ศบค. เผยไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 143 ราย ติดเชื้อในประเทศ 132 ราย มาจากตรวจระบบเฝ้าระวังและบริการ 64 ราย ค้นหาคัดกรองเชิงรุก 68 ราย เดินทางจากต่างประเทศทั้งหมด 11 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 คน ทั่วโลกทะลุ 109 ล้านกว่าราย
วันที่ 15 ก.พ.64 เวลา 11.30 น. ที่ ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด ว่าวันนี่้ พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 143 ราย เป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 132 ราย มาจากการตรวจในระบบเฝ้าระวังและบริการ 64 ราย จากการค้นหาคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 68 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) 11 ราย อียิปต์ 1 ราย เยอรมนี 1 ราย สหราชอาณาจักร 5 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 3 ราย สหรัฐอเมริกา 1 ราย ส่วนผู้ป่วยมีการรักษาหายเพิ่ม 772 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 คน เป็นชายไทยอายุ 62 ปี จ.อุบลราชธานี และชายไทยอายุ 78 ปี จ.สมุทรสาคร
สำหรับผู้เสียชีวิตรายที่ 81 เป็นชายไทยอายุ 62 ปี มีอาชีพค้าขายผักอยู่ที่อุบลราชธานี มีโรคประจำตัวเบาหวาน โรคไต และโรคความดันโลหิตสูง เริ่มมีอาการไอแห้งและไม่มีไข้ ตั้งแต่ 5 ม.ค. อาการทรุดลงในวันที่ 8 ม.ค. ไอมากขึ้น มีเสมหะมากขึ้น เริ่มมีการหายใจหอบเหนื่อย วันที่ 9 ม.ค. ผลเอ็กซเรย์พบว่ามีปอดอักเสบอย่างรุนแรง ทางโรงพยาบาลตรวจพบโควิด-19 เป็นผลบวก นำผู้ป่วยเข้าห้องความดันลบ ในช่วงวันที่ 10-13 ม.ค. อาการผู้ป่วยทรุดลงอย่างรวดเร็ว และเสียชีวิตในวันที่ 14 ก.พ. เวลา 09.15 น.
อีกรายผู้เสียชีวิตรายที่ 82 เป็นชายไทยอายุ 78 ปี ชาวสมุทรสาคร เป็นพ่อบ้านส่วนใหญ่จะไม่ค่อยไปไหน อยู่ที่บ้านเป็นส่วนมาก ในวันที่ 16-17 ม.ค. ลูกสาวมีผลยืนยันเป็นผู้ป่วยก่อนหน้านี้ได้มาเยี่ยมคุณพ่อที่บ้าน มีการรับประทานอาหารร่วมกัน หลังจากนั้น 19-20 ม.ค. ผู้เสียชีวิตท่านี้เริ่มมีอาการแรกเริ่มไอแห้ง มีอาการเจ็บคอ 22 ม.ค. ไอมากขึ้น ไปที่โรงพยาบาลตรวจพบเชื้อโควิด-19 เป็นบวก พบว่าเอ็กซเรย์ปอดมีการอักเสบรุนแรง อาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว 30 ม.ค. อาการเหนื่อยหอบมากขึ้น ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ จากนั้นมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วย 7 ก.พ. อาการแย่ลง จนถึงมีภาวะไตวายเฉียบพลัน ความดันโลหิตลดลง หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเสียชีวิตในวันที่ 13 ก.พ. 18.19 น.
ผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศไทยวันนี้ ติดเชื้อในประเทศไปพื้นที่เสี่ยง 64 ราย มากสุดที่สมุทรสาคร 53 ราย นครปฐม 8 ราย ชลบุรี 2 ราย สมุทรสงคราม 1 ราย การคัดกรองค้นหาเชิงรุกในชุมชน 68 ราย มากสุด ปทมุธานี 50 ราย สมุทรสาคร 16 ราย กรุงเทพมหานคร 1 ราย เพชรบุรี 1 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 11 ราย
ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 24,714 ราย เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 22,067 ราย ติดเชื้อค้นหาคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 13,990 ราย ผู้เดินทางจากต่างประเทศ 2,647 ราย สถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 2,038 ราย ส่วนผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มอีก772 ราย รวมเป็น 22,883 ราย กำลังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 1,749 ราย โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 82 ราย
โดยรายละเอียดผู้ป่วยยืนยันสะสมระลอกใหม่ตั้งแต่ 15 ธ.ค. 2563 – 15 ก.พ. 2564 อยู่ที่ 20,477 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 5,614 ราย ค้นหาคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 13,990 ราย ผู้เดินทางจากต่างประเทศ 873 ราย ผู้ป่วยรักษาหาย 772 ราย สะสมหายป่วยแล้ว 18,706 ราย ผู้ป่วยรักษาอยู่ 1,749 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 22 ราย
สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 109,387,000 ราย อาการรุนแรง 98,496 ราย รักษาหายแล้ว 81,470,600 ราย เสียชีวิต 2,411,436 ราย
อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 28,261,470 ราย
2. อินเดีย จำนวน 10,916,172 ราย
3. บราซิล จำนวน 9,834,513 ราย
4. รัสเซีย จำนวน 4,071,883 ราย
5. สหราชอาณาจักร จำนวน 4,038,078 ราย
ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 114 จำนวน 24,714 ราย