่างการเคลื่อนย้ายจาก สภ.อ.ตากใบ มายังค่ายอิงคยุทธบริหารนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดถึงและไม่มีเจตนาที่จะให้เกิดเหตุการณ์ที่เศร้าสลดเช่นนี้”

25 ตุลาคม 2563 อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 16 ปีตากใบ ทางเฟซบุ๊กส่วนตัวตอนหนึ่งว่า 16 ปีตากใบไร้ซึ่งความยุติธรรม : เมื่อเรื่องเล่าและความทรงจำคือการทวงถามถึงความยุติธรรม “16 ปีผ่านไป แต่ภาพของการสลายการชุมนุมของประชาชนบริเวณหน้า สถานีตำรวจภูธร อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ยังคงติดตาของผู้คนจำนวนมาก ภาพของชายชาวมลายูมุสลิมที่ถูกมัดมือไพล่หลัง ถูกบังคับให้ต้องคลานไปกับพื้นดินที่ร้อนระอุ ขณะที่พวกเขากำลังอยู่ในช่วงถือศีลอด ภาพการขนย้ายประชาชนโดยให้นอนทับซ้อนกัน 4-5 ชั้น บนรถบรรทุกของทหารที่มีผ้าใบคลุมปิดทับ และมีเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธควบคุมอยู่ท้ายรถโดยไม่ฟังเสียงร้องคร่ำครวญของคนที่ถูกกดทับที่อยู่ชั้นล่างของรถ จนหลายคนเสียชีวิตก่อนถึงจุดหมายปลายทาง

“ข้อมูลรายงานคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบ ระบุตัวเลขผู้ได้รับความเสียหาย โดยมีผู้เสียชีวิตด้วยกระสุนปืนระหว่างการสลายการชุมนุม 7 ราย มีผู้ถูกควบคุมตัวไปสอบสวน 1,370 คน มีผู้เสียชีวิตบนรถระหว่างการเคลื่อนย้าย 78 คน มีผู้สูญหาย 7 คน นอกจากนั้นยังมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมากซึ่งหลายคนกลายเป็นผู้พิการในเวลาต่อมา

“รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีตากใบ ยังได้ระบุสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนทั้ง 85 คน ความบางตอนว่า คณะกรรมการเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นต้องถือว่าผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องขาดการใช้วิจารณญาณเป็นอย่างมาก ละเลยไม่ดูแลการลำเลียงและเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมตัวให้แล้วเสร็จ แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารระดับชั้นผู้น้อยที่มีข้อจำกัดด้านประสบการณ์ และมุ่งเพียงปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงไปเท่านั้นโดยกไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่นประกอบ เนื่องจากเจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนจึงไม่อาจคาดได้ว่าจะเกิดการตายเช่นนี้”

“เมื่อพิจารณาถึงวิธีการสลายการชุมนุมที่ใช้กำลังติดอาวุธ ใช้กระสุนจริง โดยเฉพาะใช้กำลังทหารเกณฑ์และทหารพรานซึ่งมีวุฒิภาวะไม่สูงพอเข้าร่วมในการสลายการชุมนุมนั้น คณะกรรมการอิสระเห็นว่าเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามแบบแผนและวิธีปฏิบัติที่ใช้กันตามหลักสากล”

“…..ในโอกาสครบ 16 ปี เหตุการณ์ตากใบ ดิฉันเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องทบทวนระบบยุติธรรมกรณีเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง (atrocity crime) เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้อีก และเพื่อคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อและครอบครัว…”

หนุนชำระประวัติศาตร์ ‘กรือเซะ-ตากใบ’ และในวันนี้ (23 กุมภาพันธ์) อังคณา นีละไพจิตร เคลื่อนไหวอีกครั้ง “อังคณา” ในฐานะภรรยา สมชาย นีละไพจิตร นักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนมุสลิมชาวไทยที่ “หายตัวไป” ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2547 ช่วงการปกครองของทักษิณ ชินวัตร กล่าวบางช่วงบางตอนทางเฟซบุ๊กว่า

“ตามที่คุณหมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ได้กล่าวไว้เมื่อคืน และยังแนะนำให้บันทึกประวัติศาสตร์ ซึ่งจะเป็นการเปิดเผยความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น และจะได้นำผู้กระทำผิดมาลงโทษ และคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อ เสียดายที่คดีกรือเซะ ตากใบ อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากให้เหตุผลว่า ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิต และญาติเองซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ ก็คงไม่มีเรี่ยวแรงพอจะลุกขึ้นมาฟ้องหน่วยงานความมั่นคง

“ปีนี้ กรณีกรือเซะตากใบครบ 17 ปี จึงมีอายุความเหลืออีกเพียง 3 ปีในการเข้าถึงสิทธิในความยุติธรรม ในขณะที่การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องที่ไม่มีอายุความตามกฎหมายสากล แต่กรณีการบังคับสูญหายหลายคดี รวมถึงคดีสมชาย นีละไพจิตร ที่เป็นคดีพิเศษ ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็มีคำสั่งงดการสอบสวนด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าใครเป็นผู้กระทำผิด ขณะเดียวกัน รัฐบาลชุดนี้ก็มีความพยายามอย่างมากในการลบชื่อบุคคลสูญหายในประเทศไทยจากรายชื่อคนหายของสหประชาชาติ เพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยไม่มีคนหาย

“17 ปีที่ผ่านมา จึงไร้ซึ่งความยุติธรรม และการเปิดเผยความจริง เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคุณหมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่สังคมไทยควรชำระประวัติศาสตร์บาดแผลต่างๆ เสียที ทั้ง 6 ตุลา พฤษภา 35 กรือเซะ ตากใบ “เพื่อไม่ต้องให้เด็กรุ่นใหม่ต้องย้อนกลับไปหาข้อมูลใน Google เพื่อศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้น เรื่องนี้คงต้องฝากคำถามถึงนายกฯประยุทธ์และรองฯประวิตรว่ากล้าไหม”