“ศักดิ์สยาม”เปิดงาน คมนาคมเคียงข้างคนไทย ลุยเต็มสูบ ดัน EEC กระตุ้นเศรษฐกิจ

รมว.คมนาคม เปิดงาน “MOT 2020 Move on Together คมนาคมเคียงข้างคนไทย ฟื้นฟูเศรษฐกิจฝ่าวิกฤติ COVID-19” ผลักดัน ระเบียงเศรษฐกิจเต็มสูบ บก เรือ ราง และ อากาศ โดยเฉพาะ เส้นทางเลียบชายฝั่งทะเล อ.แกลง-ระยอง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการและการเสวนา “MOT 2020 Move On Together คมนาคมเคียงข้างคนไทย ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฝ่าวิกฤติ COVID-19” ที่ห้องนภาลัย รร.ดุสิตธานี พัทยา โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าฯชลบุรี ผู้บริหารระดับสูง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนและสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน

โดยกล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น รัฐบาลทำงานอย่างเต็มที่เพื่อเร่งหามาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบและฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจซึ่งหดตัวลงให้กลับมาขยายตัวเป็นบวกขึ้น ซึ่งกระทรวงฯ เป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการเดินหน้าทางเศรษฐกิจ มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลด้านการคมนาคม ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง โดยเฉพาะภาคตะวันออก เพื่อสนับสนุนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ได้เร่งรัดพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ให้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการพัฒนา ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 7 ส่วนต่อขยายช่วงพัทยา – มาบตาพุด และช่วงมาบตาพุด – เชื่อมเข้าท่าอากาศยานอู่ตะเภา พัฒนาทางหลวงชนบทเลียบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก Thailand Riviera ถนนเฉลิมบูรพาชลทิต

รวมถึงพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 7 โครงการ และได้รับงบปี 2564 อีก 2 โครงการ เพื่อเติมเต็มโครงข่ายการเดินทางการขนส่งสินค้าสู่ภาคตะวันออกและพื้นที่ EEC และยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งภูมิภาคอาเซียน กระทรวงฯ ยังมีวิสัยทัศน์ที่จะพลิกโฉมการขนส่งระบบรางของไทย เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและกระจายความเจริญสู่ภาคตะวันออก โดยเปิดมิติใหม่การเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร

คาดว่าพร้อมเปิดให้บริการในปี 2570 การก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า – แก่งคอย และผลักดันการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา – ระยอง และช่วงมาบตาพุด – ระยอง – จันทบุรี – ตราด ซึ่งในอนาคตจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ Thailand 4.0 ส่งเสริมการค้าการลงทุน สนับสนุนการท่องเที่ยว นอกจากนี้ เมืองพัทยายังได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 3 เมืองต้นแบบในการพัฒนา TOD ตามแผนการดำเนินการศึกษาจัดทำแผนแม่บท TOD ทั่วประเทศ 177 แห่ง

นอกจากนี้ยังมีการสร้างทางหลวงชนบทเลียบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ไทยแลนด์ริเวียร่า ถนนเฉลิมบูรพาชลทิต เพิ่มอีก 95 กิโลเมตร โดยเริ่มที่ อ.แกลง จ.ระยอง และไปสิ้นสุดที่ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 64 ขณะเดียวกันยังได้เร่งรัดการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โดยได้มอบให้นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เร่งเคลียร์ย้ายผู้บุกรุกออกจากพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ยังเหลืออยู่ประมาณ 40 ราย จากทั้งหมด 400 กว่าราย มั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ได้ครบทั้งหมดในเดือน มี.ค.64

ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ขณะนี้ทราบผลผู้ชนะการประมูลโครงการเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนการเจรจาให้ได้ราคาที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือน พ.ย.นี้ และยังเตรียมพัฒนาศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมการบินต่อไป อย่างไรก็ตามในปี 64 มีแผนจะผลักดันการจัดตั้งศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP แบบถาวร เพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ตลอดทั้งปี โดยมอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), กรมท่าอากาศยาน(ทย.), บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. และกรมเจ้าท่า (จท.) ไปพิจารณาจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมแล้ว