“ไอติม” โพสต์ จับตา การประชุม วุฒิสภา โหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชี้ ร่างรัฐบาล ส่อ หมกเม็ด “ลักไก่” ที่ มา สสร. เผยขณะนี้ล่ารายชื่อปชช.ได้แล้ว1แสนเสียง พร้อมเดินหน้า แก้รธน.
วันที่ 23 ก.ย.63 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ตัวแทนกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “อย่าล็อคสเปก ส.ส.ร. / อย่าปล่อย ส.ว.ลอยนวล” : 2 วิธีการแก้รัฐธรรมนูญแบบ “ลักไก่” ที่ประชาชนต้องจับตาและเฝ้ามอง” ระบุว่า เมื่อวาน ผมได้ไปร่วมเดินขบวนกับเครือข่ายภาคประชาชนอีกหลายกลุ่ม เพื่อนำรายชื่อ 100,732 คน ไปยื่นให้รัฐสภารับพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนตามกระบวนการที่เปิดไว้ทางกฎหมาย
ถึงแม้ฉบับนี้อาจตรวจสอบรายชื่อไม่ทันสำหรับพิจารณาในประชุมรัฐสภาสัปดาห์นี้ แต่อย่างไรก็ตามการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาข้อเสนอการแก้รัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและของพรรคร่วมฝ่ายค้านในวันนี้และพรุ่งนี้ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการกำหนดอนาคตประเทศ
ผมจึงขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนเฝ้าจับตาดูท่าทีและการโหวตของสมาชิกรัฐสภาอย่างใกล้ชิด เพราะหากมีการลงมติเห็นชอบแค่เฉพาะข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล รัฐบาลอาจ “ลักไก่” ทำเป็นว่าได้แก้รัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นตามข้อเรียกร้องแล้ว ทั้งๆที่ไม่ได้แก้สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในการนำพาประเทศออกจากวิกฤตการเมืองและสร้างหนทางกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่อาจกลับทำให้ประเทศไทยถึงทางตันหรือวนอยู่ที่เดิม
ผมขอคาดการณ์ 2 ปรากฏการณ์แก้รัฐธรรมนูญแบบ “ลักไก่” ที่เราต้องเฝ้าระวังในวันนี้และพรุ่งนี้
*ลักไก่ #1 = “ล็อกสเปก” ส.ส.ร.*
รูปแบบของ ส.ส.ร. ที่ถูกเสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาลให้มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประกอบไปด้วย 200 คน โดย 150 คนมาจากการเลือกตั้ง และ 50 คนมาจากการสรรหา (20 จากรัฐสภา + 20 จากประชุมอธิการบดี + 10 จากตัวแทน นิสิต นักศึกษา)
ข้อเสนอนี้ อาจฟังดูผิวเผินเหมือนเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ถ้าเราไปดูรายละเอียดของข้อเสนอ จะพบความน่ากังวลไม่น้อย
(i) ส.ส.ร. 200 คน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด – ถึงแม้เราอยากให้ ส.ส.ร. ที่มีตัวแทนวิชาชีพต่างๆ เราก็สามารถทำได้ภายใต้กลไกการเลือกตั้ง โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีสรรหา (เช่น รับผู้สมัคร ส.ส.ร. ตามหมวดหมู่วิชาชีพต่างๆ และให้ประชาชนเลือกผู้สมัครที่ชอบที่สุดในแต่ละหมวดหมู่)
(ii) 20 คนจากตัวแทนรัฐสภา หมายถึงการมอบโควตาส่วนหนึ่งให้วุฒิสภา (ประมาณ 7 คน) ซึ่งพอเห็นถึงปัญหาความไม่เป็นกลางของ ที่มาของ ส.ว. แล้ว ก็แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่พยายามจะเพิ่มสัดส่วนของกลุ่มที่สนับสนุน คสช. เข้าไปอยู่ใน ส.ส.ร. นี้
(iii) 10 คนจากตัวแทน นิสิต นักศึกษา ไม่ได้ถูกเลือกจากกลุ่ม นิสิต นักศึกษากันเอง แต่ถูกเลือกโดย กกต. ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์กรอิสระที่ผู้เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงขาดความไว้วางใจและตั้งข้อครหาถึงความไม่เป็นกลางมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงเจตนาซ่อนเร้นของระบอบ คสช. ในการออกแบบ ส.ส.ร. เพื่อพยายามสืบทอดอำนาจต่อไปแบบเนียนๆ และถ้ารัฐสภาลงมติเห็นชอบให้ตั้ง ส.ส.ร. รูปแบบนี้ ระบอบ คสช. จะยังคงมีอำนาจในการควบคุมการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับถัดไปอยู่
