สำนักข่าว BBC THAI NEW ได้เผยแพร่ สารคดี เรื่อง “Soul of a Nation” ซึ่งเป็น เรื่องราวของ พระราชการณียกิจ ของ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 ที่ทรงสร้างคุณประโยชน์ เพื่อพสกนิกร และ ประเทศไทย
เมื่อเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2523 บีบีซีได้ออกอากาศสารคดีที่มีความสำคัญยิ่งยวดต่อความเข้าใจในประวัติศาสตร์และสถาบันกษัตริย์ไทย “Soul of a Nation – The Royal Family of Thailand” (ศูนย์รวมใจของชาติ – พระราชวงศ์ไทย) เป็นครั้งแรก
ภาพยนตร์สารคดีความยาวกว่าสองชั่วโมงนี้ เป็นการติดตามบันทึกภาพการปฏิบัติพระราชกรณียกิจและชีวิตส่วนพระองค์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเผยถึงความในพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ของปวงชนชาวไทย อย่างที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังกันมาก่อน
เนื้อหาของสารคดีแบ่งออกเป็นสองตอน ให้เสียงบรรยายโดยเซอร์ จอห์น กีลกุด นักแสดงและผู้กำกับชาวอังกฤษชื่อก้องในยุคหลังสงครามโลก ส่วนผู้สื่อข่าวบีบีซีที่ติดตามสัมภาษณ์เหล่าพระราชวงศ์ไทยในครั้งนี้คือ เดวิด โลแมกซ์ ซึ่งกล่าวถึงความหลังที่น่าจดจำของเขาไว้ในหนังสือ “King Bhumibol Adulyadej: A Life’s Work” ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2554 ว่า
“ผมเดินทางไปเมืองไทย 4 ครั้ง และได้พบว่าบรรดาพระราชวงศ์ไทยทรงยินดีต้อนรับผม และทรงมีความเป็นมิตรอย่างหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว”
สาระสำคัญของสารคดี Soul of a Nation มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้คนในโลกตะวันตก ถึงความเป็นจริงของสถาบันกษัตริย์ไทยยุคใหม่ว่า มีความเปลี่ยนแปลงร่วมสมัยที่น่าทึ่งและลึกซึ้งกว่า “ความเป็นตะวันออก” ที่ชวนให้นึกถึงความเก่าแก่เร้นลับชวนพิศวงเพียงอย่างเดียว
ในช่วงต้นของสารคดีตอนแรก ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ที่บ้านพัก โดยอธิบายถึงความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ไทยว่า
“สถาบันกษัตริย์คือจิตวิญญาณของชาติไทย ทรงเป็นมากกว่าประมุขในทางพิธีการ และทรงเป็นหัวหน้าของผองเผ่าชาวไทย เป็นพ่อของครอบครัวใหญ่มหาศาลที่มีสมาชิกถึง 45 ล้านคน”
“พระมหากษัตริย์เป็นแหล่งกำเนิดของวัฒนธรรมไทย ทุกสิ่งล้วนมีที่มาจากพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นมารยาทอันดีงาม วิถีการดำรงชีวิต วิธีคิดแบบไทย หรือแม้แต่พระพุทธศาสนาก็ตาม ดูเหมือนว่าทุกสิ่งงอกงามและแพร่ขยายไปจากพระองค์และสถาบันสูงสุดทั้งสิ้น”
สารคดี Soul of a Nation ฉายภาพของสถาบันกษัตริย์ไทยในบริบททางประวัติศาสตร์ภายใต้สภาพการณ์ของช่วงปลายยุคสงครามเย็น ขณะนั้นไทยเป็นเพียงประเทศเดียวบนผืนแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังไม่ตกไปอยู่ในการครอบงำของระบอบคอมมิวนิสต์ ทำให้ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวกับการแทรกซึมจากประเทศรอบข้าง รวมทั้งกองกำลังเวียดกงที่รุกประชิดแนวชายแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือด้วย
ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แสดงให้เห็นภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีความเสียหายอย่างหนัก นักศึกษาหลายคนเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บหลังการปราบปรามอย่างรุนแรง© AFP/Getty Images) ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แสดงให้เห็นภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีความเสียหายอย่างหนัก นักศึกษาหลายคนเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บหลังการปราบปรามอย่างรุนแรง
สภาพการณ์ยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้น หลังสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจถอนกำลังทหารออกจากเวียดนามในปี 2518 หนึ่งปีหลังจากนั้นเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษา 6 ตุลาคม 2519 ยังทำให้ประเทศไทยถูกจับตามองจากประชาคมโลก พร้อมกับกระแสข่าวที่ว่าสถาบันกษัตริย์ไทยก้าวเข้ามามีบทบาทในการสลายความขัดแย้งและยุติเหตุการณ์นองเลือดให้สงบลง
เครก เจ. เรย์โนลด์ส นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทย จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ให้ความเห็นไว้ในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Inside Story ของออสเตรเลียว่า สารคดี Soul of a Nation ซึ่งบีบีซีถ่ายทำและนำออกเผยแพร่ในช่วงเวลานั้น ได้สร้างภาพลักษณ์ใหม่ที่ดีขึ้นแก่ประเทศไทยและสถาบันกษัตริย์ไทย หลังจากที่ต้องเผชิญเหตุการณ์ร้ายแรงมาแล้วในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
คำถามหลักที่ผู้สื่อข่าวบีบีซีใช้ดำเนินเรื่อง มุ่งไปที่การค้นหาคำตอบว่าประเทศไทยจะอยู่รอดและพ้นจากเงื้อมมือของระบอบคอมมิวนิสต์ไปได้หรือไม่ ในขณะที่ความเจริญวัฒนาสถาพรของชาติไทยนั้น ผูกโยงอยู่กับความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ในฐานะจิตวิญญาณหรือศูนย์รวมใจของชาติอย่างแน่นหนา
ผู้ผลิตสารคดีของบีบีซีได้ชี้ให้เห็นว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีบทบาทในการรักษาชาติ พุทธศาสนา และสถาบันกษัตริย์ไทยให้ตั้งอยู่อย่างมั่นคง ผ่านการดำเนินกลยุทธ์สองแนวทาง
กลยุทธ์ประการแรกได้แก่การสืบสานศาสนาและธรรมเนียมประเพณีโบราณ โดยประยุกต์ให้สอดคล้องและรับใช้ต่อความจำเป็นสมัยใหม่ได้ดีขึ้น ดังเช่นการรื้อฟื้นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในรูปแบบที่ส่งเสริมการเกษตรสมัยใหม่ หรือพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พิธีพระราชทานกระบี่เป็นขวัญกำลังใจแก่นายทหารทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา เพื่อเสริมสร้างความจงรักภักดีและความเข้มแข็งในการต่อสู้กับอริราชศัตรู
