ประชุมวิป 3 ฝ่ายเห็นพ้องโหวต 7 ร่างแก้ รธน. เร่งพิจารณาให้เสร็จก่อนค่ำ หวั่นความไม่ปลอดภัยม็อบ โดยนัดโหวตเช้า 18 พ.ย. เผย ส.ว.เท 150 เสียงหนุนตั้ง ส.ส.ร.รื้อ รธน. จับตา 4 ร่างแก้รายมาตราส่อไม่ผ่านหลักการ ร่างไอลอว์ ส.ส.รัฐบาล-ส.ว.คว่ำแน่
วันที่ 16 พ.ย.63 ความเคลื่อนไหวของการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ โดยรัฐสภากำหนดนัดประชุมวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ โดยล่าสุด ที่ รัฐสภา ที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ประกอบด้วย วิปฝ่ายรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะพยายามพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ให้เสร็จภายในช่วงเย็นวันที่ 17 พ.ย. ไม่อยากให้เลยไปถึงช่วงค่ำ เพราะเกรงว่าอาจมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางออกจากรัฐสภาที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมมาล้อมรัฐสภา จากนั้นจะมาโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ในเวลา 09.30 น.ในวันที่ 18 พ.ย. โดยวิธีการขานชื่อทีละคน คาดว่าจะใช้เวลา 4 ชั่วโมงจะรู้ผลการลงมติ อย่างไรก็ตาม ต้องดูสถานการณ์เฉพาะหน้าประกอบด้วย หากมีผู้อภิปรายยืดเยื้ออาจทำให้การลงมติล่าช้าออกไปจากเวลาที่ตั้งไว้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวโน้มการลงมตินั้น ขณะนี้ค่อนข้างแน่นอนว่าที่ประชุมรัฐสภาจะลงมติรับหลักการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญวาระ 1 เฉพาะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 และ 2 ของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น ที่ให้ตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยทั้ง 2 ร่างดังกล่าววิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านมีมติเรียบร้อยแล้วให้ลงมติรับหลักการ ขณะที่เสียงฝั่ง ส.ว.ต้องมีเสียงสนับสนุน 84 เสียงนั้น ล่าสุด ส.ว.ได้เช็กเสียงเมื่อเช้าวันที่ 16 พ.ย. ปรากฏว่ามี ส.ว.สนับสนุนเกิน 84 เสียงทั้งสองร่างไปแล้ว แต่จะมี ส.ว.บางส่วนที่ยืนยันในจุดยืนเดิม ลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 และ 2
ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 4 ฉบับที่เป็นการแก้ไขรายมาตราได้แก่ ฉบับที่ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 270 และ 271 ที่ให้ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการปฏิรูปประเทศ ฉบับที่ 4 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เรื่องการยกเลิกอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 5 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ที่ให้ยกเลิกประกาศคำสั่งอันเป็นผลสืบเนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช. และฉบับที่ 6 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบนั้นมีแนวโน้มจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา เพราะมีเพียงเสียงจากฝายค้านเท่านั้นที่จะลงมติรับหลักการทั้ง 4 ร่าง ขณะที่เสียงจาก ส.ส.ฝั่งรัฐบาล และ ส.ว.จะลงมติงดออกเสียงและไม่รับหลักการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ หรือ ฉบับไอลอว์นั้น มีแนวโน้มสูงที่จะไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เพราะเสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว.ไม่เอาด้วย เพราะเห็นพ้องต้องกันว่าไม่ได้มีข้อยกเว้นเรื่องการห้ามแก้หมวด 1 และ 2 ที่เกี่ยวกับเรื่องราชอาณาจักรไทยและสถาบันฯ รวมถึงยังมีเนื้อหาที่สร้างความไม่สบายใจ อาทิ
การให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต และการให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระทุกชุดพ้นจากตำแหน่ง อาจมีผลทำให้เป็นการนิรโทษกรรมคดีทุจริตในทางปฏิบัติ เพราะ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตถูกยกเลิก และอาจทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะสุญญากาศไม่มี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต บังคับใช้หลายเดือน ทำให้ ส.ส.รัฐบาล และ ส.ว.ไม่สบายใจ จึงจะไม่เห็นชอบร่างของไอลอว์