ปรากฏการณ์การไม่นับถือพระเจ้าของคนรุ่นใหม่จึงมิใช่สิ่งที่มุสลิมควรไปประณาม แต่ควรถือเป็นพื้นที่ที่เราสามารถใช้เพื่อการพูดคุยทำความเข้าใจกับพวกเขาเสียใหม่ว่าศาสนาของเรามีคำตอบสำหรับโจทย์ต่าง ๆ ในชีวิตของพวกเขาอย่างไร แตกต่างจากสิ่งที่พวกเขาเคยคิดหรือไม่
คนไม่นับถือศาสนามากขึ้น สะท้อนอะไร ?
บทความโดย ดร.วิสุทธิ์ บินลาเต๊ะ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ตามรายงานของ พิว รีเสิร์ช แห่งสหรัฐ ระบุว่าร้อยละ15 ของประชากรโลกปัจจุบันเป็นคนไม่นับถือศาสนา ในประเทศไทยเองคนไม่นับถือศาสนาใด ๆ นับวันจะเพิ่มมากขึ้น!!!
โดยปกติ คนเราต้องการศาสนาเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นหลักชัยในการดำเนินชีวิต แต่การที่คนไม่นับถือศาสนาเพิ่มจำนวนขึ้นย่อมสะท้อนให้เห็นว่าบทบาทของศาสนาลดลง
ข้าพเจ้าเห็นว่าสาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะผู้คนไม่เห็นว่าการนับถือศาสนาจะช่วยให้ชีวิตดีขึ้นได้อย่างไร เนื่องจากบทบาทของศาสนายุควัตถุนิยมถูกบีบให้เหลือพื้นที่น้อยลงมาก มิหนำซ้ำหลายครั้งคราที่ผู้นับถือศาสนาหยิบยื่นภาพลักษณ์อันเลวร้ายแก่สังคม เช่น การก่อความรุนแรงโดยอ้างว่าศาสนาสอนให้ทำเช่นนั้น หรือการที่ผู้นำทางศาสนาบางคนประพฤติปฏิบัติตนไม่เหมาะสม ซึ่งล้วนแล้วแต่บ่อนเซาะความศรัทธาที่ผู้คนเคยมีต่อศาสนาให้ร่อยหรอลงทั้งสิ้น
ปรากฏการณ์การไม่นับถือพระเจ้าของคนรุ่นใหม่จึงมิใช่สิ่งที่มุสลิมควรไปประณาม แต่ควรถือเป็นพื้นที่ที่เราสามารถใช้เพื่อการพูดคุยทำความเข้าใจกับพวกเขาเสียใหม่ว่าศาสนาของเรามีคำตอบสำหรับโจทย์ต่าง ๆ ในชีวิตของพวกเขาอย่างไร แตกต่างจากสิ่งที่พวกเขาเคยคิดหรือไม่
ไม่ควรปล่อยให้ความโน้มเอียงทางการเมืองทำให้โอกาสเหล่านี้หลุดลอยไป เพราะเท่ากับว่าเราถูกการเมืองครอบงำจนหลงลืมหน้าที่ของตนเองไปแล้ว
ที่สำคัญ ขณะที่คนเหล่านี้เรียกร้องโหยหาความยุติธรรม มุสลิมควรเป็นแบบอย่างให้พวกเขาได้เห็นว่ามาตรฐานแห่งความยุติธรรมในอิสลามนั้นสูงส่งเพียงใด
มิใช่ซ้ำเติมสถานการณ์ด้วยการเลือกข้างผู้อธรรม
อัลลอฮทรงตรัสไว้ในซูรอฮอัลมาอิดะฮ (5:8) ว่า
يا أيها الذين آمنوا كونوا قوامين لله شهداء بالقسط ولا يجرمنكم شنآن قوم على أن لا تعدلوا اعدلوا هو أقرب للتقوى
ดูกร ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยืนหยัดเพื่ออัลลอฮให้เป็นที่ประจักษ์ในความเป็นธรรมเถิด และอย่าปล่อยให้ความรังเกียจต่อคนกลุ่มหนึ่ง มาทำให้พวกเจ้าสูญเสียความยุติธรรม จงดำรงความยุติธรรมไว้เถิด นั่นคือสิ่งที่ใกล้ชิดที่สุดกับความยำเกรงต่อพระเจ้า