รัฐสภาเปิดศึกแก้รธน.”รบ.-ค้าน-วุฒิ”เผชิญหน้า ถกประเด็นเดือด ปมแก้ไข 7ญัตติ

จับตา ประเด็นร้อน ทางการเมือง ประธานรัฐสภา ระบุ ส.ส.-ส.ว.เตรียม โหวตร่างแก้ รธน. 7 ญัตติ ลุ้นระทึก วันที่ 17-18 พ.ย.นี้ ขณะที่ “ปชป.-ภท.” มั่นใจฉลุย 2 ร่าง

วันที่ 14 พ.ย.63 ความเคลื่อนไหวประเด็นร้อนทางการเมือง ยังต้องจับตาความเคลื่อนไหวและท่าทีของ ส.ส.และ ส.ว. ก่อนจะถึงวันโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ โดยญัตติที่ 1 กับญัตติที่ 2 เป็นร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายร่วมค้าน ที่เสนอแก้มาตรา 256 ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนที่เหลือ เป็นของพรรคเพื่อไทย (พท.) คือ ญัตติที่ 3 แก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ พ่วงมาตรา 159 ปิดทางเลือกนายกฯคนนอก ญัตติที่ 4 แก้ไขมาตรา 270 และมาตรา 271 ตัดอำนาจ ส.ว.ติดตามการปฏิรูปประเทศ ญัตติที่ 5 แก้ไข มาตรา 279 ยกเลิกคำสั่งประกาศ คสช.และญัตติที่ 6 แก้ไขมาตรา 91-92 และมาตรา 94 และยกเลิกมาตรา 93 มาตรา 101 (4) และมาตรา 105 วรรคสามเรื่อง ระบบเลือกตั้ง โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ให้กลับไปใช้แบบรัฐธรรมนูญ 2540 และญัตติที่ 7 ของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ที่เสนอแก้มาตรา 256 เลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คน จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

โดย นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ยืนยันว่า การประชุมรัฐสภาวันที่ 17-18 พฤศจิกายน จะมีเฉพาะการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น และเตรียมความพร้อมสำหรับการลงมติแล้ว รวมไปถึงการรองรับกลุ่มผู้ชุมนุมที่จะมาติดการประชุมรัฐสภาด้วย เพราะส.ว.กังวลเรื่องนี้ แต่ไม่ได้กำชับเป็นพิเศษ เพราะสภาดำเนินการอยู่แล้ว ส่วนเรื่องข้างนอกสภาเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องดูแล

นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวันที่ 17 พฤศจิกายน ลำดับแรกจะพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ จากนั้นจะให้ที่ประชุมพิจารณาเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ให้ตัวแทนผู้เสนอร่างแก้ไขที่แจ้งชื่อแล้ว อาทิ นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการไอลอว์ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ นำเสนอ และให้สมาชิกรัฐสภาซักถาม เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วจะให้สมาชิกรัฐสภาลงมติ ในญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมกัน 7 ฉบับ เพื่อประหยัดเวลา

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า พรรค ปชป.ชัดเจนแล้วว่าสนับสนุนร่างของพรรคร่วมรัฐบาลและร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่เสนอให้แก้ไขมาตรา 256 โดยตั้ง ส.ส.ร. ไม่ควรจะมีอุปสรรคอะไรที่จะมาทำให้การพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุดต่อไปอีก

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า พรรค ภท.พร้อมโหวตอยู่แล้ว โดยหมวด 1 หมวด 2 ไม่แตะ แต่เห็นด้วยให้แก้มาตรา 256 และให้มี ส.ส.ร. พรรค ภท.รอโหวตอย่างเดียว ยืนยันพรรค ภท.แก้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าใครจะศึกษาอะไร เราก็โหวตตามนี้ เราตัดสินใจไปเรียบร้อยแล้ว รอวันยกมือ

นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวว่า ยืนยันมาตั้งแต่ต้นแล้วว่ารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีการตั้ง ส.ส.ร. และสนับสนุนให้มีการแก้ไขมาตราที่ 272 คือเรื่องโหวตนายกฯ ที่ตัดอำนาจ ส.ว. และเชื่อว่าวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ จะผ่านรัฐสภาอย่างแน่นอน

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ว่า วิปพรรค พท. และวิปพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะประชุมร่วมกันในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ เพื่อกำหนดแนวทางเกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะโหวตอย่างไรบ้าง ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ยังต้องคุยกันให้ชัดเจนว่าจะพิจารณากันอย่างไร

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก) กล่าวว่า พรรค ก.ก. คงจะโหวตผ่านในวาระที่ 1 ให้กับร่างของไอลอว์ แม้จะมีข้อติดใจหรือข้อโต้แย้งในหลายประเด็น แต่ไม่ผิดหลักการใดๆ และสามารถแก้ไขได้ในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 6 ฉบับที่เหลือหากไม่ขัดต่อหลักการ ยินดีที่จะโหวตให้ผ่าน

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตนายกฯ กล่าวว่า ต้องรอดูว่าในวันประชุมรัฐสภาวันที่ 17-18 พฤศจิกายน ที่จะมีการโหวตร่างแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญจะมีส่วนช่วยลดความตึงเครียดได้หรือไม่ คาดว่าจะไม่ผ่านทุกร่าง หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไม่ลาออก แต่สามารถช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้ บรรยากาศก็ผ่อนคลาย คนส่วนใหญ่มองว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ออกแรง อย่างไรก็ผ่าน อยากเห็นนายกฯและรัฐบาลเป็นผู้นำในการส่งสัญญาณชัดเจนว่าได้ยินข้อเรียกร้องของประชาชน