กรณีน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษษตรและสหกรณ์ ผลักดันให้มีการจัดตั้ง ‘องค์การมหาชาฮาลาล’ ได้เกิดปฏิกริยาทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ล่าสุด ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี อดีตกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ผู้แทน จ.เชียงใหม่ ได้ออกจดหมายเปิดผนึกสนับสนุน
ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี อดีตกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ออกจดหมายเปิดผนึกว่าด้วย บทสนทนาว่าด้วยแนวคิดการพัฒนากิจการหะลาลของคุณมนัญญา ไทยเศรษฐ์ (รมช. การเกษตรฯ) โดยระบุว่า
จากประสบการณ์ในฐานะอดีตกรรมการกลางอิสลามฯ ผมขอสนับสนุนแนวคิดคุณมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ด้วยเหตุผลดังนี้ครับ
จากข้อกังวลของ อ.ประสาน ศรีเจริญ ที่ว่า “ทุกวันนี้มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการตรวจรับรองฮาลาลมีจำนวนมาก ในจำนวน 40 จังหวัดที่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และมีผู้เกี่ยวข้องนับ 100 คน ถ้านำเงินของรัฐไปสนับสนุนจะจ่ายเป็นเงินเดือนหรือเบี้ยเลี้ยง ถ้าให้ในนามส่วนบุคคลจะนำไปสู่ข้อครหาว่า เป็นการนำเงินภาครัฐมาให้กับมุสลิมได้” และ “หากธุรกิจที่ขอการรับรองฮาลาลได้รับสัมปทานจากรัฐ หรือมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีอำนาจภาครัฐ จะเข้ามาครอบงำการตรวจรับรองฮาลาลหรือไม่ ซึ่งจะทำให้เสียหลักการทางศาสนาได้”
ผมมีความเห็นส่วนตัวในเรื่องนี้ ดังนี้
- รูปแบบขององค์กรที่จะตั้งขึ้นใหม่ (ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็ตาม) จะต้องยังคงดำเนินการโดยมุสลิมภายใต้การตรวจสอบมาตรฐานหะลาลโดยมุสลิมและยืนอยู่บนหลักการศาสนาอิสลาม
- เงินรายได้ทุกอย่างจากการรับรองหะลาล (เงินค่าธรรมเนียม ค่าที่ปรึกษา ค่าใบรับรอง ฯลฯ) จะต้องให้นำเข้าองค์กรที่จะตั้งขึ้นใหม่นี้ และมอบกลับคืนให้รัฐทั้งหมด ดังนั้น เพื่อนต่างศาสนิกไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ หรือคนทั่วไปนอกจากจะไม่สามารถกล่าวหาได้ว่า “หะลาล” เป็นผลประโยชน์สำหรับมุสลิมเท่านั้น แต่กลับจะแสดงถึงคุณค่าของธุรกิจหะลาลภายใต้การดำเนินการขององค์กรมุสลิมว่าได้สร้างผลประโยชน์มหาศาลให้กับรัฐและสังคมไทยโดยส่วนรวม
- ในขณะเดียวกัน เงื่อนไขสำคัญที่ภาครัฐเองจะต้องเข้าใจก็คือ องค์กรศาสนาอิสลามไม่ได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนจากรัฐโดยตรงเพื่อการบริหารและการพัฒนาสังคมมุสลิมโดยรวม (มีแค่ค่าเบี้ยประชุมของกรรมการอิสลามประจำจังหวัด กรรมการกลางอิสลามฯ และเงินประจำตำแหน่งอิหม่าม-คอเต็บ-บิหลั่น) ดังนั้น รัฐก็จะต้องให้เงินงบประมาณเพื่ออุดหนุนองค์กรศาสนาอิสลามในด้านต่างๆ เป็นการกลับคืนด้วย ซึ่งสังคมไทยโดยรวมย่อมมองว่านับเป็นความสมเหตุสมผลที่องค์กรมุสลิมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนนี้ เพราะองค์กรมุสลิมได้นำเงินทุกบาทจากกิจการหะลาลส่งเข้ารัฐแล้ว ซึ่งได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลให้กับสังคมไทย ดังนั้น ข้อครหาที่ว่าเป็นการนำเงินภาครัฐมาให้กับมุสลิมได้ก็จะไม่มีน้ำหนัก ในขณะเดียวกัน เงินทุกบาททุกสตางค์จากงบฯ อุดหนุนนี้จะได้สามารถได้รับการตรวจสอบถึงความโปร่งใสในการเอาไปใช้จากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
ที่ผ่านมา เราต้องยอมรับว่าประเด็นกิจการหะลาลของกรรมการรกลางอิสลามฯ นั้น ถูกโจมตีจากสังคมว่ามีผลประโยชน์มหาศาลบ้าง เป็นแดนสนธยาบ้าง ซึ่งจะเป็นจริงเช่นดังข้อหาเหล่านั้นหรือไม่ ผมว่าบรรดากรรมการกลางอิสลามฯ คงทราบดี เพียงท่านที่เป็นกรรมการกลางอิสลามฯ อยู่ตอนนี้ (ไม่ต้องเป็นมุสลิมทั่วไปก็ได้) สามารถตอบคำถามให้กับตัวเองได้หรือไม่ว่า ทุกวันนี้ ฝ่ายกิจการหะลาลมีบัญชีกี่บัญชี แต่ละปีมีเงินเข้าฝ่ายกิจการหะลาลเป็นเงินเท่าไหร่? จากส่วนไหนบ้าง? จ่ายไปไหน? เป็นเงินเท่าไหร่? (ซึ่งเป็นเรื่องที่กรรมการกลางอิสลามฯ ทุกคนควรรับรู้) หากท่านที่เป็นกรรมการกลางอิสลามสามารถตอบได้ ผมขอเป็นผู้หนึ่งที่จะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของคุณมนุญญา ไทยเศรษฐ์ ในเรื่องนี้ แต่หากท่านตอบไม่ได้ ผมว่าถึงเวลาที่ฝ่ายหะลาลขององค์กรสูงสุดของศาสนาอิสลาม (ที่ได้ตำแหน่งมาจากการโปรดเกล้าฯ) และเป็นอะมานะฮ์สำคัญที่จะต้องกลับไปตอบพระผู้เป็นเจ้า สมควรที่จะต้องได้รับการรับรู้ในที่ประชุมกรรมการกลางอิสลามฯ พร้อมกับสังคมมุสลิมโดยส่วนรวม และได้รับการพัฒนาตามแนวคิดของคุณมนัญญา ไทยเศรษฐ์ เพื่อสังคมจะได้เห็นว่า องค์กรในศาสนาอิสลาม มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่ได้เป็นดังที่สังคมตั้งข้อครหาในทางไม่ดีตลอดมาแต่อย่างใด
ผมหวังว่าสังคมมุสลิมจะได้มีการพูดคุย ถกเถียง เกี่ยวกับเรื่องนี้กันต่อไปอย่างจริงจัง บนพื้นฐานเพื่อผลประโยชน์สู่สังคมมุสลิมและสังคมไทยโดยรวมอย่างแท้จริง….วั้ลลอฮ์ อะอ์ลัม
วะบิ้ลลาฮิ วั้ลฮิดายะฮ์
สุชาติ เศรษฐมาลินี
อดีตกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ผู้แทน จ.เชียงใหม่