ผู้ว่าฯ กทม. สั่งซ่อมสะพานไทย – เบลเยี่ยม ให้เสร็จใน 1 เดือน ลดผลกระทบด้านการจราจร
(28 ก.พ. 60) เวลา 14.30 น. : พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายยุทธพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนางสาวตรีดาว อภัยวงศ์ โฆษกของกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจความเสียหายของสะพานไทย – เบลเยี่ยม หลังเกิดเหตุไฟไหม้บริเวณใต้สะพานดังกล่าว ซึ่งเป็นที่เก็บถังขยะของสำนักงานเขตปทุมวัน ที่สำรองไว้สำหรับนำไปใช้รองรับขยะมูลฝอยในที่สาธารณะรวมถึงไว้สับเปลี่ยนกรณีถังใบเก่าชำรุด เบื้องต้นกองพิสูจน์หลักฐานยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบหาสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดไฟไหม้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประเมินความเสียหายของสะพานเพื่อเร่งซ่อมแซมปรับปรุงให้สามารถเปิดใช้งานได้เร็วที่สุด
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่กำลังประสานให้กองพิสูจน์หลักฐานมาตรวจสอบหาสาเหตุของการเกิดเหตุที่แท้จริง คาดว่าไม่ใช่การวางเพลิงแน่นอน และจากการตรวจดูด้วยตาเปล่าของผู้เชี่ยวชาญจากสำนักการโยธาของกรุงเทพมหานคร และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) พบว่าโครงสร้างสะพานทั้งสองฝั่งได้รับความเสียหายแต่จะมีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่าเสียหายมากน้อยเพียงใด ซึ่งในช่วงเย็นวันนี้ (29 ก.พ.60) ทางนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ จะนำอุปกรณ์สำหรับตรวจรับน้ำหนักมาตรวจการรับน้ำหนักของสะพานทั้งส่วนที่ได้รับความเสียหายกับส่วนที่ไม่ได้รับความเสียหาย และในช่วงกลางคืนจะนำรถมาวิ่งเพื่อทำการทดสอบการรับน้ำหนักของรถที่วิ่งบนสะพาน เพื่อให้ทราบความเสียหายที่ชัดเจน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีการเปลี่ยนคานสะพานเนื่องจากคานสะพานเป็นเหล็กเมื่อโดนไฟที่มีความร้อนสูงเผาทำให้คานสะพานเหล็กเกิดการงอตัวและผิดรูป โดยกรุงเทพมหานครจะนำคานสะพานที่ฝากไว้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มาเปลี่ยนแทนของเดิมเนื่องจากหากสั่งทำใหม่จะใช้เวลานาน และจะส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรกับประชาชน โดยได้มอบหมายสำนักการโยธาเร่งหาผู้รับเหมาที่จะมาดำเนินการซ่อมแซมสะพานให้ได้ในวันพรุ่งนี้(1 มี.ค.60) เพราะหากการดำเนินการล่าช้าจะส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน สำหรับกรอบการดำเนินการวางไว้ไม่เกิน 45 วัน แต่จะเร่งดำเนินการซ่อมแซมให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรกับประชาชนให้น้อยที่สุด
สำหรับสะพานไทย – เบลเยี่ยม ก่อสร้างครั้งแรกในปี 2501 ตั้งอยู่ที่ประเทศเบลเยี่ยม เป็นสะพานฉุกเฉินที่สามารถรื้อถอนแล้วไปสร้างตามสถานที่ต่างๆ ได้ ต่อมาทางประเทศเบลเยี่ยมได้มอบสะพานดังกล่าวให้ประเทศไทยในโอกาสเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศเบลเยี่ยม โดยเริ่มก่อสร้างสะพานในปี 2531 โดยการสนับสนุนเหล็กโครงสร้างสะพานจากรัฐบาลเบลเยี่ยม และที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ทำการซ่อมแซมใหญ่สะพานไทย – เบลเยี่ยมในปี 2536 และปี 2540 จากนั้นได้ดำเนินการปรับปรุงการก่อสร้างสะพานในปี 2556 อย่างไรก็ดีเพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้สะพานไทย – เบลเยี่ยม กรุงเทพมหานครได้ทำการตรวจสอบความแข็งแรงของสะพานเป็นประจำทุกปี
———————— (พัทธนันท์…กปส. รายงาน)