“อานันท์” ชี้ รบ.เริ่มต้นผิดมา7ปีแล้ว จี้ ถาม “ประยุทธ์” ได้ยินเสียงเด็ก เรียกร้องหรือไม่

“อานัท์” แนะ รัฐบาล ให้แก้ปัญหาระยะยาว ชี้ สังคมขาดความยุติธรรม เสมอภาค และไม่มีทางสงบ ได้ถ้าไม่มีความเข้าใจระหว่างกัน จี้ ถาม “ประยุทธ์” ได้ยินเสียงเด็กเรียกร้อง หรือไม่ จะลาออกหรือไม่เป็นสิทธิ ชี้ภาพรวม รัฐบาลเริ่มต้นผิดมา7ปีแล้ว

วันที่ 29 ต.ค.63 ที่ โรงแรมแมริออท สุขุมวิท พาร์ค มีการจัดเวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 13 “จากรุ่นแอนะล็อกสู่ยุคดิจิทัล เราจะลดช่องว่างการสื่อสารด้วยความจริงใจและความงามได้อย่างไร” จัดโดยภาคีโคแฟค ประเทศไทย (Cofac) สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น มูลนิธิฟรีดิช เนามัน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้หลายคนเข้าใจว่าสถานการณ์บ้านเมืองเราอยู่ในภาวะวิกฤติ แต่คนในรุ่นตนมองว่าไม่ได้เป็นของผิดปกติอะไร เพราะเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาไม่รู้กี่ครั้งในระยะ 88 ปี ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาหลายครั้งในอดีต พอมีปัญหาทางการเมือง ทำไปทำมาสู้รบกันเสร็จ ก็มีการรัฐประหาร จากนั้นก็เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ พอเขียนเสร็จ ก็เลือกตั้งและตั้งรัฐบาล ต่อมาอีก 7-8 ปี ก็วนเวียนกลับมา มันไม่พ้นวงจรนี้ เพราะสิ่งที่เราทำมาในอดีต 88 ปี ไม่ว่าจะเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญ การตั้งรัฐบาล หรือ มีนโยบายต่างๆก็ดี เป็นเรื่องของการมองผลในระยะสั้นเท่านั้น มันไม่ได้มองประเด็นถึงแก่นรากของประเด็น มองประเด็นแต่เพียงผิวเผิน เมื่อมองผิวเผิน ก็ไม่รู้ว่าเหตุที่ทำให้เกิดประเด็นนี้ขึ้นมา มันมาจากอะไร เวลาแก้ก็ไม่ได้แก้ที่รากแต่ไปแก้ที่กิ่ง ใบ สาขา

ดังนั้นทางออกที่ผ่านมาในอดีต มันก็เป็นทางออกระยะสั้น เหมือนอย่างที่เมืองไทยต้องการความสงบเรียบร้อย ซึ่งความสงบเกิดจากอะไร หากเกิดเพราะกฎหมายที่ควบคุม อันนั้นเรียกว่า เป็นความสงบที่ผิวเผิน ความสงบที่แท้จริง ต้องเป็นความสงบที่ไม่ได้เกิดจากการบังคับ ไม่ได้มาจากเบื้องบนและไม่ได้มาจากเบื้องล่าง แต่เป็นความสงบที่ทุกฝ่ายพูดคุยกันแล้วยอมรับ ต้องมองว่าความสงบที่แท้จริงรากอยู่ที่ไหน ตนคิดว่าตราบใดที่สังคมไม่มีความยุติธรรม ไม่มีความเสมอภาค มันก็ไม่มีความสงบ อย่างไรก็ตามไม่มีสังคมไหนสงบ 100% อย่างน้อยหากจับเหตุของปัญหาที่ถูกต้องได้ โอกาสที่เราจะไปสู่สังคมที่มีความยุติธรรมมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำน้อยลงไป ให้คนมีโอกาสมากขึ้น เราก็น่าจะพอใจแล้ว

นายอานันท์ กล่าวว่า ในสายตาของตนพูดได้เลยว่า อันนี้เป็นข้อขัดแย้งระหว่างคนละรุ่น สำหรับตนนั้น เป็นดิจิทัล อิกนอแรนท์ เพราะไม่ได้ต้องการและไม่มีความอยากที่จะเข้าสู่ดิจิทัลเลย ถ้าเปรียบเทียบประวัติศาสตร์โลก ข้อขัดแย้งของเมืองไทยทุกสมัย เป็นข้อพิพาททางการเมืองโดยมีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง ไม่ใช่ข้อพิพาทบนพื้นฐานของศาสนาหรือเชื้อชาติ แต่เป็นเรื่องส่วนตัว และสำหรับความวุ่นวายที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ตนจะไม่พูดถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษา ความวุ่นวายมันอ่อนดีกรีมากกว่าในอดีต ไม่ว่าจะเป็น 14 ต.ค.16 หรือ 6 ต.ค.19 ซึ่งเป็นข้อพิพาททางด้านการเมือง ทั้ง 2 เหตุการณ์จบด้วยการปะทะกัน

