พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นญัตติซักฟอกรัฐบาล 16-19 ก.พ.จองเวลาถล่มนายกฯ รวดเดียว2วัน มั่นใจมีเนื้อหา ถึงขั้นถอดถอน “พิธา” ยัน ปัดแตก เพื่อไทย ขณะ “เสรีพิศุทธ์” จี้ ประธานสภาฯเป็นกลาง รับที่ผ่านมา”อ่อนหัดการเมือง” คราวนี้ถ้าถูกไล่ออกห้องประชุมฯ”ไม่ยอมเด็ดขาด”
วันที่25 ม.ค.64 เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค นำโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย , นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล , พล.ต.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย , นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ , นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ ร่วมกันยื่นญัตติขอเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร
นายชวน แถลงว่า หลังจากได้รับยื่นญัตติแล้ว จะให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล ตรวจสอบความถูกต้อง และจะแจ้งกลับไปยังผู้ยื่นญัตติภายใน 7 วัน จากนั้นจะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระเป็นเรื่องด่วน ส่วนวันที่กำหนดไว้เบื้องต้นว่าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น คือวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ นี้ แต่เป็นเพียงการหารือเบื้องต้น และเมื่อบรรจุวาระแล้ว จะหารือวันอภิปรายที่แน่นอนอีกครั้ง
ด้านนายสมพงษ์ แถลงว่า 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 10 คน และมีส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านจำนวน 206 คน เข้าชื่อร่วมยื่นญัตติ โดยมี ส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคไทยศรีวิไลย์ เข้าร่วมด้วย
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สำหรับรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย 10 คน โดยมีส.ส.เข้าชื่อร่วมยื่นญัตติ 208 รายชื่อ ได้แก่ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม 2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี 3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข 4.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ 5.นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน 6.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย 7.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ 8.นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย 9.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ10.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านจะหารือกันอีกครั้งถึงกรอบเวลา เพื่อแจ้งไปยังประธานสภาฯ อีกครั้ง
สำหรับประเด็นที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น มีหลายประเด็นอาทิ ความล้มเหลวการบริหารราชการแผ่นดิน การไร้ประสิทธิภาพการทำงาน การทุจริต การเอื้อประโยชน์ต่อนายทุน ยืนยันมีหมัดเด็ดแน่นอนเพราะมีหลักฐานชัดเจน แม้การอภิปรายจะล้มรัฐบาลไม่ได้ แต่เชื่อว่าข้อมูลที่อภิปรายไปจะเรียกศรัทธาจากประชาชนได้
“มีอย่างน้อย 2-3 เรื่อง สามารถนำไปยื่นถอดถอนได้ การอภิปรายครั้งนี้จะไม่มีปัญหาเรื่องการแบ่งเวลาเหมือนครั้งที่แล้ว จะตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามเรื่องเวลาการอภิปราย ตัวผู้อภิปราย จะทำงานอย่างเป็นเอกภาพใกล้ชิดกัน ส่วนเรื่องระยะเวลาการอภิปรายนั้น อาจจะมากกว่า 5 วันก็ได้ เพราะมีรัฐมนตรีถูกซักฟอก 10 คน ทุกคนจะต้องถูกอภิปรายทั้งหมด รวมถึงคนที่ขออภิปรายจะต้องได้พูดครบประเด็นหมดทุกครั้ง ดังนั้นเป็นไปได้ที่อาจใช้เวลามากกว่าวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ ตามที่วางกรอบไว้เบื้องต้น” นายประเสริฐ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าว ส.ส.เพื่อไทย สงสัยที่ไม่มีการอภิปราย รมว.พลังงาน นายประเสริฐ กล่าวว่า เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า ยังมีน้ำหนักหลักฐานไม่เพียงพอ ไม่เกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ใดๆมาเกี่ยวข้อง ส่วนผู้ถูกอภิปราย 10 คนที่ถูกวิจารณ์มากเกินไปนั้น อย่าดูที่ตัวบุคคล ขอให้ดูเนื้อหา เพราะผู้ถูกอภิปรายล้วนมีประเด็นทั้งสิ้น ในส่วนพรรคเพื่อไทยวางตัวผู้อภิปรายไว้ 15-16 คน ลดจากครั้งที่แล้วที่วางไว้ 30 กว่าคน จะเน้นหนักที่นายกรัฐมนตรี จะถูกอภิปรายอย่างน้อย 1-2 วัน เพราะแค่เรื่องโควิด ก็ใช้เวลา 1 วันแล้ว ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นๆจะวางผู้อภิปรายไว้ 2-3 คนต่อ 1รัฐมนตรีขณะที่การอภิปราย ร.อ.ธรรมนัส ที่มีข่าวตอนแรกชื่อจะหลุดจากการอภิปรายนั้น ชื่อของ ร.อ.ธรรมนัส เป็นชื่อแรกๆที่ถูกเสนอ แต่มีผู้คัดค้านว่า จะมีน้ำหนักเพียงพออภิปรายหรือไม่ ในที่สุดผู้อภิปรายยืนยันว่า มีข้อมูลหนักแน่นเพียงพอ
นายพิธา กล่าวว่า ยืนยันว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านมีความเป็นเอกภาพ ซึ่งรัฐบาลอย่าดื้อเพ่ง บริหารผิดพลาด และกลบเกลื่อน ขอให้ทำงานอย่างสร้างสรรค์ในการเมืองช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ทั้งนี้ผู้อภิปรายทุกพรรคร่วมฝ่ายค้านหารือร่วมกันบ่อยมากขึ้น และไม่กังวลต่อปัญหาที่จะกลายเป็นอุบัติเหตุเหมือนการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบที่ผ่านมา “ผมยืนยันว่าการอภิปรายรอบนี้ ตราบใดที่ผมยังเป็นหัวหน้าพรรค จะไม่มีอุบัติเหตุเหมือนที่ผ่านมา เหมือนที่ลูกพรรค ต้องมาอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาฯ” นายพิธา กล่าว
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวยืนยัน ไม่มีมวยล้ม แต่ตนขอเรียกร้องให้ประธานสภาฯวางตัวเป็นกลาง อย่าเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายรัฐบาล เหมือนอย่างกรณีที่เคยเชิญตนออกจากห้องประชุม เพราะไม่ต้องการให้ตนอภิปรายเรื่องกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งยอมรับว่าครั้งที่ผ่านมานั้นไม่ทันต่อเล่ห์เหลี่ยมของสภาฯ แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้น ตนไม่ยอมเด็ดขาด