*ลักไก่ #2 : ปล่อยให้ ส.ว. “ลอยนวล”*
ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีข้อเสนอใดที่ครอบคลุมถึงการแก้ไขอำนาจและที่มาของวุฒิสภาแต่งตั้ง 250 คน ทั้งที่เป็นสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดของการสืบทอดอำนาจ และใจกลางสำคัญของความวิปริตของระบอบการเมืองไทยปัจจุบัน
(i) “ความวิปริตในอำนาจ”
ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการมาเลือกนายกฯร่วมกับ ส.ส. 500 คน (มาตรา 272) ที่ทำให้คณะกรรมการสรรหา ส.ว. 1 คน มีอำนาจมากกว่าประชาชน 1 คน 2 ล้านเท่า หรือ อำนาจอื่นๆอีกมากมาย เช่น การรับรองผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระ หรือ การติดตาม เสนอแนะ เร่งรัด และ ร่วมพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ
(ii) “ความวิปริตในที่มา”
ไม่ว่าจะเป็นการที่ 6 ใน 10 ของคณะกรรมการสรรหาวุฒิสภา แต่งตั้งตนเองเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือจะเป็นการสงวนเก้าอี้วุฒิสภา 6 เก้าอี้ไว้ให้กับผู้นำเหล่าทัพ ซึ่งเป็นข้าราชการประจำที่รับเงินเดือนเต็มเวลาอยู่แล้ว
(iii) “ความวิปริตในสัดส่วนสาขาอาชีพ”
ในขณะที่เราคาดหวังให้วุฒิสภาเป็นตัวแทนของผู้เชี่ยวชาญที่มีความหลากหลายทางวิชาชีพ เพื่อนำความรู้เฉพาะทางของแต่ละคนมาช่วยกลั่นกรองกฎหมาย เกิน 40% ของสมาชิกวุฒิสภากลับประกอบแค่ 2 อาชีพ (ทหาร และ ตำรวจ)
(iv) “ความวิปริตในหน้าที่”
ในขณะที่วุฒิสภามีหน้าที่หลักในการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร แต่เราจะเห็นว่าจากเรื่องที่เข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาทั้งหมด 145 มติ ส.ว.ให้ความเห็นชอบทั้ง 145 มติ โดยมีค่าเฉลี่ยการลงมติเห็นชอบถึง 96% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับที่ควรจะเป็น
บางพรรคมักให้เหตุผลว่า ให้รอไปถกเถียงประเด็นเหล่านี้ตอนมีการจัดตั้ง ส.ส.ร. แล้ว แต่ในความเป็นจริง กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่าน ส.ส.ร. อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี
การริเริ่มกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงไม่ควรถูกใช้เป็นข้ออ้างในการที่รัฐสภาไม่พูดถึงเรื่องวุฒิสภาในวันนี้ เพราะหากไม่มีการแก้ไขเรื่องวุฒิสภา (ซึ่งทั้งหมดรัฐสภาทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการจัดประชามติ) ความวิปริตเหล่านี้จะยังคงเหลืออยู่ในสังคมไทยไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี
ถ้ามีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ เราก็จะยังมี ส.ว. แต่งตั้ง 250 คนมาร่วมเลือกนายกฯ
ถ้ามีการสรรหากรรมการองค์กรอิสระใหม่ เราก็จะยังมี ส.ว. แต่งตั้ง 250 คนมารับรอง
ถ้ามีกฎหมายไหนที่ถูกตีความให้เข้าข่ายการปฏิรูปประเทศ เราก็จะยังมี ส.ว. แต่งตั้ง 250 คนมาร่วมโหวต
และประเทศจะยังคงวนเวียนอยู่ในวิกฤตการเมืองไปเรื่อยๆ จนกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะถูกร่าง รับรอง และบังคับใช้
ผมจึงหวังว่าใน 1-2 วันข้างหน้าที่สำคัญนี้ สมาชิกรัฐสภาทุกท่านจะตระหนักถึงความรับผิดชอบที่ท่านมีต่อประชาชน มากกว่าข้อผูกมัดที่ท่านมีต่อพรรคต้นสังกัด
โปรดอย่าล็อกสเปก ส.ส.ร. เพื่อสืบทอดอำนาจ แต่โปรดออกแบบ ส.ส.ร. ให้ยึดโยงกับประชาชนและเป็นกลางอย่างไร้ข้อครหา
โปรดอย่าปล่อย ส.ว. ลอยนวล แต่โปรดตัดอำนาจอันล้นฟ้าและแก้ไขความบิดเบือนในที่มาของ ส.ว. 250 คน
โปรดอย่า “ลักไก่” ทำเป็นแก้รัฐธรรมนูญ แต่โปรดแก้ประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญต่อการสร้างหนทางสู่ระบอบประชาธิปไตย ที่จะทำให้ประชาชนกลับมารู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันของประเทศนี้อีกครั้งหนึ่ง
#1ในแสนเสียงแก้รัฐธรรมนูญ