กลยุทธ์ในอีกทางหนึ่งคือการบุกเบิกบทบาทหน้าที่ใหม่ ๆ ของกษัตริย์ ที่ยากจะพบเห็นได้ในสถาบันสูงสุดของชาติใด อย่างเช่นการเสด็จฯ เยี่ยมเยือนราษฎรในถิ่นทุรกันดาร รวมทั้งเหล่าทหารแนวหน้าในเขตที่เต็มไปด้วยอันตราย ทั้งยังทรงริเริ่มโครงการหลวงพัฒนาชนบทจำนวนมาก ซึ่งเท่ากับทรงก้าวเข้ามามีบทบาททั้งในด้านการเมือง การทหาร และความเป็นอยู่ของประชาชนในสมัยนั้น
ผู้สื่อข่าวบีบีซีได้มีโอกาสเข้ารับพระราชทานสัมภาษณ์ยังห้องทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเต็มไปด้วยอุปกรณ์สื่อสารและแผนที่ต่าง ๆ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
เดวิด โลแมกซ์ ได้กล่าวเปรียบเปรยว่า ห้องทรงงานนี้ดูไม่ต่างจาก “ศูนย์บัญชาการรบ” ในขณะที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปฏิเสธว่าวิทยุและเครื่องมือสื่อสารมากมายที่ทรงมีอยู่ ไม่ใช่เครือข่ายรวบรวมข่าวกรองส่วนพระองค์ แต่เป็นสิ่งจำเป็นในการทรงงานหลายชั่วโมงในยามค่ำคืน เพื่อให้ทรงได้เตรียมพร้อมและได้แนวพระราชดำริใหม่ ๆ สำหรับสิ่งที่ทรงต้องทำในวันต่อไปมากกว่า
“ข้าพเจ้าไม่รู้ว่า จะนิยามคำว่ากษัตริย์อย่างไรดีโดยไม่ให้มีปัญหา เพราะในฐานะของข้าพเจ้า แม้จะเรียกว่าเป็นกษัตริย์ แต่ภาระหน้าที่ของข้าพเจ้าอย่างที่คุณเห็น มันไม่ใช่หน้าที่ของกษัตริย์ มันเป็นสิ่งที่แตกต่างออกไป และยากที่จะนิยามได้ ข้าพเจ้าเพียงทำสิ่งที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์เท่านั้นเอง”
เมื่อผู้สื่อข่าวทูลถามระหว่างเสด็จฯ ยังพื้นที่เตรียมการสร้างเขื่อนว่า โครงการหลวงนี้เป็นสิ่งที่จะทำให้พระองค์ทรงมีชัยชนะเหนือพวกคอมมิวนิสต์ใช่หรือไม่ ทรงมีพระราชดำรัสตอบว่า
“ข้าพเจ้าไม่ได้ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์หรือคนผู้หนึ่งผู้ใด แต่สู้กับความอดอยากยากจน เพื่อให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเมื่อถึงเวลานั้น คนที่เรียกว่าคอมมิวนิสต์ก็จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไปด้วย ทุกคนก็จะมีความสุข”
“ทุกที่ที่เราไป เราถูกจ้องมอง ทุกคนสนใจเรา พวกเขาก็แค่มอง ไม่ได้ต้องการรบกวนเรา พวกเขาแค่อยากรู้ว่า เรากิน นั่ง เดิน กันอย่างไร ไม่ได้มองด้วยความอยากรู้อยากเห็น หรือเพราะมุ่งร้าย เพราะพวกเขาดีใจกันมาก คุณต้องเข้าใจว่า พวกเขาปรารถนาดี มีความใกล้ชิดกับเราเหมือนเป็นครอบครัวใหญ่”
“เขามองดูเรา เพราะเขาชอบเรา เราก็ชอบและรักพวกเขา พวกเขารักเรา ดังนั้นจึงไม่มีความกดดันใด ๆ”
ในฐานะที่ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจ ยึดเหนี่ยวบรรดาผู้คนและองคาพยพสำคัญต่าง ๆ ภายในชาติเข้าไว้ด้วยกันให้มีความเป็นเอกภาพ บางครั้งพระองค์จึงต้องทรงแสดงบทบาทนำ เพื่อพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์เลวร้ายต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดคำครหาว่าทรงเล่นการเมือง
