“ธนาธร” เล็งเดินหน้า ธุรกิจ “นมแพะ” พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ภายใต้แบรนด์ “ซูซู” พร้อมนำคณะ ก้าวหน้า พบกลุ่มเกษตรกร หวังสร้างงานให้ชาวบ้าน ปลายด้ามขวาน เตรียมผุดโรงงาน ทดลองตลาด หากประสพความสำเร็จ จะเดินหน้าพัฒนาเต็มสูบ
วันที่ 23 กย.63 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และ นางสาวพรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า พร้อมคณะทำงาน เดินทางลงพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อพบกับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะนม ที่ หมู่ 3 ต.บันนังสาเรง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ติดตามความคืบหน้าของธุรกิจนมแพะ ซึ่งดำเนินการโดย “ส้มจี๊ด” องค์กรส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคมของคณะก้าวหน้า นายธนาธร สำรวจความพร้อมโรงเรือน และ กระบวนการเลี้ยงแพะ รีดนมแพะ รวมถึงการบรรจุขวด เนื่องจากจะเริ่มทดลองจำหน่ายนมในเฟสแรก ภายใต้แบรนด์ “ซูซู” ซึ่งเป็นภาษามลายู แปลว่า “นม” ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ และหากประสบความสำเร็จตามความคาดหมาย จะเริ่มเฟสสอง ลงทุนตั้งโรงงานผลิตนมแพะขนาดใหญ่
“ผมตั้งใจจะใช้โมเดลธุรกิจบริษัทจำกัด ไม่ใช่สหกรณ์ เพราะผมมองเป้าหมายใหญ่ มองไปไกล อยากให้มีบริษัทจำกัดขนาดใหญ่ที่ยะลา จ้างงานคนในพื้นที่สามจังหวัด โดยมีเกษตรกรร่วมกันเป็นเจ้าของด้วยตัวเอง จะพยายามรวบรวมกลุ่มเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 20 ราย สร้างตราสินค้าให้กับกลุ่ม และพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เพราะที่นี่แทบไม่มีบริษัทใหญ่ๆ ที่จ้างงานดีๆ รายได้สูง ทั้งที่คนตกงาน ว่างงาน จำนวนมาก โดยเฉพาะหลังโควิด ถ้ามีงาน คุณภาพชีวิตของคนในสามจังหวัดก็จะดีขึ้น วัยรุ่นจบมามีงานทำที่บ้านเกิด ได้อยู่กับครอบครัว ไม่ต้องไปทำงานที่มาเลเซีย หรือ ตามหัวเมืองใหญ่ และเหตุผลที่ผมอยาเห็นอุตสาหกรรมนมแพะ เพราะมันสอดคล้องกับวิถีของมุสลิม การเลี้ยงแพะเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่มีทักษะ มีความเข้าใจอยู่แล้ว เพียงปัญหาที่พบคือ ความต้องการทางด้านตลาดและการส่งออกผลิตภัณฑ์ ซึ่งทางเราก็จะเข้ามาช่วยหนุนเสริมในส่วนของตรงนี้” นายธนากร กล่าว
ทางด้านนายนิสมาน บุงอซายู เจ้าของ ฟาร์แพะนม Shababb Farm หมู่ที่ 3 ตำบลบันนังสาเรง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา เปิดเผยว่า ตอนนี้ในกลุ่มก็มีเกษตรกรเลี้ยงแพะนมจำนวน 20 ราย และต้องการจะพัฒนาให้ผลผลิตไปสู่ท้องตลาด ได้กระจายสินค้าออกไป เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ มีความถนัดในการเลี้ยงแพะอยู่แล้ว แต่ไม่มีองค์ความรู้ทางการตลาดและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ จึงทำให้เป็นปัญหาสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ ดังนั้นการที่มีคนเข้ามาช่วยผลักดันตรงนี้ จึงถือเป็นความสำคัญและสามารถจะต่อยอดไปได้ หากเป็นไปตามที่ได้วางโครงการกันไว้ ก็จะเป็นสิ่งที่ดีให้กับเกษตรกรในพื้นที่อย่างยั่งยืน