มีปฏิกริยาแล้ว หลัง’มนัญญา’ดันตั้ง ‘องค์การมหาชนฮาลาล’ฟัง ‘อ.ประสาน’ พูด

แนวคิดของมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ผลักดันจัดตั้ง องค์การมหาชนฮาลาล มีปฏิกริยาจากระดับแกนนำคณะกรรมการกลางอิสลามฯแล้ว สะท้อนมุมมองที่ ต้องรับฟัง

กรณีน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอแนวคิดออกกฎหมายจัดตั้งองค์การมหาชนฮาลาล เพื่อขับเคลื่อนฮาลาลประเทศไทยนั้น นายประสาน ศรีเจริญ รองประธานผู้ทรงคุณวุฒิ จุฬาราชมนตรีและ รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทราบว่า ยังเป็นเพียงแนวคิด ยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน แต่ตามข้อเสนอนี้ มีความเป็นห่วง คือ

ประการแรก ผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการตรวจรับรองฮาลาลมีจำนวนมาก ในจำนวน 40 จังหวัดที่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และมีคณะกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาล มีผู้ทำงานหลาย 10 คน อย่างกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ หรือปทุมธานี ที่มีการขอการรับรองฮาลาลจำนวนมาก มีผู้เกี่ยวข้องนับ 100 คน ถ้านำเงินของรัฐไปสนับสนุน จะจ่ายเป็นเงินเดือนหรือเบี้ยเลี้ยง ถ้าให้ในนามส่วนบุคคลก็ไม่เห็นด้วย เพราะจะนำไปสู่ข้อครหาว่า เป็นการนำเงินภาครัฐมาให้กับมุสลิมได้

ประการต่อมา หากธุรกิจที่ขอการรับรองฮาลาลได้รับสัมปทานจากรัฐ หรือมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีอำนาจภาครัฐ จะเข้ามาครอบงำการตรวจรับรองฮาลาลหรือไม่ ซึ่งจะทำให้เสียหลักการทางศาสนาได้

‘รองวิษณุ (นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี) เข้าใจประเด็นนี้ ในการหารือกับคณะกรรมการกลางฯ วันก่อน ได้พูดในที่ประชุมว่า การตรวจรับรองฮาลาล จะต้องเป็นองค์กรศาสนา’ นานประสาน กล่าวและว่า ยังมีความเป็นห่วงเรื่องความต่อเนื่องในการบริหาร เมื่อไม่มีน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ เป็นรัฐมนตรี ใครจะมากำกับดูแลต่อ จะมีปัญหาในการบริหารหรือไม่ จะเหมือนกับบางองค์กรที่มีปัญหาอยู่ในทุกวันนี้หรือไม่

เมื่อถามว่า การผลักดันจัดตั้งองค์การมหาชน เนื่องจากต้องการแก้ปัญหาผู้ประกอบการฮาลาลร้องเรียน รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาการเรียกเก็บการตรวจรับรองฮาลาลแพง มีการระบุว่า เป็นแสนนั้น เป็นการเรียกจากนายหน้าที่เรียกจากผู้ประกอบการ ไม่ใช่จากหน่วยงานที่ตรวจรับรองฮาลาลโดยตรง เพราะการตรวจรับรองฮาลาล ในการตรวจโรงงานกำหนดไว้โรงงานขนาดใหญ่ไม่เกิน 35,000 บาทต่อปี รวมค่าที่ปรึกษาในแต่ละเดือนด้วย ก็ประมาณ 50,000 บาท ไม่ได้เป็น 100,000 บาทอย่างอย่างที่พูดกัน แต่ผู้ประกอบการบางคนเข้าไม่ถึง ก็ตกเป็นเหยื่อของนายหน้า ซึ่งคณะกรรมการกลางฯ จะต้องประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึงในการขั้นตอนการขอตรวจรับรองฮาลาล

สำหรับการตรวจรับรองฮาลาล มี 3 ระดับ โรงงานขนาดเล็ก ค่าธรรมเนียม 15,000 บาท ขนาดกลางเสียค่าธรรมเนียม 25,000 บาท และขนาดใหญ่ ค่าธรรมเนียม 35,000 บาท ค่าที่ปรึกษาเดือนละ 1,000 บาท แต่หากจะออกผลิตภัณฑ์ เสียค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ละ 500 บาท ซึ่งปัจจุบันมีผู้ขอการรับรองจำนวน 150,000 ผลิตภัณฑ์ โดยผู้ประกอบการสามารถขอรับการรับรอง ได้ที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ในจังหวัดที่มีคณะกรรมการฯ ซึ่งมี 40 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่ไม่มี จะต้องขอกับส่วนกลาง คือคณะกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาล คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

มีรายงานว่า ที่มาของการผลักดันจัดตั้งองค์การมหาชนฮาลาล มาจากการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และพูดถึงเรื่องการส่งออกสินค้าฮาลาล ที่มีการส่งออกเป็นลำดับที่ 9 ของโลก ต้องการให้อยู่ 1 ใน 5 ของโลก และสอบถามว่า เรื่องฮาลาลมีปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง ซึ่งน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้รับอาสาเข้ามาดูแล โดยอาสัยความเป็นมุสลิม ต่อมานายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้เชิญคณะกรรมการกลางอิสลามฯ เข้าพบหารือ นำโดยพล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ แต่ไม่ได้มีหารพูดถึงจัดตั้งองค์มหาชนฮาลาล คาดว่า เป็นแนวคิดของน.ส.มนัญญาเอง ที่ได้รับจากที่ปรึกษาที่ไม่ใช่มุสลิม และนำเสนอในที่สัมมนา หน่วยรับรองฮาลาลทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ภัตตาคารสินธรสเต็กเฮาส์ จนกลายเป็นถกเถียงในวงสังคมอย่างกว้างขวาง ซึางอาจจะมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจในการตรวจรับรองฮาลาลของ น.ส.มนัญญาเอง