หัวเลี้ยวหัวต่อ : ประสบการณ์ 6 ตุลาคม ของดร. กิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม

158

บทประพันธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “Bon Voyage บันทึกความทรงจำดีๆถึงพ่อ” ของ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ดร. กิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ ที่เขียนขึ้นเพื่อแจกในงานพระราชทานเพลิงศพพ่อเมื่อปี 2557 ต่อมาสำนักพิมพ์มติชนได้นำมาพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2558 ในชื่อ “Bon Voyage บนเส้นทางข้าแผ่นดิน” หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับสอง ประเภทสารคดีทั่วไป จากคณะกรรมการตัดสินหนังสือดีเด่น “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด” ประจำปี 2559 ดร.กิตติพงษ์ นำบางส่วนมาเผยแพร่อีกครั้งเพื่อรำลึกถึงการจากไปของพ่อเมื่อ 6 ปีมาแล้วในช่วงย่ำรุ่งของวันที่ 4 ตุลาคม 2557 บนเฟซบุ๊กส่วนตัว Mtoday จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่

หัวเลี้ยวหัวต่อ

สำหรับเด็กต่างจังหวัดการสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง เมื่อผมเรียนสำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดจากโรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทราคือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ หรือม.๔ ในปัจุบัน ผมก็สอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาสายวิทย์ได้

ด้วยความที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ในขณะนั้นมีคณะครูที่อุทิศเวลาทุ่มเทในการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย นำทีมโดยมาสเตอร์มนัส ไตรภพ ครูประจำชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ก.ที่ผมเรียนอยู่ พวกเราต่างพากันสอบเข้าโรงเรียนเตรียมฯได้ยกห้องเหมือนดังเช่นทุกๆปี

ปี ๒๕๑๗ จึงเป็นปีที่ผมเดินทางมาศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่กรุงเทพ ไม่น่าเชื่อว่าผมชีวิตผมช่างบังเอิญซ้ำรอยกับชีวิตพ่อที่เดินทางจากจังหวัดฉะเชิงเทราเข้ามาศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข หลังจากเรียนจบจากโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ที่ฉะเชิงเทราแล้วเช่นกัน
ในสมัยนั้นการเข้าเรียนสายวิทย์ดูจะเป็นค่านิยมของเด็กเรียนดี ผมเองก็เลือกเรียนสายวิทย์ตามเพื่อนๆโดยไม่รู้เลยว่าจริงๆตัวเองชอบอะไร
๒ ปีของผมในโรงเรียนเตรียมอุดมระหว่างพ.ศ. ๒๕๑๗ ถึง ๒๕๑๙ เป็นช่วงเวลาที่มีอะไรเกิดขึ้นในชีวิตเยอะมาก เรื่องราวหลากหลายเกิดขึ้นพร้อมๆกันจนแทบจับต้นชนปลายไม่ถูก
