รมว.สาธารณสุข ยันเลือก “แอสตร้า เซเนก้า” ผลิตวัคซีน โควิด-19 ศึกษาละเอียดแล้ว มั่นใจไทยจะเป็นฐานผลิตในอาเซียน นักลงทุน-นักท่องเที่ยว เชื่อมั่น
วันที่ 27 พ.ย. 63 นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการลงนามจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยเป็นการจองล่วงหน้ากับบริษัท แอสตร้า เซเนก้า จำกัด มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท ว่า ยืนยันว่าก่อนเลือกบริษัทดังกล่าว ใช้เวลาและมีกระบวนการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด ทั้งราคา การขนส่ง การเก็บรักษา ฯลฯ ที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศ และหากการทดลองหรือวัคซีนได้ประสบความสำเร็จจะได้แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีน ถ้ามีความบกพร่องระหว่างการทดลอง บริษัทต้องกลับไปพัฒนาให้วัคซีนใช้ได้ เมื่อการทดลองวัคซีนสำเร็จ เราจะเป็นฐานการผลิตไปยังประเทศอาเซียน จะทำให้สถานะของไทยได้รับการยอมรับมากขึ้น สร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุน และนักท่องเที่ยว
ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกบริษัท แอสตร้า เซเนก้า เพราะการจองซื้อครั้งนี้มีเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย ซึ่งไทยไม่ได้เป็นเพียงผู้ซื้อ แต่มีบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นผู้รับถ่ายถอดเทคโนยีร่วมผลิตด้วย แม้จะซื้อกับบริษัท แอสตร้า เซเนก้า แต่ผู้ผลิตคือบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ อีกทั้ง วัคซีนที่เป็นเทคโนโลยีที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกับบริษัท แอสตร้า เซเนก้า ผลิต ถือเป็นเทคโนโลยีชั้นนำที่ทั้งโลกใช้ในการพัฒนาวัคซีน และเป็นงานวิจัยที่อยู่ในเฟส 3 ระดับแนวหน้า
นพ.นคร กล่าวต่อว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ หากได้ลงมือทำจริงจะถือว่าวัคซีนดังกล่าวเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ ทั้งการผลิตวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนอื่นๆ เพื่อตอบสนองต่อโรคอุบัติใหม่ ทันทีที่มีวัคซีน จะต้องนำไปขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (อย.) และกรมควบคุมโรคจะนำวัคซีนไปใช้ โดยวัคซีนเข็มแรกที่คนไทยจะได้ใช้ คาดว่าไม่เกินกลางปี 2564 หากทุอย่างเป็นไปตามแผน