เกษตรกร มีเฮ ! “มนัญญา” เผย จีนไฟเขียวให้ไทยใช้แนวทางองค์การอนามัยโลก ส่งออก “ทุเรียน” ยัน ! ไม่สะดุด หลังมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่
วันที่ 24 ม.ค.64 น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการส่งออกทุเรียนในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้สั่งการให้ นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับตัวแทนจีนสร้างความมั่นใจในการส่งออกทุเรียน จะเริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. – พ.ค. 64 ทั้งนี้ให้นำข้อกังวลของนายกสมาคมทุเรียนไทยมาประกอบการหารือเพื่อช่วยกันรักษาตลาดส่งออกทุเรียนซึ่งแต่ละปีมียอดส่งออกกว่า 5 หมื่นล้านบาท และมีเกษตรกรอยู่ในระบบกว่า 140,000 ครัวเรือน
“กระทรวงเกษตรฯ ตระหนักถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวน และผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนข้อหารือที่ออกมาคาดว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นสินค้าส่งออกของไทยได้เพราะได้หารือกับหน่วยงานรับผิดชอบของประเทศผู้นำเข้า ยืนยันว่าจะรักษาระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานเพื่อรักษาชื่อเสียงของทุเรียนไทย และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคจีนทั้งคุณภาพ และความปลอดภัย” รมช.เกษตรฯกล่าว
ด้าน นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรและสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้หารือกับผู้แทนสำนักศุลกากร (GACC) ของจีนเมื่อ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา ฝ่ายจีนแจ้งว่ารัฐบาลได้ยจะสุ่มตรวจสินค้าอย่างเข้มงวดและต้องดำเนินมาตรการการฆ่าเชื้อสำหรับอาหารที่ขนส่งโดยควบคุมอุณภูมิ (Cold Chain) ตั้งแต่ ด่านศุลกากร การขนส่ง การกระจายสินค้า และการจำหน่าย ซึ่งจีนชื่นชมระบบการจัดการส่งออกผลไม้ของไทยว่ามีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูง โดยตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่เคยตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโคโรนา
โอกาสนี้ กรมวิชาการเกษตร และ มกอช. ได้เสนอมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา ในกระบวนการผลิต และคัดบรรจุผลไม้ส่งออกตามแนวทางความปลอดภัยอาหารในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 ขององค์การอาหาร และการเกษตรแห่งสหประชาชาติ( FAO ) และองค์การอนามัยโลก(WHO) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติให้กับหน่วยงานของรัฐ และผู้ประกอบการในการจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดและป้องกันการปนเปื้อน เช่น การควบคุมกระบวนการผลิต วิธีการฆ่าเชื้อ ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นที่ยอมรับของจีน และจีนขอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องในสินค้าผลไม้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ภายในสัปดาห์หน้า ไทยจะมีหนังสือแจ้งมาตรการการป้องกันไวรัสโคโรนา-19 ตามมาตรฐาน FAO และ WHO ที่จะให้โรงคัดบรรจุของไทยปฏิบัติไปยัง GACC เพื่อทราบ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้โรงงานผลิตเกษตรกรและประชาชนผู้บริโภคทั้งไทย และต่างประเทศเพื่อสร้างความเข้าใจ และความเชื่อมั่นทั้งภาษาไทย จีน อังกฤษ