การได้เดินทางจากต่างจังหวัดเข้ามาอยู่ในกรุงเทพเมืองหลวงของประเทศไทย การเปลี่ยนชีวิตจากโรงเรียนชายล้วนเป็นสหศึกษา การได้สัมผัสกับบรรยากาศเสรีภาพทางความคิดหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม การได้ใช้ชีวิตอย่างผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯอย่างอิสระ ทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อมๆกันอย่างรวดเร็วมาก
เหมือนกับเราดูหนังที่เขียนบทสับสนไม่เป็นระบบ แถมสปีดในการฉายยังรวดเร็วกว่าปกติเพราะมีเนื้อหามาก และภาพที่ปรากฎก็เป็นสีบ้าง ขาวดำบ้าง เบลอบ้าง ชัดบ้าง
แม้ว่าจะไม่สามารถจดจำรายละเอียดได้ทั้งหมดแต่ผมรู้ว่าเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต เมื่อมองย้อนกลับไปชีวิตผมในขณะนั้นเหมือนกับรถที่อาจจะเลี้ยวผิดเลี้ยวถูกบ้าง ผ่านทางขรุขระบ้าง เข้าซอยตันบ้าง แต่ด้วยความรักและสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับครอบครัวทำให้ผมสามารถถอยวนเวียนกลับมาบนถนนใหญ่ได้ทุกครั้ง
บทบาทของนักเรียนเตรียมอุดมหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคมเป็นช่วงเวลาพิเศษไม่เหมือนยุคใด เพราะเป็นยุคที่นักเรียนและนักศึกษามีบทบาทมากที่สุด จนมีการเรียกกันว่าเป็นยุค “นักศึกษาครองเมือง” การบริหารงานของนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมฯขณะนั้นทำกันเองโดยคณะกรรมการนักเรียนที่เรียกว่า “คณะกรรมการห้อง ๖๐” กลุ่มกิจกรรมต่างๆของโรงเรียนที่มีอย่างมากมายที่เรือนเหลืองต่างก็ดำเนินไปอย่างอิสระไม่อยู่ภายใต้การกำกับของใคร ในฐานะประธานนักเรียนโรงเรียนเซนต์หลุยส์ที่เป็น “เด็กกิจกรรม” มาตลอด ผมสนุกกับโอกาสที่เกิดขึ้นจากช่วงเวลาพิเศษนี้มาก
ช่วงนั้นพ่อแม่ซื้อบ้านที่หมู่บ้านเสรีไว้ให้ผมเป็นที่พักมีแม่บ้านคอยดูแลบ้านและทำกับข้าว ด้วยเหตุที่พ่อแม่น้อยครั้งที่จะเข้ามาอยู่ที่บ้านนี้ผมจึงเป็นเจ้าของบ้านไปโดยปริยาย ด้วยความใจดีของพ่อแม่ เพื่อนๆของผมตั้งแต่อยู่เตรียมอุดมเรื่อยมาจนถึงตอนเรียนนิติศาสตร์ต่างมีความหลังกับบ้านหลังนี้ เพราะจะเป็นบ้านที่ทุกคนสามารถแวะมาค้างคืน มาสังสรรค์ (เมา) หรือมาติวหนังสือ (ยามจวนตัวใกล้สอบ) ได้เสมอ พ่อแม่ให้คนดูแลเรื่องข้าวปลาอาหารเสบียงกรังไม่เคยขาด ทำให้ชีวิตผมในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงแห่งความสนุกแบบไม่รู้จบ มีทั้งกิจกรรมกับเพื่อนตามภาษาวัยรุ่น กิจกรรมการเมือง กิจกรรมโรงเรียนที่หลากหลาย ฯลฯ
ด้วยความสนุกและเพลิดเพลินกับเสรีภาพและความเป็นผู้ใหญ่ที่ถาโถมเข้าใส่อย่างรวดเร็วทำให้ผมแทบจะไม่ได้เข้าเรียนในห้องเรียน และในที่สุดด้วยความกลัวที่จะไม่มีสิทธิ์เข้าสอบที่เตรียมอุดมเพราะเวลาเรียนไม่พอ ผมต้องไปสอบเทียบสายศิลป์ในช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๑๘ เผื่อเอาไว้เพื่อเอาคุณวุฒิมาใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ในระหว่างที่พวกเรากำลังเพลิดเพลินกันอย่างเต็มที่นั้น