‘ทราย เจริญปุระ’บุกให้กำลังชาวจะนะหน้าทำเนียบ- ชาวบ้านรอมติครม.จะกลับหรือชุมนุมต่อ

ทราย เจริญปุระ บุกให้กำลังชาวจะนะ หน้าทำเนียบ ชาวบ้านรอมติครม.จะกลับหรือชุมนุมต่อ หลัง ร.อ.ธรรมนัส รับ ปากจะเสนอครม.วันนี้ ให้ชะลอโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะออกไปก่อน หลังชาวบ้านมาชุมนุมประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล เตรียมลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลรอบด้านก่อนตัดสินใจ

วันที่ 15 ธันวาคม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมจากอำเภอจะนะ จ.สงขลา จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาผลการเจรจากับผู้ชุมนุมที่ได้ข้อสรุปให้ชะลอโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะไปก่อน ในการเจรจาเมื่อ วันที่ 14 ธ.ค.

ผู้ชุมนุมในนาม กลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้เดินทางมาชุมนุมค้างคืนติดแนวตู้คอนเทนเนอร์บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล ถนนพิษณุโลก ตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค. เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการจะนะ เมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต

พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะทำงาน โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะทำงาน และมีนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน เป็นรองประธานคณะทำงาน เพื่อแก้ปัญหา และคณะทำงาน ลงพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อรับฟังข้อมูลและข้อเสนอต่างๆ ในการหาทางออกร่วมกัน และพร้อมเดินทางไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อนำข้อมูลที่รวบรวมมาทั้งหมด รายงานต่อ พล.อ.ประวิตร เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป นอกจากนี้ จะประสานงานกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ให้ชะลอการดำเนินการโครงการดังกล่าวเอาไว้ก่อนด้วย

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวกับผู้ชุมนุมว่า ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประวิตรให้มาพูดคุยกับผู้ที่รับความเดือดร้อนจากการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เพื่อสอบถามข้อมูลและหาแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งการหาแนวทางเรื่องนี้จะต้องมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา ในเบื้องต้นจะไม่มีการประชุมเรื่องผังเมืองในวันที่ 15 ธ.ค. เพราะให้ชะลอโครงการไปก่อน ส่วนหลายประเด็นอื่นๆ ขอให้ไปพูดคุยกันในตึกบัญชาการ ทำเนียบฯ และตนคิดว่าจะไปลงพื้นที่อ.จะนะ ในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ ขณะเดียวกัน ตอนนี้อยากให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ที่ขวางทางจราจร

จากการเจรจา ทำให้ผู้ชุมนุมยอมรับแนวทางการดำเนินการของฝ่ายรัฐบาลยอมย้ายจุดชุมนุมไปอยู่ริมถนนพระราม 5 แต่ยังไม่ยุติการชุมนุมเพื่อรอคณะรัฐมนตรีมีมติตามที่ตกลงกัน

นิคมอุตสาหกรรมใหม่จะนะ ดำเนินงานโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) เพื่อพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ มีบริษัทเอกชน ทีพีไอพีพี และไออาร์พีซี เป็นผู้บริหารโครงการงบประมาณการลงทุน 200,000 ล้านบาท ลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ ระบบราง การแปรรูปสินค้าการเกษตร เครื่องมือแพทย์ และการสร้างท่าเรือน้ำลึก เป็นต้น โดยโครงการได้ผ่านประชาพิจารณ์ไปแล้ว อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผังเมือง และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ขอบคุณภาพ Sun_THE STANDARD
@Sun_Paisan