รมว.สาธารณสุข เปิดสถาบันกัญชาฯ วางเป้าประสาน10 ทิศ ผลักดันโยบาย ใช้ทางการแพทย์ และเพื่อเศรษฐกิจ เผย ผู้ประกอบการตื่นตัว แห่ขอใบอนุญาตใช้กัญชาล้นหลาม
21 ก.พ.64 ที่ กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข นำคณะผู้บริหาร เยี่ยมชม งานแสดงการดำเนินงาน และมอบยโยบาย แผนงานกัญชา กัญชงเสรีทางการแพทย์ ประจำปีงบประมาณ 2564 โดย กระทรวงสาธารณสุข ทำงานหนักมากเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการปลูก การใช้ และ การนำกัญชง กัญชามาทำประโยชน์ ทั้งบริการการแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์ทางเลือก แพทย์แผนไทย สามารถใช้รักษาผู้ป่วยจนได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการผลักดันนโยบาย คิดว่าในอนาคตกัญชาจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจ วันนี้ใบอนุญาตการนำกัญชามาใช้ มีการขอเข้ามาอย่างล้นหลามสะท้อนว่าประชาชนเริ่มตื่นตัวแล้ว
แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ การนำไปใช้ ขอให้ใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่านำไปใช้นอกลู่นอกทาง การจะคลายล็อกกัญชาได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่อยากให้กัญชากลับไปมีภาพลักษณ์เสียหายเช่นในอดีต สำหรับประชาชนสามารถปลูกกัญชาได้ ด้วยการรวมตัวกันเป็นรัฐวิสาหกิจชุมชน ทำสัญญากับ รพ. สต แล้วทำทุกอย่างให้ถูกต้อง สำหรับสถาบันกัญชานั้นเป็นหน่วยงานประสานหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดการอำนวยความสะดวกในการนำกัญชามาใช้ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางเพื่อให้สถาบันกัญชามีบทบาทในการเชื่อมต่อกับทุกหน่วยงานได้อย่างคล่องตัว
ทั้งนี้ตนได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งออกใบอนุญาตการใช้กัญชาแก่ประชาชนและภาคเอกชน ขอย้ำว่านี่คือนโยบายของรัฐ ที่จะสนับสนุนให้กัญชาและกัญชงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจเป็นทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาปากท้องให้กับพี่น้องคนไทย ก่อนหน้านี้มีการให้ข่าวโจมตีว่าการบริโภคกัญชาแล้วเกิด Side effect ขอย้ำว่า ตามปกติ เมื่อบริโภคน้ำตาลมากๆ หรือ บริโภคเกลือมากๆ ย่อมมีผลกระทบต่อร่างกาย สำหรับกัญชาก็ใช้หลักการเดียวกัน ทุกอย่างต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม
ปัจจุบันมีผู้ป่วยได้รับยากัญชาทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทยกว่า 50 ราย จากสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ปลูกกัญชาร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 300 กลุ่มเพื่อนำผลผลิตที่ได้มาผลิตเป็นน้ำมันกัญชาและส่วนผสมของยากัญชาแผนไทยเพื่อรักษาในกลุ่มโรคต่างๆ อาทิ โรคลมชัก โรคประสาทเสื่อมแข็งที่มีภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง โรคมะเร็ง นอนไม่หลับ ปวดเรื้อรัง เป็นต้น