“ชวน” ถก4ฝ่าย วางกรอบ อภิปราย แก้วิกฤต “สุทิน”ห่วง ญัตติ ล่อแหลม

ปธ.สภาฯ นั่งหัวโต๊ะหารือ แบ่งกรอบเวลาอภิปราย 4 ฝ่ายถกหาทางออกประเทศ “สุทิน” ระบุหากไม่ใช่ทางออกจริงอาจทบทวนไม่เข้าร่วมอภิปรายด้วย ห่วงญัตติล่อแหลม ขณะ ก้าวไกลขอให้ใช้วุฒิภาวะตาม กม.

วันนี้ (22 ต.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานประชุม 4 ฝ่าย ได้แก่ ครม. ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว. เพื่อกำหนดประเด็นและกรอบเวลาในการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ วันที่ 26-27 ต.ค. เวลา 09.30 น. เพื่อหาทางออกให้ประเทศจากสถานการณ์ชุมนุมของประชาชนเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมการสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แถลงภายหลังการประชุมว่า ได้แบ่งกรอบเวลาอภิปรายเป็น 4 กลุ่ม รวม 23 ชั่วโมง ได้แก่ฝ่ายค้านได้ 8 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาล ส.ว. และ ครม.ได้ฝ่ายละ 5 ชั่วโมง และแบ่งเวลาให้ประธานรัฐสภาอีก 1-2 ชั่วโมง การประชุมในวันที่ 26 ต.ค.เริ่มเวลา 09.30-22.00 น. ส่วนวันที่ 2 จะอภิปรายต่อจนครบเวลาที่เหลืออยู่ หวังว่าในญัตติของรัฐบาลที่เสนอให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญครั้งนี้จะเป็นทางออกทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงบ้าง

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ฝ่ายค้านเห็นเนื้อหาในญัตติที่ฝ่ายรัฐบาลขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญแล้ว กังวลว่าจะขัดข้อบังคับการประชุมหรือไม่ หากจะมีการพูดถึงเรื่องสถาบัน และการประชุมครั้งนี้จะตอบสนองความคาดหวังของสังคมในการหาทางออกให้ประเทศได้จริงหรือไม่ ถ้าพิจารณาแล้วไม่ใช่ทางออกฝ่ายค้านอาจจะพิจารณาทบทวนไม่เข้าร่วมการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ หรือถ้าจะเข้าร่วมประชุมจะเป็นในลักษณะใด เพราะประเทศไทยไม่เคยมีญัตติในลักษณะนี้มาก่อน โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านจะหารือกันในวันที่ 22 ต.ค.เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว แต่ฝ่ายค้านจะพยายามทำงานร่วมกับรัฐบาล และ ส.ว. เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสังคมให้มากที่สุด

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในญัตติขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญของรัฐบาลมีการอ้างอิงถึงเรื่องขบวนเสด็จ ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 รวมถึงข้อเรียกร้องต่างๆ ของนักศึกษา 3 ข้อ เมื่อมีการกล่าวถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้ ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้อยากให้ใช้รัฐสภาเป็นตัวอย่างในการอภิปรายเรื่องเหล่านี้อย่างมีวุฒิภาวะ ผู้อภิปรายต้องอภิปรายภายใต้กรอบกฎหมายอย่างเหมาะสม

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.กล่าวว่า มองว่าการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญครั้งนี้แม้จะไม่ใช่ทางออกทั้งหมด แต่เป็นจุดเริ่มต้นการนำปัญหากลับเข้ามาในสภาเพื่อนำไปแก้ไข เช่นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนการอภิปรายเรื่องสถาบันนั้น หากจะอภิปรายต้องพูดอย่างมีวุฒิภาวะ ใครพูดอะไรต้องรับผิดชอบคำพูดของตัวเอง และรับผิดชอบหากสิ่งที่พูดไปทำให้เกิดความวุ่นวายในประเทศ