ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ดิ้น จัดระดมสมอง ผู้ประกอบการทั้งระบบ รวบรวมข้อเสนอ ภาครัฐเร่งช่วยเหลือและเยียวยา ลั่น หากเสนอไปแล้วยัง เงียบหายเหมือนเดอมที่ผ่านมา เตรียมโกนหัว บุกทำเนียบ จี้ นายกฯให้คำคอบ
วันที่ 30 ก.ย.63 เวลา 10.00 น.ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว นำโดย นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA), สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) ,สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (ADT.) และ สมาคมโรงแรมไทย (THA) ร่วมกันแถลงข่าว เรื่อง “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไตรมาส 3/2563 และข้อเสนอต่อภาครัฐจากผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวในสถานการณ์ปัจจุบัน” ที่ ห้องประกายเพชร โรงแรมเอเชีย
โดยมี รศ.ผกากรอง เทพรักษ์ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้สรุปสถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยหลังจาก นโยบายปิดประเทศของไทย จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่ภาครัฐยังตั้งเป้าไว้ที่ 2 ล้านล้านบาท และ ได้ออกมาตรการมากระตุ้นจำนวนมาก โดยล่าสุด จากนโยบายเปิดประเทศ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดกว้างต้อนรับ นักท่องเที่ยวในกลุ่มเสี่ยงต่ำ อาทิ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ส่วน สหรัฐฯ และ ยุโรป ยังต้องควบคุมอย่างเข้มงวดโดยในเบื้องต้น จะผ่อนคลาย มาตรการ State Quarantine หรือ กักตัว14วัน ให้ลดปริมาณลง และ สามารถเลือกสถานที่ได้เอง
“โควิด-19 ทำให้คนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลก ตกงาน 120 ล้านคน ในไทยตกงาน 2 ล้านคน รายได้ท่องเที่ยวปีนี้คาดว่าจะมี 3 ล้านล้านบาท ก็จะเหลือเพียง 1 ล้านล้านบาท แต่ก็มีข่าวดีของไทย ที่ จากการจัดดัชนีสุขภาพของโลกพบว่า ไทยเป็นอันดับ 6 จาก 195 ประเทศ และเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ซึ่งหากใครจะมาอาเซียน ไทยจะเป็นเป้าหมายลำดับต้นๆ”
นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ระบุว่า ในไตรมาส4/2563 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 หมื่นคน ลดลงจากปี 62 ร้อยละ 99.52 และมีรายได้ 4,500 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 99.11 จากช่วงเดียวกันในปี62 คาดว่าสิ้นปี 63จะมีนักท่องเที่ยวท้งหมด 6.74 ล้านคน รายได้รวม 336,513ล้านบาท ลดลงจากปี62 ร้อยละ 82.59 ทั้งนี้ในช่วงที่เหลือของ ไตรมาสสุดท้ายใน ต้องดูมาตรการภาครัฐจะเป็นอย่างไร
ไม่ว่าจะเป็น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ยอมรับเป็นแนวคิดที่ดี แต่ยังขาดการบริหารจัดการ เพราะจากเป้าหมายให้คนใช้บริการห้องพัก 5 ล้านห้อง ผ่านไปแล้ว 1 เดือน มีผู้ใช้สิทธิ์ เพียง 800,000 ห้อง ขณะที่ ผู้ใช้สิทธิ์ตั๋วเครื่องบินน้อยมาก หรือการขอให้คนต่างชาติที่ทำงานในไทยเข้าร่วมโครงการได้หรือไม่ เพราะเป็นกลุ่มคนมีกำลังซื้อ แต่การพิจารณาเรื่องนี้ก็ล่าช้ามาก เพราะหน่วยงานที่ไปติดต่อแต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำ ไม่เล่นดนตรีเป็นวงเดียวกัน
“หมดโปรฯจากภาครัฐเมื่อไร เอกชนก็ย่ำแย่เมื่อนั้น ถึงแม้จะเป็นช่วงไฮซีซั่น อาจมีการเดินทาง แต่ไม่มีการใช้จ่าย มาตรการต่างๆที่ออกมาเป็นภาพลวง ในทางปฏิบัติมันทำไม่ได้ ทุกวันนี้เวลามีหนังสือเชิญไปประชุม ก็ไม่อยากไป เพราะสุดท้ายแล้วเสนออะไรไปก็เงียบหาย แต่วันนี้เราทนไม่ไหวแล้ว ผมจะรวบรวมข้อเสนอแล้วชวนกันโกนหัวไปพบนายกฯถึงทำเนียบเอากันอีกครั้งให้ชัดเจน” นายชัยรัตน์ กล่าว
สำหรับข้อเสนอของภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อภาครัฐ มีดังนี้ 1.การเรียกร้องเยียวยาและฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 2 จัดตั้งธนาคารเพื่อการท่องเที่ยวหรือ กองทุนฟื้นฟูผู้ปนะกอบการท่องเที่ยว 3.กระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ สนับสนุนให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเป็นหมู่ครธ 4.เรียกร้องเพื่อยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 5. เรียกร้องด้านกฏระเบียบข้อบังคับ ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย และ ยกเว้นค่าธรรมเนียม ภาษี 6. มาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการปิดประเทศ โดยเฉพาะ มัคคุเทศก์ คนขับรถนำเที่ยว