แต่อย่างไรก็ตาม ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงไขความกระจ่างแก่ผู้สื่อข่าวบีบีซีในประเด็นนี้ไว้ว่า
“พระราชวงศ์อยู่ในสถานะโดดเด่นที่ผู้คนจับตามอง หากเราทำอะไรและมีคนมาเฝ้ามอง มันไม่ได้หมายความว่าเราเล่นการเมือง”
“ในตอนนี้ทุกเรื่องที่ข้าพเจ้าทำ แม้แต่จะออกไปตรวจสถานที่สร้างเขื่อนเล็ก ๆ หรือไปเยี่ยมถามไถ่ทุกข์สุขราษฎรว่าพวกเขามีพอกินไหมเมื่อเช้านี้ ข้าพเจ้าก็ถูกกล่าวหาว่าเล่นการเมืองแล้ว”
“มันดูเหมือนจะเป็นเรื่องไม่ดี ที่เราเข้าไปช่วยคลี่คลายสถานการณ์วิกฤต เพราะเท่ากับไปแตะต้องเรื่องการเมืองเข้า แต่ถ้าเราพยายามพูดให้คนไตร่ตรองใช้เหตุผล ข้าพเจ้าว่านั่นไม่ใช่เรื่องแย่สักเท่าไหร่ คำว่าคลี่คลายสถานการณ์นั้น ข้าพเจ้าว่าไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเลย”
ผู้สื่อข่าวบีบีซีได้มีโอกาสเข้ารับพระราชทานสัมภาษณ์ยังห้องทรงงาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน© BBC ผู้สื่อข่าวบีบีซีได้มีโอกาสเข้ารับพระราชทานสัมภาษณ์ยังห้องทรงงาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
“ถ้าคุณไม่ถอดสลักระเบิดให้ทันเวลา มันก็จะระเบิด และหากปล่อยให้ระเบิดขึ้น มันก็เป็นเพียงดอกไม้ไฟสวย ๆ สำหรับคนที่มองดูอยู่จากระยะไกลเท่านั้น”
ผู้สื่อข่าวบีบีซียังได้ทูลถามว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่สถาบันกษัตริย์จะ “ถูกใช้” โดยกลุ่มคนหลากหลายฝ่าย ในเรื่องนี้ทรงมีพระราชดำรัสตอบว่า
“เป็นเรื่องออกจะธรรมดาที่ผู้คนจะใช้ประโยชน์จากพระราชา ซึ่งมาอยู่ตรงนี้เพื่อให้ใช้อยู่แล้ว เหมือนกับประเทศของคุณที่อังกฤษ สมเด็จพระราชินีนาถก็ทรงงานตามพระราชกรณียกิจ ทรงถูกใช้…หากคุณต้องการใช้คำนี้นะ…เมื่อทรงเปิดการประชุมรัฐสภาก็ทรงถูกใช้จากรัฐบาลในฐานะโฆษก เพราะต้องทรงแถลงนโยบายว่ารัฐบาลของพระราชินีจะทำอะไรบ้างในปีนี้…ทรงถูกใช้”
“ดังนั้น ประเทศนี้ก็เช่นเดียวกัน ถูกใช้เหมือนกัน แต่วิธีการที่ใช้ขึ้นอยู่กับเราด้วย นั่นคือเราทำสิ่งที่ดีต่อประเทศชาติและประชาชน และเราไม่มีความลับใด ๆ ทั้งสิ้น”
“หากเราทำทุกสิ่งอย่างเปิดเผย ผู้คนหลายฝ่ายที่คุณอ้างถึงจะไม่สามารถใช้เราได้ เพราะถ้าพวกเขาใช้เรา มันจะส่งผลร้ายต่อตัวเขาเอง”
“คุณคงได้เห็นด้วยตนเองแล้วว่า เราไม่มีความลับ พยายามที่จะเป็นกลาง ไม่เอนเอียง และอยู่ร่วมอย่างสันติกับทุกฝ่าย เราอาจถูกกดดันจากทั้งสองด้าน แต่เรามีความเที่ยงธรรม”
“สักวันหนึ่งคุณจะได้เห็นว่า มันเป็นประโยชน์แค่ไหนที่มีคนซึ่งเป็นกลางอยู่ด้วย เพราะหากในประเทศมีแต่กลุ่มการเมืองต่าง ๆ ที่ยึดถือแต่ผลประโยชน์ส่วนตน จะเกิดอะไรขึ้นกับชาวบ้านธรรมดาที่ไม่มีอำนาจ ไม่มีปากเสียง พวกเขาจำเป็นจะต้องพึ่งพาใครสักคนที่เป็นกลาง”
“หากฝ่ายไหนต้องการจะทำลายผู้ที่เป็นกลาง ก็เท่ากับทำลายตนเอง นี่คือเหตุผลที่ต้องรักษาความเป็นกลางเอาไว้ มันอาจจะยาก แต่ก็สามารถทำได้ “