เปิดรายชื่อ”จุฬาราชมนตรี” แห่งราชอาณาจักรไทย มีมาตั้งแต่สมัย กรุงศรีอยุธยา ในสมัย”พระเจ้าทรงธรรม” ทรงแต่งตั้ง “พระยาเฉกอะหมัดรัตนราช” เป็น ปฐมจุฬาราชมนตรี จนถึงปัจจุบัน ในสมัยราชวงศ์จักรี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รวมแล้วมีผู้นำศาสนาอิสลาม จำนวน 18 ราย
ตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี”แห่งราชอาณาจักรไทย เป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย และให้ข้อปรึกษาด้านศาสนาอิสลามแก่รัฐบาลไทย มีประวัติมา ตั้งแต่ กรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ. 2045– 2170 ระบุว่า ทำเนียบตำแหน่งขุนนาง ในชั้นหลัง เรียกว่า “กรมท่าขวา” มี “พระจุฬาราชมนตรี” เป็นหัวหน้าฝ่ายแขก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ “เฉกอะหะหมัด” เข้ารับราชการ มีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาเฉกอะหะหมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวา จึงนับได้ว่า เฉกอะหะหมัด เป็นปฐมจุฬาราช มนตรีแห่งกรุงสยาม ทำหน้าที่เป็นทั้งกระทรวงการต่างประเทศ ควบคุมเกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศ การรับแขกเมือง เก็บภาษีอากร สินค้าขาเข้า สินค้าขาออก เรื่องการเดินเรือพาณิชย์ระหว่างประเทศ กับ ควบคุมดูแลเกี่ยวกับกิจการทางด้านศาสนาอิสลามในราชอาณาจักรสยาม
สำหรับ รายนาม “จุฬาราชมนตรี” ในประเทศไทย มีดังนี้
1. เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหะหมัด) เป็นชาวเปอร์เซียเป็นมุสลิมนิกายชีอะต์ อิสนาอะซะรี ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2045 – 2170) และ ต่อมาถึงรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2173 – 2198) กรุงศรีอยุธยา
2. พระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว) เป็นหลานของเจ้าพระยาบวรราชนายก ได้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199 – 2225) กรุงศรีอยุธยา
3. พระยาจุฬาราชมนตรี (สน) เป็นบุตรของเจ้าพระยาศรีไสยหาญณรงค์ (ยี) ในสายสกุลของท่านเฉกอะหมัด ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระเจ้าอยู่บรมโกศ (พ.ศ.2275 – 2301) กรุงศรีอยุธยา
4. พระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) เป็น บุตรเจ้าพระยาเพชรพิไชย (ใจ) ในสายสกุลของท่านเฉกอะหมัด ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่ง สุริยามรินทร์กรุงศรีอยุธยา
5. พระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว -มุฮัมมัดมะอ์ซูม) เป็นบุตรจุฬาราชมนตรี (เชน) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กรุงรัตนโกสินทร์
6. พระยาจุฬาราชมนตรี (อากาหยี่) เป็นน้องชายของพระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัย กรุงรัตนโกสินทร์
7. พระยาจุฬาราชมนตรี (เถื่อน – มุฮัมมัดกาซิม) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
8. พระยาจุฬาราชมนตรี (น้อย – มุฮัมมัดบาเกร) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (อากาหยี่) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
9. พระยาจุฬาราชมนตรี (นาม – มุฮัมมัดตะกี) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (เถื่อน) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
10. พระยาจุฬาราชมนตรี (สิน – กุลาฮูเซ็น) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (นาม) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
11.พระยาจุฬาราชมนตรี (สัน อหะหมัดจุฬา) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้รับพระราชทานนามสกุล “อหะหมัดจุฬา” เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2456
12.พระจุฬาราชมนตรี (เกษม อหะหมัดจุฬา) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
13. พระจุฬาราชมนตรี (สอน อหะหมัดจุฬา) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (สัน) ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
14. จุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ (ซัมซุดดีน มุสตาฟา) เป็นมุสลิมนิกายซุนนีคนแรกที่เข้ารับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล (พ.ศ. 2488 – 2490)
15. จุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสตร์ (อิสมาแอล ยะห์ยาวี) เป็นมุสลิมนิกายสุนนีคนที่ 2 ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2490 – 2524
16.จุฬาราชมนตรีประเสริฐ มะหะหมัด (อะหมัด บินมะหะหมัด) เป็นมุสลิมนิกายสุนนีคนที่ 3 ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ. 2524 – 2540
17. จุฬาราชมนตรี สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ได้รับ คัดเลือก จากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จำนวน 29 จังหวัด และได้รับ พระบรมราชโองการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ. 2540 – 2553
18. จุฬาราชมนตรี อาศิส พิทักษ์คุมพล ได้รับ พระบรมราชโองการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553