ภาพใหญ่ทางการเมืองทั้งในระดับภูมิภาคและภายในประเทศก็เริ่มเขม็งเกลียวแห่งความตึงเครียดโดยเราไม่รู้ตัว การยึดเวียดนามใต้ของคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือหลังไซ่ง่อนแตกในเดือนเมษายน ๒๕๑๘ การยึดพนมเปญโดยเขมรแดงในเดือนเดียวกัน และการยึดอำนาจของขบวนการปะเทดลาวซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ในประเทศลาวในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าประเทศไทยจะเป็นเป้าหมายต่อไปตามทฤษฎีโดมิโน
สำหรับการเมืองภายในประเทศนับเป็นช่วงเวลาแห่งความสับสนทางความคิดอย่างมาก สังคมมีการแบ่งขั้วเป็นซ้ายและขวาแบบสุดโต่ง การเมืองมีความอ่อนแอไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขบวนการนักศึกษาประชาชนที่เริ่มต้นจากอุดมการประชาธิปไตยเริ่มมีการแบ่งขั้วซ้ายขวาอย่างชัดเจน มีการแสดงตัวอย่างชัดเจนของกระบวนการสังคมนิยมที่มีอิทธิพลจากพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยหนุนหลัง และในขณะเดียวกันก็มีการจัดตั้งกลุ่มขวาพิฆาตซ้าย ทั้งกลุ่มนวพล กลุ่มลูกเสือชาวบ้านและกลุ่มกระทิงแดง ซึ่งเป็นการจัดตั้งขบวนการนักเรียนอาชีวะขวาจัดเพื่อจัดการกับกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่มีอุดมการสังคมนิยม
ความสับสนวุ่นวายของการเมืองภายในประเทศบวกกับการเมืองในภูมิภาคทำให้บรรยากาศของประเทศไทยตอนนั้นเมื่อมองย้อนกลับไปเหมือนอยู่บนปากปล่องภูเขาไฟที่พร้อมจะปะทุขึ้นได้ตลอดเวลา
…….
แล้วในที่สุดการปฐมบทของพลังประชาชนต่อสู้เผด็จการจาก ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ที่เริ่มด้วย People Power ที่ดูสวยงามก็ต้องมาจบลงอย่างหักมุมด้วยเหตุสังหารหมู่กลางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ อันเป็นช่วงที่ผมเข้าเป็นนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯปีที่ ๑
แม้จะจบจากเตรียมอุดมและเริ่มเข้าเรียนที่นิติศาสตร์ จุฬาฯ ผมกับเพื่อนๆจากเตรียมอุดมที่สอบเอ็นทรานซ์ติดเข้าเรียนมหาวิทยาลัยหลายๆแห่งก็ยังจับมือกันในการทำกิจกรรมร่วมกันอยู่ตลอด ผมจึงพบว่าแม้ตัวเองจะเรียนอยู่จุฬาฯแต่ก็ไม่เคยพลาดการร่วมกิจกรรมที่ธรรมศาสตร์ อันเป็นศูนย์กลางและเป็นสัญญลักษณ์แห่งพลังนิสิตนักศึกษา
ด้วยความสับสนของข่าวสารข้อมูลและโฆษณาชวนเชื่อจากฝ่ายต่างๆ แม้ในกลุ่มนิสิตนักศึกษาเองในตอนนั้นก็ไม่ได้มีความคิดเป็นเอกภาพ แต่เหตุการณ์หนึ่งที่สามารถรวมพลังนักศึกษาที่มีความคิดเห็นต่างกันให้เป็นหนึ่งเดียวมากที่สุดคือเหตุการณ์การประท้วงการเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๑๙ เรื่องนี้แม้ในสายตาของบางฝ่ายอาจจะไม่เป็นธรรมสำหรับจอมพลถนอมฯและครอบครัว