8 องค์กร ธุรกิจท่องเที่ยวเมืองพัทยา ยื่น 6 ข้อเรียกร้อง จี้รัฐ เยียวยาโควิด-19 ระลอก 2 เหตุทำพัทยา นักท่องเท่ยวหาย กลายเป็นเมืองร้าง ชี้ ต้นตอระบาด ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย แต่เกิดจาก จนท.คอร์รัปชัน รู้เห็นเปิดบ่อน-ขนแรงงานเถื่อน เป็นต้นตอ กระจายเชื้อ อย่างรุนแรง
วันที่ 9 ม.ค.63 ผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยว 8 องค์กรในเมืองพัทยา ร่วมกันแถลงถึงผลกระทบด้านการท่องเที่ยวที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 2 ที่โรงแรมแบล็ควู้ด พัทยาซอย 7 อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อผู้ประกอบการเกือบทุกประเภทในเมืองพัทยา จนขณะนี้มีผู้ที่ไม่สามารถประกอบกิจการต่อได้ และ ต้องปิดกิจการไปแล้วกว่า 80% ทำให้เมืองพัทยาในวันนี้กลายเป็นเมืองร้างที่มียอดนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์ โดยที่รัฐบาลไม่ได้ยื่นมือเข้ามาให้การช่วยเหลือ หรือออกมาตรการเยียวยาใดๆ ได้แต่เพียงบอกว่าการล็อกดาวน์จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งมาตรการดังกล่าวไม่ต่างจากการผลักภาระให้ผู้ประกอบการในการแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงฝ่ายเดียว
นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกนี้แตกต่างจากการแพร่ระบาดในรอบแรกเมื่อช่วงต้นปี 63 เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งแรกถือเป็นเรื่องสุดวิสัยเนื่องจากเป็นการติดเชื้อจากประเทศจีน และการแพร่ระบาดในครั้งนั้นรัฐบาลมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่เข้มข้นจนทำให้สถานการณ์ดีขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว
รวมทั้งยังออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการด้วยการช่วยจ่ายเงินชดเชยให้แก่พนักงานในส่วนของภาคธุรกิจที่ต้องปิดกิจการในสัดส่วน 62% ของเงินเดือนเป็นเวลา 3 เดือน รวมทั้งยังมีมาตรการลดภาษี ค่าธรรมเนียมสาธารณูปโภคจนสถานการณ์คลี่คลายจึงมีการออกมาตรการสนับสนุนการด้านท่องเที่ยวในประเทศเข้ามาเสริมในอีกหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็น “เราเที่ยวด้วยกัน” หรือ “พัทยาฮอตดีล” รวมทั้งการจัดอีเวนต์ต่างๆ จนทำผู้ประกอบการพอที่จะประคับประคองตัวเองไปได้บ้าง
แต่การกลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงปลายปี 63 เกิดจากการคอร์รัปชัน หรือการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบอย่างหนักของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะมีการแพร่ระบาดอย่างหนัก เห็นได้จากการเอื้อให้มีการเปิดบ่อนพนัน และการขนย้ายแรงงานเถื่อนโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลได้ปล่อยปละละเลยให้เจ้าหน้าที่มีการเรียกรับผลประโยชน์กันจนเป็นปัญหาการแพร่ระบาดครั้งใหญ่
“เรื่องนี้รัฐควรรับผิดชอบและให้ความสำคัญในเรื่องการเยียวยาและดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะในพื้นที่ของ 5 จังหวัดที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่อันตรายและสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดสูงสุด เพราะทั้ง 5 จุดถือเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศอย่างมหาศาล แต่ทุกวันนี้เมืองพัทยา ได้กลายเป็นเมืองร้างจากการไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา แม้รัฐจะพยายามเลี่ยงไม่ใช่คำว่าล็อกดาวน์แล้วก็ตาม”
นายธเนศ ยังกล่าวอีกว่า เศรษฐกิจของเมืองพัทยาพังพินาศและเดินต่อไปไม่ได้ตั้งแต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์แล้ว แต่รัฐกลับไม่มีมาตรการที่จะเข้ามาดูแลหรือเยียวยา ที่สำคัญยังผลักภาระให้ผู้ประกอบการแบกรับผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อแรงงานที่ต้องได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และการว่างงานอีกนับหมื่นราย
เช่นเดียวกับ นายพิสิทธิ์ แซ่คู นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก ระบุว่า ที่ผ่านที่ผู้ประกอบการในเมืองพัทยาพยายามทำตัวเป็นเด็กดี ด้วยการปฏิบัติตามมาตรการของรัฐอย่างเข้มข้น แต่วันนี้รัฐกลับไม่เหลียวแลหรือให้ความช่วยเหลือ และหากยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปผู้ประกอบการที่มีความจำเป็นอาจต้องทำตัวเป็นเด็กดื้อ ด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็อาจเป็นปัญหาการแพร่ระบาดมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยขณะนี้ 8 องค์กรภาคธุรกิจด้านการท่องเที่ยวได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี เพื่อขอให้สั่งปิดกิจการโรงแรมในเขตเมืองพัทยา เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิในการรับเงินชดเชยค่าแรงตามกฎหมายใหม่ของกระทรวงแรงงาน เพราะการปิดกิจการเองโดยรัฐไม่มีคำสั่งจะไม่มีสิทธิในการได้รับเงินชดเชย
นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก ยังบอกอีกว่า ถึงแม้การให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้หากรัฐปรับลดการชดเชยลงเหลือเพียง 50% ของรายได้ในอัตราไม่เกิน 15,000 บาท ก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือในช่วงวิกฤตรุนแรงจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจะกินเวลายาวนานไปจนถึงปี 2565
โดยข้อเรียกร้องที่ 8 องค์การภาคธุรกิจในเมืองพัทยายื่นเสนอต่อภาครัฐ คือ การขอรับความช่วยเหลือใน 6 มาตรการหลัก ประกอบด้วย
1.ขยายเวลากองทุนประกันสังคมจ่ายเงินทดแทนลูกจ้างไปอีก 200 วัน 2.ลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนายจ้างและลูกจ้างเหลือ 1% 3.ลดหย่อนค่าน้ำประปา ไฟฟ้าต่อไปถึงสิ้นปี 2564
4.ยกเว้นอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวขนาดใหญ่โดยให้เก็บค่าใช้จ่ายตามจริง 5.ยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดิน ภาษีป้าย ภาษีบำรุงท้องที่ และค่าธรรมเนียมผู้เข้าพักในโรงแรม และ 6.ออกมาตรการขยายเวลาการพักชำระหนี้โดยไม่เก็บดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน หรือจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเพราะผู้ประกอบการไม่มีรายได้ใดๆ จนขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง