“เจ๊ะอารี รอตันหยง” เผยเรื่องราว “มัสยิดบูเก็ตตันหยง” ใต้ร่มพระบารมี “รายอ” ภูมิพล

203

นายเจ๊ะอารี รอตันหยง บิหลั่นมัสยิดบูเก็ตตันหยง และ จนท.พระตำหนักฯ หนึ่งพสกนิกรมุสลิมในแผ่นดินไทย เผยเรื่องราวจากส่วนลึกของหัวใจ ความรู้สึกซาบซึ้งสุขใจยิ่งที่ได้เป็นพสกนิกรไทยใต้ร่มพระบารมี ในหลวง รัชกาลที่9

“พ่อผมร่วมกับชาวบ้านถวายที่ดิน 333 ไร่บนเขาตันหยงเพื่อสร้างพระตำหนัก ในหลวง ร.9 ท่านให้ผู้ว่าฯ หาที่ดินมาให้ทดแทนและให้พวกเราสร้างบ้านอยู่ใกล้ ๆ จะได้เป็นเพื่อนบ้านอยู่ด้วยกัน ที่ว่าแปลกก็คือในเขตพระตำหนัก มีกุบัรเก่าแก่ของชุมชน โดยปกติแล้วบริเวณกุบัร คงจะไม่เหมาะที่จะสร้างพระตำหนัก เจ้าของสุสานเองก็คงไม่ชอบ แต่กลายเป็นว่า ราษฎรเองเต็มใจ พระองค์ท่านก็ไม่ทรงรังเกียจ และยังทรงให้ชาวบ้านมุสลิมเข้าออกเพื่อประกอบศาสนกิจได้ตามต้องการ ต่อมาได้มีการพัฒนาพื้นที่กุบัรปลูกต้นเฟื่องฟ้าเต็มไปหมดดูแล้วร่มรื่นสวยงาม เราเรียกว่า ลานเฟื่องฟ้า”

“ตั้งแต่มีพระตำหนักที่นี่ชีวิตชาวบ้านบนเขาตันหยงก็เปลี่ยนไป พวกเรามีความสุขสบายใจ มีงานทำท่านช่วยชาวบ้านทุกสิ่งทุกอย่าง มีฟาร์มตัวอย่าง มีศูนย์พิกุลทอง ลูกหลานที่นี่ไปทำงานที่นั่นกันหมด ผมเองก็ได้ทำงานในพระตำหนัก ตอนที่รับเสด็จฯ ครั้งแรก ทรงถามผมว่า “สบายดีมั๊ย ท่านมาอยู่ที่นี่อยากจะช่วย มีอะไรก็ให้พูดกัน” มัสยิดนี้ (มัสยิดบูเก็ตตันหยง) ท่านก็พระราชทานเงินให้ซ่อมแซม ท่านจะเสด็จฯ มาที่มัสยิดมาถามทุกข์สุขพวกเรา บ่อย ๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านเสด็จฯ มาพระราชทานเงินให้ 100,000 บาท พอทรงทราบว่า ที่มัสยิดมีปัญหาน้ำไม่พอใช้ ท่านทรงแก้ไขให้ทันทีเลย”

มัสยิดบูเก็ตตันหยงแห่งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่มักเรียกกันติดปากว่า “มัสยิดรายอ” หรือ มัสยิดในหลวง ซึ่งคำว่า “รายอ” เป็นคำที่ประชาชนในพื้นที่ใช้แทน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งถือเป็นพระมหากษัตริย์ของประชาชนคนไทยทุกคน

มัสยิดบูเก็ตตันหยง ก่อสร้าง ปี พ.ศ. 2515 มี นายหะยีนาหวัน รอตันหยง เป็นโต๊ะอิหม่ามคนแรก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จมาประทับ บริเวณชายหาดที่หมู่บ้านเขาตันหยง ซึ่งปัจจุบันเป็นเขตพระราชฐานชั้นกลางของพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ในปัจจุบัน

ซึ่งในสมัยนั้นมัสยิดบูเก็ตตันหยง มีลักษณะเป็นเรือนไม้ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว และด้วยประชาชนในพื้นที่ ได้ถวายที่ดินสร้างมัสยิดบูเก็ตตันหยงในสมัยนั้น ถวายให้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีการยกเรือนไม้ย้ายมาตั้ง ณ สถานที่ปัจจุบัน

โดยปัจจุบัน ยังคงใช้เป็นสถานที่ในการประกอบศาสนกิจของประชาชน และด้วยมีผู้มาร่วมประกอบสถานกิจจำนวนมากขึ้น ทำให้มัสยิดบูเก็ตตันหยง ซึ่งเป็นเรือนไม้มีความคับแคบ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ 300,000 บาท กับนายหะยีนาหวัน รอตันหยง เป็นโต๊ะอิหม่ามมัสยิดบูเก็ตตันหยง

ในการสร้างมัสยิดบูเก็ตตันหยงขึ้นใหม่ให้มีขนาดเพียงพอรองรับประชาชนในพื้นที่ที่มาประกอบศาสนกิจ และจัดสร้างเป็นปูนคอนกรีตขึ้นมา โดยจัดสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2528 และปัจจุบันมัสยิดบูเก็ตตันหยงมีการทาสีเขียวสดใสตั้งเด่นเป็นสง่าในพื้นที่ดังกล่าว

มัสยิดบูเก็ตตันหยงแห่งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งมัสยิด ที่มีเรื่องราวความผูกพันระหว่างประชาชนชาวมุสลิม ในพื้นที่กับสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะทุกครั้ง ในหลวง ร.9 เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมายังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ประชาชนในพื้นที่ก็จะเดินทางมาเฝ้ารอรับเสด็จ ด้วยความจงรักภักดี

 

ข้อมูลจาก….จากหนังสือ”สถาบันพระมหากษัตริย์กับมุสลิมในแผ่นดินไทย”โดย ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​