เพราะเหตุการณ์ในช่วงนั้นมีข้อเท็จจริงหลายเรื่องที่สับสนและบางฝ่ายมองว่าจอมพลถนอมฯได้แสดงความเสียสละเดินทางออกไปนอกประเทศเพราะเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่ในมุมมองของนักศึกษาส่วนใหญ่ในขณะนั้นภาพของจอมพลถนอมฯที่กลับเข้ามาในประเทศไทย เป็นเสมือนการทำลายสัญญลักษณ์แห่งชัยชนะของประชาชนในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เพราะรูปธรรมของชัยชนะคือการออกไปจากประเทศของจอมพลถนอมฯ การประท้วงต่อต้านการเดินทางเข้ามาของจอมพลถนอมฯจึงเป็นประเด็นรวมพลังของนักศึกษาซึ่งแม้มีระดับอุดมการณ์ต่างกัน ได้ดีที่สุด
ในระหว่างนั้นผมกับเพื่อนเก่าจากเตรียมอุดมหลายคนที่เรียนอยู่หลากหลายมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เข้าร่วมประท้วงในเหตุการณ์อื่นก็ได้ตัดสินใจเข้าร่วมประท้วงเหตุการณ์ในครั้งนั้นกันอย่างคึกคัก โดยใช้บ้านผมที่หมู่บ้านเสรีเป็นที่พักนอน
เช้ามืดของวันที่ ๖ ตุลาคมก่อนที่ผมจะเดินทางไปที่ธรรมศาสตร์ แม่เดินทางมารับผมที่หมู่บ้านเสรีเพราะรู้ว่าหากสายกว่านั้นผมต้องกลับไปที่ธรรมศาสตร์อีกแน่นอน แม่บอกว่าดูสถานการณ์ตั้งแต่คืนวันที่ ๕ ตุลาคมมีความน่าเป็นห่วงเลยรีบมาพาตัวผมกลับไปอยู่ที่จวนผู้ว่าฯที่ฉะเชิงเทรา
ในเย็นวันนั้นเองได้มีการยึดอำนาจการปกครองโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ต่อมาในวันที่ ๘ ตุลาคมได้มีการแต่งตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียรเป็นนายกรัฐมนตรี
…….
เหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เป็นบาดแผลในใจผมเช่นเดียวกับเพื่อนๆนักศึกษาจำนวนมาก หลายคนเข้าไปต่อสู้ในป่าเพราะไม่สามารถยอมรับอำนาจรัฐอีกต่อไป หรือกังวลเรื่องความปลอดภัย สำหรับผมนับเป็นเวลาที่สับสนและยากลำบากช่วงหนึ่งในชีวิต แต่เมื่อผมคิดย้อนกลับไปช่วงเวลาดังกล่าวคงเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับพ่อที่มีลูกที่มีอุดมการณ์ในทางการเมืองเป็นของตัวเองอย่างผมเช่นกัน
พ่อเป็นนักปกครองที่มีประสบการณ์ยาวนานในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในสมรภูมิอีสานระหว่างปี ๒๕๑๒ ถึง ๒๕๑๗ หลังวันเสียงปืนแตก ๘ สิงหาคม ๒๕๐๘ อันเป็นวันที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยใช้กองกำลังโจมตีกำลังของรัฐบาลไทยเป็นครั้งแรก แม้พ่อจะเป็นผู้ที่ยึดมั่นในสันติวิธีและมุ่งเน้นงานพัฒนาชุมชนมาตลอดชีวิต แต่พ่อก็มีประสบการณ์จริงอันยาวนานที่ทำให้เห็นถึงความโหดร้ายและความรุนแรงสืบเนื่องจากความเห็นต่างทางการเมืองที่ไม่สามารถแสวงหาจุดร่วมที่เป็นทางออก ผมยังจำที่พ่อเคยเล่าภายหลังจากเกษียณแล้วถึงความเสี่ยงชีวิตตอนอยู่อีสาน โดยเฉพาะเวลานั่งรถเลียบไหล่เขาช่วงพลบค่ำหลังจากกลับจากปจว. (ปฏิบัติการจิตวิทยา-เป็นคำที่ชอบใช้ในช่วงนั้นตอนไปออกท้องที่) พ่อบอกว่าบางครั้งต้องสวดมนต์ภาวนาระลึกถึงพระพุทธคุณของพระสมเด็จบางขุนพรหมที่ห้อยคอให้แคล้วคลาดจากการถูกซุ่มยิง
…….
