ครบรอบ 88ปี วันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม ยังหนีไม่พ้นรัฐประหาร

10 ธ.ค.2563 ถือว่า ครบรอบ 88ปี ของการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ ปกครอง อาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2475 ต่อจากพ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย

จากจุดเริ่ม หลังปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 โดยคณะราษฎร จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย สู่จุดกำเนิดพ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2475 มีทั้งหมด 39 มาตรา

สาระสำคัญของพ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 กำหนดให้คณะราษฎร มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้แทนราษฎร เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ทำหน้าที่เป็นการชั่วคราว 6 เดือน ในการคัดเลือกราษฎร จังหวัดละ 1 คน เข้ามาทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อคัดเลือกคณะกรรมการราษฎร อีกต่อหนึ่งในการเป็นฝ่ายบริหาร

ในเวลาต่อมาสภาผู้แทนราษฎร ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ทำหน้าที่ประกอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ใช้แทนฉบับชั่วคราว มีทั้งหมด 68 มาตรา แบ่งเป็น 7 หมวด ประกอบด้วยหมวด 1 พระมหากษัตริย์ หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของชนชาวสยาม หมวด 3 สภาผู้แทนราษฎร หมวด 4 คณะรัฐมนตรี หมวด 5 ศาล หมวด 6 หมวดพิเศษเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และหมวด 7 การใช้รัฐธรรมนูญและบทเฉพาะกาล

ผ่านไป 88 ปี ไทยมี “รัฐธรรมนูญ” ทั้งสิ้น 20 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นฉบับปัจจุบัน และที่ผ่านมารัฐธรรมนูญในแต่ละยุคแต่ละสมัย ต่างสนองความต้องการของคนแต่ละกลุ่มที่เข้ามามีอำนาจอย่างไม่จบไม่สิ้น เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในไทย

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มีอายุสั้นที่สุด ใช้ในระยะเวลาเพียง 5 เดือนกว่า เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

จนมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 มีชื่อว่าธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 มีการใช้ยาวนาน 9 ปีกว่า และเป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหามากสุด เนื่องจากให้อำนาจพิเศษนายกรัฐมนตรี สามารถสั่งการลงโทษประหารชีวิต ตามมาตรา 17 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหาร ฉบับที่ 2 มีการบังคับใช้ยาวนาน โดยไม่ได้เป็นข้อตกลงระหว่างประชาชนกับผู้มีอำนาจอย่างแท้จริง สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังขาดสิทธิเสรีภาพ

“ช่วง 88 ปี รัฐธรรมนูญไทย มีอายุเฉลี่ย 4 ปีกว่า ถ้าเทียบกับประเทศที่มีประชาธิปไตยตั้งมั่น เนื่องจากรัฐธรรมนูญไทย ขาดความต่อเนื่อง ทำให้คนขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของในรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีหลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพ และในทางกลับกันรัฐธรรมนูญ ที่ได้รับการกล่าวขานเป็นของประชาชน คือรัฐธรรมนูญปี 2517 และปี 2540 แต่รัฐธรรมนูญปี 2517 หรือ ฉบับสมัชชาสภาสนามม้า ใช้ได้เพียง 2 ปี ก็เกิดรัฐประหารอีก และรัฐธรรมนูญปี 2540 เกิดจากการร่างของ ส.ส.ร. ใช้นาน 9 ปี

กระทั่งเกิดรัฐประหารในปี 2549 กลับกลายเป็นว่าโอกาสใช้รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับไม่ยาวนาน รวมถึงฉบับปี 2550 ภายหลังรัฐประหาร จนมาสู่ฉบับปัจจุบันปี 2560 ไม่ได้มีจุดเชื่อมกับประชาชน เพราะองค์กรร่างรัฐธรรมนูญวางกรอบโดย คสช. เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2534 นำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535”

จากสิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองไทย พบว่าผลผลิตของ “รัฐธรรมนูญ” ลุ่มๆ ดอนๆมาตลอด และเกิดรัฐประหารบ่อยครั้ง ไม่สามารถเชื่อมโยงกับประชาชน แม้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นฉบับประชาชน แต่ได้นำไปสู่ความขัดแย้งจนถึงทุกวันนี้ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 หากแก้มาตรา 256 ได้สำเร็จ นำไปสู่การตั้งส.ส.ร. จะทำให้มีโอกาสเป็นประชาธิปไตย และเมื่อจะสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น หากไม่มีหลักนิติธรรม ก็จะไม่สามารถทำให้สังคมเป็นประชาธิปไตยได้ ทั้งนี้ต้องดูว่าส.ส.ร.จะปราศจากการควบคุมโดยกลไกรัฐมากน้อยเพียงใด หากที่มาของส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง อาจมีการบล็อกโหวตจากพรรคการเมืองก็เป็นไปได้

สรุปแล้วรัฐธรรมนูญปี 2517 และปี 2540 มีข้อดีพอๆ กัน ในการเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยปัญหาอุปสรรคของรัฐธรรมนูญไทยที่ผ่านมา เกิดจากการนำแนวคิดต่างประเทศเข้ามา ทำให้เกิดการปะทะกับกลุ่มคนไทยที่มีความสัมพันธ์เชิงอุปภัมภ์ และเกิดจากกลไกราชการที่เป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตย

ส่วนรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ ซึ่งดีที่สุดในโลก ยกตัวอย่างของอังกฤษ ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่อยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน ทำให้ไม่ต้องมีการกำกับ โดยพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล จนเกิดการพัฒนาของสังคมการเมือง หรือ สหรัฐฯ เกิดขึ้นจากเชิงเทคนิคใช้กฎหมายมหาชนในการพัฒนาร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกับการสร้างชาติ และฝรั่งเศส ให้อำนาจสมดุลระหว่างฝ่ายสภาฯ และประธานาธิบดี ให้สลับกันขึ้นมามีบทบาท

ตรงกันข้ามกับรัฐธรรมนูญของไทยมีการแก้ไขตลอด เพราะขาดหลักประกันว่าจะไม่เกิดรัฐประหาร หรือความรุนแรงจะหมดไป กรณีงูเห่าในสภา การแจกกล้วย ปัญหาของสถาบัน รวมทั้ง ภาวะรัฐซ้อนรัฐ ประชาธิปไตยไทย ยังไม่พัฒนาเหมือนสากล

แม้จะผ่านการแก้ไขมาหลาย ต่อ หลายครั้ง แต่ก็ยังหนีไม่พ้นการ รัฐประหาร นั่นคือ ปัญหาของ รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาของ ประเทศไทย !