กมธ.แก้จน-ลดเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เร่งบรรเทาผลกระทบด้านลบจาก IUU Fishing ให้อุตสาหกรรมประมงพาณิชย์ปัตตานี
คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา พร้อมด้วยคณะอนุกรรมาธิการร่วมกันตามข้อบังคับ ข้อ ๘๐ วรรคสอง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการ นายภาณุ อุทัยวัฒน์ นายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ นายอนุมัติ อาหมัด และคณะ ได้ลงพื้นที่ดูสภาพข้อเท็จจริง และแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
โดยได้มารับฟังปัญหาเกี่ยวกับตัวแทนกลุ่มชาวประมงชายฝั่งของจังหวัดปัตตานี และรับฟังปัญหาเกี่ยวกับพืชผลทางการเกษตรของจังหวัดนราธิวาส
ในระหว่างการลงพื้นที่ๆปัตตานี ได้รับความข้อมูลจาก นายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นางอันน์เกตุ ลีลาไพบูลย์ นายกสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี และผู้ที่เกี่ยวข้อง ณ สมาคมการประมงปัตตานี จังหวัดปัตตานี เกี่ยวกับ ผลกระทบต่อประเทศไทยจากการดำเนินมาตรการเพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรปในการการทำประมง IUU Fishing
ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยเป็นประเทศที่มีความสามารถด้านการประมงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยเฉพาะประมงพาณิชย์จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความสามารถด้านการประมง มีกองเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ สามารถทำรายได้ให้กับประเทศและจังหวัดชายแดนใต้เป็นมูลค่ามหาศาล มาโดยตลอดก่อนปี 2557
นอกจากเป็นอุตสาหกรรมอาหารที่เกี่ยวกับสัตว์น้ำทางทะเลแล้ว ยังทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกหลายประเภท ที่ทำให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่ เช่น อุตสาหกรรมต่อเรือซ่อมเรือ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมห้องเย็นและโรงน้ำแข็ง อุตสาหกรรมแหอวน ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและเกิดการจ้างงานจำนวนมากจนกลายเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางด้านเศรษฐกิจของจังหวัดปัตตานี
นับตั้งแต่ปี 2557 จากการที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามระเบียบของสหภาพยุโรปในการต่อต้านการประมงแบบผิดกฎหมาย ซึ่งมาตรการที่ EU ต้องการมีเพียงไม่กี่ข้อ แต่รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้ออกกฎหมาย กฎกระทรวงและระเบียบต่างๆที่ดูเหมือนว่าจะมากกว่าที่ EU ต้องการไปเป็นจำนวนมาก ทำให้การประมงพาณิชย์ของไทยได้รับผลกระทบด้านลบอย่างรุนแรงจนถึงขั้นล่มสลาย และยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นวงกว้าง อาทิเช่น
1) การประมงพาณิชย์ปัตตานีล่มสลาย เรือประมงแทบทั้งหมดไม่สามารถทำการประมงได้ เรือประมงจำนวนหนึ่งเสียหายต้องจอดจมทิ้งร้างอยู่ตามแม่น้ำ ภาพที่เห็นไม่ต่างจากการสภาพหลังสงครามแต่อย่างใด
2) อุตสาหกรรมต่อเรือล่มสลาย
3) อุตสาหกรรมห้องเย็นและแช่เย็นล่มสลาย
4) อุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปเสียหายอย่างหนักเพราะขาดวัตถุดิบ
5) อุตสาหกรรมแหอวนล่มสลาย และ
6) สภาพเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในจังหวัดชายแดนทุกกลุ่มอาชีพแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะชาวบ้านขาดงานขาดรายได้ สภาพเศรษฐกิจของจังหวัดจึงพลอยหยุดนิ่งตามไปด้วย
จากการรับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงดังกล่าวคณะกรรมาธิการมีข้อสังเกต ดังนี้
1) รัฐบาลไทยออกกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆของทางราชการเกินกว่าที่ EU ต้องการหรือไม่ โดยความเห็นส่วนตัวของผมมีข้อสมมติฐานว่าในเรื่องนี้รัฐบาลไทยน่าจะ over reaction
2) ผมมีข้อสังเกตว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในภาครัฐมีทัศนคติต่ออาชีพประมงพาณิชย์ในด้านลบเกินไปหรือไม่ จึงได้มีการออกมาตรการที่ควบคุมเรือประมงพาณิชย์อย่างเข้มงวดเกินไปและ
3) ผมมีข้อสังเกตว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมาใช้บังคับกับการประมงพาณิชย์ได้คำนึงถึงหลักการในการทำธุรกิจอย่างเป็นธรรมด้วยหรือไม่
สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาในระยะเฉพาะหน้าให้แก่ประมงพาณิชย์ที่จังหวัดปัตตานี มีดังนี้คือ
1) การช่วยเหลือให้เรือประมงพาณิชย์ไทยที่ต้องหันไปติดธงของมาเลเซียจำนวน 11 ลำแรกที่ต้องการนำเรือประมงเข้ามาซ่อมแซมที่ปัตตานี เพราะมาเลเซียไม่มีอู่ซ่อมเรือประมงที่เป็นไม้ ในเรื่องนี้เราได้ประสานงานให้อธิบดีกรมประมงไทยทำจดหมายถึงอธิบดีกรมประมงมาเลเซียเพื่อขอนำเรือประมงดังกล่าวเข้ามาซ่อมแซม และเท่าที่ทราบ อธิบดีกรมประมงทั้งสองประเทศจะทำ video conference ในเรื่องนี้ก่อนวันที่ 10 พฤศจิกายน ศกนี้
2) การจัดเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) สำหรับเขตพื้นที่พิเศษ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งยังเหลือเป็นจำนวนมาก ที่ประมงพาณิชย์และธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมสามารถใช้ประโยชน์ได้ ในที่ประชุมผู้แทนของธกส.และธนาคารออมสินได้ยืนยันว่าจะให้การสนับสนุนเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ประมงพาณิชย์ด้วย
3) สนับสนุนการออกมาตรการพิเศษสำหรับการขนส่งปลาและสัตว์น้ำอื่น เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลืออุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูประหว่างรัฐชายฝั่ง อาทิเช่นการเปลี่ยนเรือประมงไปเป็นเรือห้องเย็นแทนเพื่อนำปลาจากโต๊ะบาหลี รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซียเข้ามาที่ปัตตานี ซึ่งอนุกมธ.กำลังช่วยประสานงานกับกรมเจ้าท่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงสถานะของเรือใหม่ รวมทั้งเรื่องการปรับปรุงคุณสมบัติของนายท้ายเรือให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ตลอดจนประธาน กมธ.จะทำจดหมายถึงท่านรองนายก พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้ และ
4) ช่วยประสานงานให้ทางราชการเร่งรับซื้อเรือประมงพาณิชย์อีก 220 ลำ และจะขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีทำจดหมายถึงท่านรองนายกพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้นำเรือประมงเหล่านี้มาใช้ในด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดด้วย
5) ช่วยประสานงานเพื่อขอให้ท่านผู้ว่าปัตตานีอนุญาตเปิด ‘อ่าวทอง’ เป็นแหล่งทำประมงและเป็นที่จับหอย เพื่อให้ชุมชนทั้ง 10 ตำบลที่อยู่รอบอ่าวสามารถมีอาชีพและมีงานทำได้ทันที อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดปัตตานีอีกทางหนึ่ง ข่าวล่าสุดที่ผมรับทราบคือท่านผู้ว่ากำลังเชิญผู้แทนของชาวบ้านไปหารือในเรื่องนี้ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีปัญหาเหมือนในอดีตที่เคยมีความขัดแย้งระหว่างนายทุนเจ้าของสัมปทานกับชาวบ้านรอบอ่าว
นอกจากนี้ คณะได้รับรายงานว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ได้เชิญ ศอ.บต. กรมธนารักษ์ การรถไฟ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปประชุมเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อเร่งรัดให้การช่วยเหลือแก่โรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ที่ปัตตานีที่ประสบปัญหาไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนค่าขนส่งกับธุรกิจแบบเดียวกันที่แหลมฉบังได้ ขณะนี้ทาง ศอ.บต.กำลังทำรายงานสรุปผลการประชุมเพื่อนำเสนอต่อท่านรองนายกฯ ต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะพยายามผลักดันให้กองเรือพาณิชย์ของไทยได้กลับมาดำเนินการได้อีกวาระหนึ่ง เพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของพี่น้องชายแดนภาคใต้ต่อไป
‘ผมพบว่าการประชุมในวันนี้เป็นไปด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ ทุกคนต่างช่วยกันเสนอแนะและช่วยกันคิดที่จะหาทางออกใหม่ๆให้กับพี่น้องปัตตานี เราจากกันด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกัน’ นายสังศิต กล่าว