ประธานนปช. เห็นว่า คำตัดสินของ ศาลรธน.จะเป็นทางออกแก้วิกฤตประเทศไทย ได้ดีที่สุด เตือน “บิ๊กตู่” ให้เผื่อใจยอมรับความจริง หลัง “คณะราษฏร63” ประกาศไม่ร่วมเวที สมานฉันท์
วันที่ 5 พ.ย.63 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟชบุ๊คไลฟ์ peace talk กรณีศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ อาศัยบ้านพักของหลวงนั้น ถ้านำสาระไปเทียบได้กับกรณีของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี จัดรายการชิมไปบ่นไป และศาล รธน.วินิจฉัยว่า การรับเงินค่ารถเกิน 3,000 บาทให้พ้นตำแหน่ง ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ อยู่บ้านพักหลวง หากเทียบเป็นเงินแล้วคงมากกว่า 3,000 บาทแน่นอน แต่ขณะนี้ไม่มีอะไรยืนยัน ศาลจะใช้มาตรฐานเดียวกันหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์การเมืองขาลงแล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เช่นเดียวกับการยุบพรรคพลังประชาชน ชาติไทย มัชฌิมาธิปไตย แล้วส่งผลให้เกิดการตั้งรัฐบาลใหม่ในค่ายทหาร“แม้ครั้งนี้เป็นความผิดของพล.อ.ประยุทธ์ เฉพาะตัว แต่ยังไม่รู้การเมืองจะไปอย่างไร คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาจเป็นทางลงอย่างสวยงามของพล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ ทั้งที่ย้ำมาตลอดว่า ผิดอะไร ถึงที่สุดนายกฯต้องมีความรับผิดชอบในการทำให้บ้านเมืองเกิดปัญหา ประกอบกับเสียงเรียกร้องให้ลาออกดังไปทั่วประเทศ วันที่ 2 ธ.ค. ต้องคิดเผื่อใจไว้บ้างว่า อาจมีปัญหาเกิดขึ้นเพื่อยุติวิกฤตทั้งปวง เพราะหากนายกฯยังอยู่ วิกฤตก็จะมีอยู่ต่อไปอีก” นายจตุพรกล่าว
ขณะเดียวกัน นายจตุพร ยังกล่าวถึง การตั้งกรรมการสมานฉันท์ ที่ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นคนเสนอโดยทาบทาม อดีตนายกฯมาเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ แต่ปรากฏว่า คณะราษฎร 2563 แถลงจุดยืนไม่ร่วมสังฆกรรม เพราะ เห็นว่าเป็นการเล่นละครซื้อเวลาให้พล.อ.ประยุทธ์ และความเห็นของ “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี มีความเห็นมาร่วมหารือการสมานฉันท์ว่า น่าจะคุยกันแค่วันเดียวก็จบเรื่องแล้ว ก็ขึ้นอยู่รัฐบาลและผู้มีอำนาจจะรับความเห็น กรรมการสมานฉันท์หรือไม่
แต่ปฎิกิริยาของ ส.ส.รัฐบาลออกมาถล่มยับเช่นนี้ การสมานฉันท์ก็ไปไม่รอด 2 ส.ส.รัฐบาลที่ออกมาแสดงความเห็นนั้น ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่คงมีการหารือกันแล้ว เพราะจะถูกกดดันขั้นสูงสุดจากอดีตนายกฯ พวกนี้จึงต้องออกมาเตะตัดขาคว่ำเลย ซึ่งเป็นความวิตกกังวล ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจนายชวน ดังนั้น ปรากฎการณ์นี้การสมานฉันท์รับรู้ว่าไม่มีผลทางปฏิบัติ แต่จะเป็นมาตรการบังคับทางสังคม ถ้าอดีตนายกฯ เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก แล้วจะเกิดแรงกดดันมากมายอย่างคาดไม่ถึง บวกกับกระแสคำวินิจฉัย 2 ธ.ค.ด้วย ย่อมทำให้ฝ่ายรัฐบาลจะอยู่ในอาการที่ร่อแร่ที่สุด