ดร.ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ การเดินทางมาเยือนประเทศในเอเชียตะวันออเฉียงใต้ของกษัตริย์ซัลมาน ซาอุดิอารเบียว่า ข่าวการเดินทางมาเยือนเอเชียของกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอาซีซ อัล-ซาอูด แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย เป็นข่าวที่เป็นที่สนใจของโลกมุสลิมมาก ประเทศที่พระองค์วางแผนเดินทางเยือนประกอบไปด้วยมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน ญี่ปุ่น จีน มัลดีฟ และปิดท้ายด้วยประเทศมุสลิมเพื่อนบ้านในตะวันออกกลางอย่างจอร์แดน เป็นการเยือนที่ทางการ
ซาอุดิอาระเบียแถลงว่า การเดินทางไปเยือนประเทศเหล่านี้เพื่อพบปะผู้นำประเทศเหล่านั้น และใช้โอกาสในการเจรจาความสัมพันธ์ทวิภาคีในประเด็นที่เกี่ยวข้องทั้งระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ
ดร.ศราวุฒิ กล่าวว่า การเยือนเอเชียของกษัตริย์ซัลมานครั้งนี้เป็นที่จับตามองอยู่ไม่น้อยท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางและปัญหารุมล้อมที่ซาอุดิอาระเบียกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นสงครามความรุนแรง ปัญหาการเมืองตะวันออกกลางหลังอาหรับสปริง ปัญหาความมั่นคง และปัญหาเศรษฐกิจ
แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเยือนเอเชียของกษัตริย์ซัลมานก็ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ หากแต่เป็นเรื่องที่ผู้นำซาอุดิอาระเบียถือปฏิบัติกันมาช้านานตามยุทธศาสตร์กระจายการพึ่งพาชาติมหาอำนาจ เพื่อไม่ให้เกิดสภาพที่ซาอุดิอาระเบียต้องฝากความอยู่รอดของประเทศไว้ในอุ้งมือของสหรัฐฯแต่ฝ่ายเดียว โดยเฉพาะประสบการณ์ที่ซาอุดิอาระเบียผิดหวังต่อการดำเนินการของสหรัฐฯในระยะหลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกล่าวหาซาอุดิอาระเบียว่าส่วนสนับสนุนการก่อการร้ายนับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 การหักหลังไม่ใช้กำลังโค่นอำนาจรัฐบาลซีเรีย หรือการบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน
เรียกได้ว่ายิ่งสหรัฐฯสร้างความผิดหวังให้ซาอุดิอาระเบียมากเท่าไหร่ ซาอุดิอาระเบียก็จะยิ่งเร่งเดินหน้าตามยุทธศาสตร์กระจายการพึ่งพาชาติมหาอำนาจให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังจะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่กลางปี 2015 แล้วที่ มกุฎราชกุมาร มุฮัมหมัด บิน ซัลมาน ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม ได้ไปเยือนรัสเซียเพื่อลงนามในข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศหลายเรื่อง ไล่ตั้งแต่เรื่องธุรกิจน้ำมัน ความร่วมมือทางการทหาร การพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ ไปจนถึงการสำรวจอวกาศ ไม่นานจากนั้นพระองค์ก็เดินทางไปปารีส เพื่อเจรจาความตกลงในการสร้างการป้องกันที่เข้มแข็งร่วมกัน
ที่น่าสนใจคือ การเดินหน้าเชิงรุกทางการทูตของซาอุดิอาระเบียมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในดินแดนตะวันตกอีกต่อไป แต่ยังค่อย ๆ ขยายมาสู่ดินแดนทางตะวันออกอีกด้วย ความจริงการรุกเอเชียของซาอุดิอาระเบียครั้งนี้มิได้เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี 2014 กษัตริย์ซัลมาน ซึ่งขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมาร ก็เคยเดินทางเยือนญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ซึ่งทั้ง 3 เป็นประเทศมหาอำนาจของเอเชีย และเป็นชาติที่นำเข้าน้ำมันจากซาอุดิอาระเบียจำนวนมากทั้งนั้น
จะว่าไปแล้ว ‘นโยบายมองตะวันออก’ ของซาอุดิอาระเบีย มันเริ่มขึ้นมาตั้งแต่สมัยกษัตริย์อับดุลลอฮ์ (2005-20015) เพราะถ้าย้อนกลับไปเมื่อเดือนมกราคม 2006 พระองค์ก็ได้เลือกที่จะเดินทางเยือนจีนกับอินเดียเป็นประเทศแรก ๆ หลังจากที่ขึ้นครองราช นับจากนั้นมาก็มีการพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียกับเอเชียอย่างเอาจริงเอาจัง แต่การที่ซาอุดิอาระเบียให้ความสำคัญกับเอเชียในระยะหลังก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะในยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดตรงกันว่ามันคือ “ศตวรรษแห่งเอเชีย”
ปัญหาทางเศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบียในช่วงที่ผ่านมาอันเกิดจากราคาน้ำมันที่ลดลงต่ำอย่างต่อเนื่องก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงทำให้ในช่วงปลายปี 2015 ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศขาดดุลงบประมาณมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 98,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จนเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องคิดโครงการวิสัยทัศน์ซาอุดีฯ 2030 (Saudi Vision 2030) ขึ้นมา เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการขายน้ำมันอย่างเดียว
ขณะเดียวกันก็จะเปิดช่วงทางการหารายได้ทางเศรษฐกิจที่หลากหลายมากขึ้น
นโยบายนี้ย่อมต้องบีบให้ซาอุดิอาระเบียเปิดประเทศมากขึ้น และแสวงหาโอกาสในการลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพ แต่ครั้นจะหันไปร่วมมือกับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางด้วยกันก็คงช่วยอะไรไม่ได้มากนัก เพราะแต่ละประเทศก็ล้วนมีปัญหาของตนเอง หลายประเทศต้องเผชิญภัยสงคราม บางประเทศเกิดภาวะรัฐล้มเหลว และมีอีกหลายประเทศที่เป็นประเทศยากจน
ขณะที่มองไปยังกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าก็เกิดปัญหาขึ้นมากมาย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการก่อการร้ายที่ระยะหลังสหรัฐฯเองที่ถือเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นที่สุด กลับออกกฎหมายเล่นงานซาอุดิอาระเบียในกรณีการก่อการร้าย 9/11
ในสภาพอย่างนี้ซาอุดิอาระเบียไม่มีทางเลือกมากนักครับ นอกจากจะต้องขยายพันธมิตรใหม่ และผูกมิตรกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศมุสลิมในเอเชียที่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่หวังพึ่งสหรัฐฯประเทศเดียวเหมือนในอดีต