รมว.คมนาคม นำคณะ ลงพื้นที่ตรวจสถานีกลางบางซื่อ และรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดให้บริการปลายปี 2564
วันที่27 ม.ค.63 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ตรวจความพร้อมสถานีกลางบางซื่อ และโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน ก่อนเปิดให้บริการประชาชนในปลายปี 2564 โดยมี นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารมว.คมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขาฯรมว.คมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดคมนาคม ผู้บริหารระดับสูง และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจความพร้อม โดยมี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศๆทย(รฟท.)นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่ารฟท. ให้การต้อนรับ ณ สถานีกลางบางซื่อ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า ก่อนที่จะเปิดให้บริการประชาชนในปลายปี 2564 ได้ทดลองโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน ซึ่งมีระยะทาง 15 กิโลเมตร 3 สถานี ได้แก่ สถานีบางซ่อน บางบำหรุ และตลิ่งชัน จากการลงพื้นที่ตรวจความพร้อมในครั้งนี้ รฟท. จะต้องซ่อมบำรุงในส่วนที่เป็นสถานี ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จมานาน และไม่ได้เปิดใช้บริการ ต้องปรับพื้นทางให้ได้มาตรฐานเพื่อให้สามารถเดินรถได้เต็มประสิทธิภาพ การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีแดง จากสถานีบางซื่อ – ตลิ่งชัน ใช้เวลาประมาณ 15 นาที หากใช้รถยนต์ต้องใช้ระยะเวลา1 ชม.แสดงให้เห็นว่ารถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นทางเลือกใหม่ให้ประชาชนเดินทางจากใจกลางกรุงเทพฯ ไปยังพื้นที่ด้านตะวันตก ได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัย โดย รฟท. จะทดลองเดินรถเสมือนจริงในเดือนมีนาคม 2564 และมีแผนการซ่อมบำรุงระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน 2564 ซึ่งในเดือนเมษายน 2564 ระบบทุกอย่างจะสมบูรณ์
ในส่วนการบริหารการใช้พื้นที่กว่า 4 แสนตารางเมตร ได้มอบแนวคิดเป็นหลักการ ให้ รฟท. บริหารจัดการพื้นที่ให้มีรายได้มากกว่ารายจ่าย โดยให้ พิจารณาสัดส่วนการใช้พื้นที่ในเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้อย่างเหมาะสม ทำให้สถานีกลางบางซื่อเป็น Smart Station เปิดโอกาสให้ประชาชนที่เป็นกลุ่มผลิตสินค้า OTOP ใช้เป็นตลาดจำหน่ายสินค้า นำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุน บริหารโดยยึดหลักกฎหมาย และหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด โดยให้ รฟท. รายงานแผนการใช้พื้นที่ต่อกระทรวงฯ ภายใน 1 สัปดาห์
สำหรับพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อ จำนวน 9 แปลง 2,000 กว่าไร่ รฟท. ยืนยันว่า พื้นที่ 5 แปลงแรก สามารถออกข้อกำหนดและเงื่อนไขรายละเอียดได้ทันที โดยกำหนดให้เป็นสถานที่ทำงาน ศูนย์ราชการ ที่อยู่อาศัย พื้นที่เชิงพาณิชย์ และเป็น Smart City ส่วนที่เหลือ 4 แปลง จะต้องมีการรื้อย้ายสิ่งต่าง ๆ ออกไป เช่น สถานีขนส่งผู้โดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด ได้ให้ รฟท. กำหนดระยะเวลาในการรื้อย้ายที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถออกข้อกำหนดและเงื่อนไขรายละเอียดได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนแผนการบริหารจัดการเดินรถไฟทางไกลของ รฟท. ที่มีสถานีต้นทางและปลายทางที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) มีขบวนรถประมาณ 188 ขบวน ซึ่งในปี 2566 จะไม่มีขบวนรถไฟทางไกลวิ่งเข้าสถานีหัวลำโพงอีกต่อไป หรือหากจะต้องมีขบวนรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง เพื่อเติมน้ำมัน จะต้องวิ่งระหว่างเวลา 22.00 – 04.00 น. เท่านั้น โดยให้ ผู้บริหาร รฟท.ร่วมกันพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน