“วิษณุ” ปัด ปัดตอบ ปม “อานันท์” ถามนายกฯ ได้ยินเสียง เรียกร้อง กลุ่มนกเรียน นิสิตหรือไม่ ชี้ ไม่ขอขยายความ หวั่นบานปลาย ขณะเดียวกัน เห็นว่า ทุกฝ่ายควรหันหน้ามา พิจารณาตั้ง คณะกก.สมานฉันท์
วันที่ 30 ต.ค.63 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธให้ความเห็นกรณี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาให้ความเห็นว่ารัฐบาลควรฟังเสียงกลุ่มผู้ชุมนุมว่า ตนไม่ทราบ ตอนนี้ตนยังไม่ได้อ่านความเห็นดังกล่าว ยังไม่รู้เรื่อง ยังไม่รู้จะพูดอย่างไร อย่าไปเอาสิ่งที่ใครคนหนึ่งพูดแล้วเอามาถามต่ออีกคนหนึ่งเลย มันจะทำให้เกิดความบานปลาย เพราะถือว่าเป็นความคิดความเห็นหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า คำพูดของนายอานันท์อาจไปเพิ่มความชอบธรรมให้กลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่ขอวิจารณ์ และเมื่อถามว่า ข้อเสนอของนายอานันท์ น่าจะเป็นทางออกหนึ่งของประเทศในขณะนี้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ก็ดีแล้ว ถ้าตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ทุกอย่างควรไปสู่ที่ตรงนั้นและสามารถรับเอาความคิดเห็นของใครต่อใครมา แล้วมาคิดดูว่าจะหาทางออกอย่างไร”
เมื่อถามว่า ในส่วนของคณะกรรมการสมานฉันท์ฝ่ายค้านเหมือนจะไม่เข้าร่วมแล้ว จะตั้งคณะกรรมการได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่ตอบ แต่รู้สึกว่าเขายังไม่ปฏิเสธการเข้าร่วม เพราะเขาเองยังไม่เห็นรูปแบบว่าเป็นอย่างไร ตอนนี้ทุกคนยังไม่รู้ว่าหน้าตาของคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นอย่างไร อย่าว่าแต่ฝ่ายค้านเลย ฝ่ายไหนก็ยังไม่เห็นรูปแบบ เพราะฉะนั้น คงจะลังเลอยู่ เมื่อถามว่า อยากให้ทุกฝ่ายเข้าร่วมหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะรัฐบาลไม่ได้เป็นคนตั้ง
เมื่อถามว่า เมื่อตั้งขึ้นมาทุกฝ่ายควรเข้าร่วมเพื่อหาทางแก้ปัญหาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อย่าเพิ่งไปพูดตอนนี้เลย ตีปลาหน้าไซพูดซะตอนนี้เดี๋ยวจะตื่นตกใจกันหมด ว่ามีเล่อะไรแอบแฝงหรือไม่ ในส่วนของรัฐบาลจะเข้าร่วมหรือไม่นั้น ตอนนี้ยังไม่ได้คิดอะไรทั้งนั้นและยังไม่ได้มีการวางอะไรไว้เพราะยังไม่รู้เลยว่าจะทำอะไร ประกอบด้วยใครบ้าง ถ้ารู้แล้วเขาขอให้มีตัวแทนจากรัฐบาลเราคงต้องเอามาพูดกันในคณะรัฐมนตรี (ครม.)
เมื่อถามว่า มีการวิจารณ์ว่าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เป็นการซื้อเวลา นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบว่าเรียกว่าคณะกรรมการสมานฉันท์หรือไม่ แต่เท่าที่ฟังในการประชุมรัฐสภาทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลมีความเห็นตรงกันให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูในเรื่องเหล่านี้เอาปัญหาขึ้นมาพูด โจทย์ที่จะส่งไปให้มีหลายข้อ รวมทั้งข้อเสนอที่จะให้ไปฟังความเห็นจากประชาชนด้วยการทำประชามติ เพียงแต่มีคนติงซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ติงว่าตามมาตรา 166 รัฐบาลอาจมีการทำให้ความคิดเห็นประชามติหรือประชาพิจารณ์อะไรได้
“แต่การตั้งคำถามต้องไม่เป็นเรื่องบุคคล ดังนั้น อาจจะตั้งโจทย์อะไรที่ได้คำตอบให้กับสังคม โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องตัวบุคคล พยายามตั้งให้เป็นหลักการ เพราะฉะนั้น จะเรียกว่าคณะกรรมการสมานฉันท์หรือไม่ผมไม่รู้ อาจจะมาเรียกกันเองทีหลัง ส่วนที่วิจารณ์ว่าซื้อเวลานั้นผมคิดว่าทุกอย่างต้องใช้เวลาทั้งนั้น เพียงแต่ว่าถ้าใช้เวลานานเกินไปมันก็ซื้อ ถ้าใช้เวลาไม่นานมันก็ไม่ได้ซื้อ แต่อย่าไปหวังว่าทุกอย่างจะจบที่คณะกรรมการชุดนี้แล้วเลิก แฮปปี้แล้ว มันคงไม่ใช่แบบนั้นแน่ การเสนอทางออกอาจจะเป็นหลายทางก็ได้”นายวิษณุ กล่าว