ศาลปกครอง ปัดงัดข้อวุฒิสภา แจงเห็นต่างปมเสนอ ‘รัชนันท์ ธนานันท์’ นั่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ยัน คณะกก.ตุลาการศาลปกครอง กับ วุฒิสภา ต่างคนต่างมีหน้าที่
วันที่ 22 ก.พ.64 ศาลปกครองกลาง นัดไต่สวนคดีที่ นายรัชนันท์ ธนานันท์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ยื่นฟ้องวุฒิสภาและสมาชิกวุฒิสภา กรณีมีมติในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 15 วันที่ 19 ม.ค. 2564 ไม่ให้ความเห็นชอบให้นายรัชนันท์ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด เป็นเหตุได้รับความเดือดร้อนเสียหาย โดย ภายหลังการไต่สวน นายรัชนันท์ ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ ระบุว่า ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล
นายประวิตร บุญเทียม โฆษกศาลปกครอง เปิดเผยว่า ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนวันนี้ เป็นการไต่สวนก่อนการรับฟ้อง หลังจากนี้ ต้องรอฟังว่า ศาลจะรับคำฟ้องหรือไม่ หากรับฟ้องจะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างไร
ส่วนกรณีที่ประชุมวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ นายรัชนันท์ เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด ตามที่ศาลปกครองเสนอนั้น เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ศาลปกครองยืนยันรายชื่อได้ และกรณี คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(ก.ศป.) ส่งชื่อนายรัชนันท์ให้วุฒิสภาพิจารณา เป็นไปตามขั้นตอน ส่วน ส.ว จะพิจารณาอย่างไร เป็นอำนาจของวุฒิสภา
การที่ ก.ศป. ส่งชื่อนายรัชนันท์ ไปอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากได้มีการเปิดรับสมัครบุคคลภายนอกรอบใหม่ ซึ่งนายรัชนันท์ มาสมัครใหม่ และเป็นผู้ที่มีประวัติและผลงานผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนด และ ก.ศป.ได้พิจารณาข้อมูลต่างๆกรณีที่นายรัชนันท์ไม่ผ่านความเห็นชอบจาก ส.ว มาครั้งหนึ่งด้วยแล้ว ละยังเห็นว่า นายรัชนันท์เป็นผู้เหมาะสม จึงได้เสนอชื่อไปที่วุฒิสภาอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีตำแหน่งที่จะรับบุคคลภายนอก และเมื่อเปิดรับสมัครบุคคลภายนอกเพื่อคัดเลือกเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดรอบใหม่ นายรัชนันท์ ก็ยังมีสิทธิที่จะสมัครใหม่ หากมีคุณสมบัติครบถ้วน ส่วนจะผ่านการคัดเลือกหรือไม่จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ก.ศป.ต่อไป
เมื่อถามว่า การที่ ก.ศป.เสนอชื่อนายรัชนันท์ เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดรอบสองนั้น จะทำให้ถูกมองว่าเป็นการ งัดข้อกับวุฒิสภาหรือไม่ โฆษกศาลปกครอง กล่าวว่า เป็นเรื่องต่างคนต่างทำตามอำนาจหน้าที่ ก.ศป. ก็ใช้เกณฑ์ตามกฎหมายกำหนด วุฒิสภาก็มีเกณฑ์ของท่าน เรียกว่า เห็นไม่ตรงกันดีกว่า
ผู้สื่อข่าวรายงาน การที่วุฒิสภา มีมติไม่เห็นชอบให้ นายรัชนันท์ ธนานนันท์ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครอง เนื่องจากเห็นว่า นายรัชนันท์ มีความใกล้ชิดกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเมื่อครั้ง นายทักษิณ เดินทางไป กรุงเฮลซิงกิ นายรัชนันท์ ขณะนั้นทำหน้าที่เอกอัครราชทูตไทย ได้ให้การต้อนรับอย่างใกล้ชิด จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ วุฒิสภา ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้งของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมหัวกันตีตก นายรัชนันท์