นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ นำไปสู่การออกประกาศพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด มีการสั่งปิดสถานที่และระงับการให้บริการของสถานบริการ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนและการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Supply Chain) เนื่องจากเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 มาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบ เรื่อง มาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพิ่มเติม เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินของประชาชนและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. การปรับปรุงการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท (แห่งละ 20,000 ล้านบาท) ให้แก่ประชาชนที่มีอาชีพอิสระหรือเกษตรกรรายย่อย อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน โดยขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปเป็นไม่เกิน 12 เดือน จากเดิม 6 เดือน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. กำหนด พร้อมทั้งขยายระยะเวลากู้ออกไปเป็นไม่เกิน 3 ปี จากเดิม 2 ปี 6 เดือน ทั้งนี้ รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
2. โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและ Supply Chain โดยใช้ที่ดินว่างเปล่า และ/หรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินเป็นหลักประกัน และไม่ต้องผ่านการตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกินร้อยละ 70 ของราคาประเมินที่ดินของทางราชการ สูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท ระยะเวลากู้ 3 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 0.10 ต่อปีในปีแรก ร้อยละ 0.99 ต่อปีในปีที่ 2 และร้อยละ 5.99 ต่อปีในปีที่ 3 รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
กระทรวงการคลังมั่นใจว่าการดำเนินมาตรการด้านการเงินดังกล่าวจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของประชาชนและช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจและรักษาการจ้างงาน เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงทีเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
– ธนาคารออมสิน โทร. 1115
– ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร. 02-555-0555