“พิธา” อัดยับ!! “ญัตติด่วน” วินิจฉัยอำนาจรัฐสภา สุดเลวร้าย ดึงศาลฯปิดทางแก้รธน.

หน.พรรคก้าวไกล ดับเครื่องชน ญัตติด่วน “ไพบูลย์-สมชาย” สุดเลวร้าย จงใจดึงอำนาจตุลาการ เป็นนั่งร้านค้ำยันรัฐธรรมนูญ คสช. ปิดทางแก้ไข รธน.ฉบับ รัฐประหาร

วันที่ 9 ก.พ.64 -ที่รัฐสภา มีประชุมร่วมสองสภาเพื่อพิจารณาญัตติด่วนขอมติจากรัฐสภา ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่ และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. พร้อมคณะเสนอ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายในประเด็นนี้ว่า ตลอดระยะเวลาประมาณหนึ่งปีครึ่งที่รัฐสภาแห่งนี้ทำงาน เราเห็นความพยายามยื้อเวลาเตะถ่วงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่เป็นระยะ ตั้งแต่การตั้ง กมธ.ศึกษาหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ของสภาผู้แทนราษฎร, การตั้งกมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการฯ ของรัฐสภา แต่ในที่สุดรัฐสภาก็สามารถผ่านวาระ 1 รับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มี สสร. ได้ แม้เนื้อสาระและรูปแบบที่จะแก้อาจจะไม่น่าพอใจ แต่สมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งฝ่ายรัฐบาลก็เห็นตรงกันว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่น่าเสียดายที่กระบวนการที่ควรดำเนินไปอย่างปกติของรัฐสภา กลับต้องเกิดความไม่แน่นอนขึ้น เมื่อมีการเสนอญัตตินี้ เพราะเห็นว่า รัฐสภาไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการตั้ง สสร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชนได้

“สิ่งที่ท่านกำลังทำไม่ใช่การถ่วงเวลา แต่มันเป็นญัตติที่เลวร้ายยิ่งกว่า เพราะนี่คือการหาหนทางตัดทอนอำนาจของรัฐสภาและของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปตลอดกาล เป็นความพยายามแช่แข็งประเทศไทย ด้วยการทำให้รัฐธรรมนูญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นรัฐธรรมนูญฉบับนิรันดรของประเทศไทย โดยอ้างว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำได้ ก็ต่อเมื่อมีบัญญัติไว้ให้กระทำได้เท่านั้น ดังเช่นใน รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 หรือปี 2549 ”

นายพิธา กล่าวต่อไปว่า เป็นเรื่องปกติที่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแทนที่ตัวเอง แต่ในระบอบประชาธิปไตย ก็เป็นเรื่องปกติเช่นกันที่ประชาชนในฐานะผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ และรัฐสภาซึ่งรับอำนาจมาจากประชาชน สามารถใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาได้ ดังที่รัฐสภาของไทยเองก็เคยทำมาแล้วในกรณีรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475, ฉบับ 2489, และฉบับ 2540

การตีความว่า รัฐสภาจะมีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ก็ต่อเมื่อมีบทบัญญัติกำหนดไว้แต่แรกดังเช่นในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ผ่านๆ มานั้นมีปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่กล่าวอ้าง ล้วนเกิดขึ้นจากวงจรรัฐประหารทั้งสิ้น กล่าวคือ ทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ทำรัฐธรรมนูญชั่วคราว ทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร ถ้ายอมรับการตีความแบบนี้ หมายความว่า ประเทศไทยจะสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ก็ด้วยการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญเท่านั้นใช่หรือไม่ นี่คือความหมายที่แท้จริงของการยื่นญัตตินี้