นายอานันท์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การใช้อินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจเกิดขึ้น ไม่เหมือนพูดคุยกันต่อหน้า จึงต้องเปิดกว้างและรับฟังกันให้มาก สรุปแล้วตนคิดว่าปัญหาของทุกประเทศเป็นเรื่องที่น่าวิตกในเรื่องการสื่อสารสมัยใหม่ จึงเกิดเฟคนิวส์ต่างๆ ขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องระวังว่าเราจะอ่านหรือจะฟังอะไร เราอย่าไปเพิ่งมีข้อยุติเร็วนักว่าเป็นเพราะเหตุนั้นเหตุนี้ ต้องฟังและพิจารณาอย่างเที่ยงธรรมด้วย และความรุนแรงทางวาจาหรือเฮทสปีช จะทำให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพทันที

ทั้งนี้ นายอานันท์ เจ้าของฉายา “ผู้ดีรัตนโกสินทร์” ได้ตอบคำถามผู้ร่วมสัมมนา ถึง ประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญว่า การเขียนรัฐธรรมนูญต้องเขียนหลักการสำคัญ แต่ของเรามีปัญหา คือเริ่มต้นจากนักกฎหมายก่อน โดยไม่ได้เน้นที่ประชาชน หมกมุ่นอยู่กับแบบฉบับ หรือวิธีการเลือกตั้ง เขียนยาวละเอียดมากเกินไป และมีการหมกเม็ดในเรื่องต่างๆ มีผลใช้เมื่อมีกฎหมายลูก โดยให้นักการเมืองเขียน ถ้าผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนกฎหมายลูกเอง มันจะสอดคล้องกันได้อย่างไร การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เราต้องวางหลักเกณฑ์ว่าควรให้สั้น ไม่ลงรายละเอียดมากเกินไป และต้องดูมาตราที่สร้างปัญหา ที่มีปัญหาแน่นอน คือการแต่งตั้ง 250 ส.ว. และให้อำนาจตั้งนายกรัฐมนตรี อันนี้ต้องออกไปแน่ๆ เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการเดินขบวน เป็นสิ่งที่เยาวชนรุ่นใหม่ และเยาวชนรุ่นเก่าอย่างตน อยากที่จะเห็นว่าไม่ควรจะมีมาตรานี้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป รวมทั้งมาตรา 112 คุณจะเขียนอย่างไรก็ได้ แต่จะต้องไม่เป็นคดีอาญา คือไม่มีการลงโทษ ให้เป็นคดีแพ่ง มีค่าปรับเท่านั้น และไม่ใช่ปรับในอัตราที่สูงเกินไป

“อีกเรื่องที่จะเป็นปัญหา ผมไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะพูดว่าจะทำหรือไม่ทำ เด็กยืนยันว่านายกฯ เป็นตัวปัญหา คนรุ่นใหม่มองว่านายกฯ เป็นคนเดียวที่ปลดล็อกได้ จะปลดล็อกด้วยวิธีลาออกหรือไม่ ผมไม่รู้ ถ้าไม่ลาออกผมก็ไม่ว่าอะไร เพราะเป็นสิทธิของท่าน แต่ต้องรู้ว่าเขาเรียกร้องอย่างนั้น ท่านฟังหรือได้ยินหรือไม่ ผมก็ไม่รู้ แต่ถ้าจะเถียงกับเด็กรุ่นใหม่โดยอ้างกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มันไม่ไปไม่ถึงไหน เพราะเริ่มต้นมันผิดมาตลอดแล้ว มันผิดมา 7 ปีแล้ว คุณอาจจะไม่เห็นด้วย ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยทุกอย่าง แต่พยายามเข้าใจสถานะของท่านนายกฯ สถานะของรัฐบาลเหมือนกัน ถ้าไม่เข้าใจซึ่งกันและกันก็ต้องคุยกัน ท่านนายกฯ ถามว่า ผมทำอะไรผิด เป็นการพูดคนละภาษา เด็กพูดภาษาดิจิทัลแต่รัฐบาลยังพูดภาษาอนาล็อก สงครามการต่อสู้ก็คนละสนาม เด็กเล่นสนามนี้ ผู้มีอำนาจเล่นอีกสนามหนึ่ง ไม่เคยเจอกันและพูดกันคนละประเด็น ผมเห็นว่าสังคมโลกเขาพูดกันว่า คุณจะมีสันติภาพไม่ได้ ถ้าไม่มีความยุติธรรม และคุณจะไม่มีความยุติธรรม ถ้าคุณไม่มีความจริงใจระหว่างกัน” นายอานันท์ กล่าว