หลังเหตุการณ์ผมเก็บตัวเงียบอยู่ในห้องที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราไม่รู้ว่าจะจัดการกับชีวิตต่อไปอย่างไร ต่อมาอีก ๒ วันเพื่อนสนิทที่สุดของผมคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการแสดงละครที่ถูกอุปโลกน์ให้เป็นชนวนสำคัญของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ได้มาหาผมที่จวนผู้ว่าฯพร้อมกับน้าชาย เพื่อนได้เล่าให้ผมฟังอย่างละเอียดถึงประสบการณ์จริงที่ได้หลบหนีจากการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาได้อย่างหวุดหวิดด้วยการกระโดดหนีลงแม่น้ำและมาอาศัยอยู่ในบ้านของแม่ค้าแถวนั้น และรอดการไล่ล่าหฤโหดมาได้ด้วยเสื้อผ้าของลูกชายเจ้าของบ้านที่ให้เปลี่ยนด้วยความสงสารเพื่อไม่ให้โดนจับ
ภาพที่ผมได้ฟังจากปากเพื่อนช่างต่างโดยสิ้นเชิงจากภาพที่พ่อได้รับการรายงานจากทางราชการ
คุณน้าของเพื่อนอยากให้เพื่อนได้หลบอยู่ที่บ้านผมคือที่จวนผู้ว่าฯที่ฉะเชิงเทราสักระยะหนึ่งจนกว่าเหตุการณ์จะสงบ ไม่เช่นนั้นเพื่อนรักของผมคงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากตามเพื่อนคนอื่นเข้าป่าไป
นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ตัดสินใจได้ยากยิ่งสำหรับวัยรุ่นอายุ ๑๘ ปีเช่นผม
ผมรู้ดีว่าการขอให้เพื่อนที่มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์หลบภัยอยู่ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดอันเป็นสถานที่ราชการในยามหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้คงไม่ใช่เรื่องที่จะขอกันได้ง่ายๆ หากผมขอแล้วพ่อไม่ให้ผมจะรู้สึกอย่างไรกับพ่อ ผมจะปล่อยให้เพื่อนรักต้องเข้าป่าไปโดยไม่ได้ช่วยเหลือได้อย่างไร ผมจะทำอย่างไรดีเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเพื่อนที่หวังพึ่งผม แต่ถ้าหากพ่อรับที่จะช่วยการขอครั้งนี้จะสร้างผลกระทบอย่างไรให้กับพ่อในสถานการณ์ของความสับสนของบ้านเมืองเช่นนี้
ในที่สุดผมขอคุยกับพ่อสองคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำบ่อยนัก ผมได้อธิบายให้พ่อฟังถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่ธรรมศาสตร์ในส่วนที่ผมได้รู้มาและชี้ให้เห็นถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับเพื่อนหากเขาไม่มีที่หลบภัย และความรู้สึกของผมที่ต้องทำสิ่งที่ดีที่สุดให้เพื่อนรัก
พ่อฟังผมโดยไม่ได้พูดอะไร เมื่อผมพูดจบพ่อก็นิ่งไปสักพัก
ผมไม่แน่ใจว่าเวลาจริงๆนั้นยาวนานแค่ไหน แต่สำหรับผมมันเวลาที่ยาวนานมาก
จากนั้นผมจำได้ว่าพ่อลุกขึ้นยืน มองตาผม พร้อมยกมือตบไหล่ผมแล้วพยักหน้า
แม้พ่อจะไม่พูดอะไรเลย แต่ในวินาทีนั้นสิ่งที่ผมรู้สึกคือผมมีพ่อที่ประเสริฐที่สุด
กิตติพงษ์ กิตยารักษ์
ตุลาคม 2557
__________
* บทประพันธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “Bon Voyage บันทึกความทรงจำดีๆถึงพ่อ” ที่ผมเขียนขึ้นเพื่อแจกในงานพระราชทานเพลิงศพพ่อเมื่อปี 2557 ต่อมาสำนักพิมพ์มติชนได้นำมาพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2558 ในชื่อ “Bon Voyage บนเส้นทางข้าแผ่นดิน” หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับสอง ประเภทสารคดีทั่วไป จากคณะกรรมการตัดสินหนังสือดีเด่น “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด” ประจำปี 2559 ผมนำบางส่วนมาเผยแพร่อีกครั้งเพื่อรำลึกถึงการจากไปของพ่อเมื่อ 6 ปีมาแล้วในช่วงย่ำรุ่งของวันที่ 4 ตุลาคม 2557
ภาพวาดโดยนัทรียา ไกรจิตติ