“ปริญญ์” ชู นวัตกรรม Touchless เปิดงาน Startup Thailand Expo 2020

135

“ปริญญ์ พาณิชภักดิ์” เปิดงาน Startup Thailand x Innovation Thailand Expo 2020 ชูแนวทาง พลิกวิกฤต เป็นโอกาส ผ่านนวัตกรรม Touchless ในงาน จุดเริ่มต้น “เศรษฐกิจไร้สัมผัส” สู้ภัย โควิด-19

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จัดงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ ยุคดิจิตัล เชิญชวน ผู้ประกอบการด้านเศรษฐกิจทันสมัย เปิดมุมมอง “สตาร์ทอัพวิถีใหม่” เปลี่ยนแปลงแนวความคิด ด้วยการนำเทคโนโลยี มาใช้พัฒนาธุรกิจยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ผ่านระบบ Touchless หรือ “เศรษฐกิจ ไร้สัมผัส”

โดยการเปิดมุมมองดังกล่าว จะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือน ก.ย.นี้เป็นต้นไป ภายในงาน Startup Thailand x Innovation Thailand Expo 2020 ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ซอยโยธี ถ.ราชเทวี กรุงเทพฯ

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ หน.ทีมเศรษฐกิจทันสมัย กล่าวระหว่างร่วมงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ และ อินโนเวชั่น ไทยแลนด์ เอ็กซ์โป 2020 หรือ Startup Thailand x Innovation Thailand Expo 2020 ถึงความพยายามปรับเปลี่ยนองค์กรให้ทันต่อพัฒนาการทางเทคโนโลยีและการเข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่มีมาอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวความคิด และนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจในยุคดิจิทัล (Digital Transformation) อย่างแท้จริง เกิดการปรับตัวทุกภาคส่วน มีการสร้างเศรษฐกิจไร้สัมผัส ทำธุรกิจด้วย “ความไว้วางใจ” ภายใต้ กฎหมาย การแข่งขันที่เป็นธรรม และวิธีคิดแบบใหม่ (New Mindset)

“Touchless อาจเป็นการผสานกันระหว่างโลกยุคเก่ากับโลกยุคใหม่ จุดแข็งของไทยคือ Thailand 0.4 ไม่ใช่ 4.0 นั่นคืออัตลักษณ์ท้องถิ่นที่โดดเด่น รอยยิ้ม ความโอบอ้อมอารี”

รองหน.พรรค ปชป. กล่าวต่อ ด้วยว่า หลายธุรกิจกลับไม่ได้ตายไปกับโควิด-19 แต่กลับเติบโตเพราะโควิด-19 อาทิ ธุรกิจจัดส่งอาหารกลับเติบโตมากขึ้น หรือธุรกิจเกษตรที่ร้อยเอ็ดกับยโสธรกลับมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเพราะการขายออนไลน์ และยังทำให้เกิดการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ เช่น การใช้โดรนส่งสินค้าทำให้ไม่ต้องมาพบกันแต่ค้าขายได้ หรือการท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบ Virtual เป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ท่องเที่ยวได้เสมือนจริง เป็นที่น่าเสียดายว่าแม้จะมีการนำนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้มากมายแต่กลับไม่ค่อยเห็นการเติบโตเท่าที่ควร เพราะติดปัญหาเรื่องกฎหมายทำให้เป็นอุปสรรค ทำให้นวัตกรรมไม่สามารถใช้ในประเทศไทยได้อย่างเต็มที่

ที่สำคัญ ด้านการแข่งขันต้องเป็นธรรมและเท่าเทียม รัฐและเอกชนรายใหญ่ ควรมีส่วนช่วยสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้น ให้แข่งขันได้ ด้วยการสร้างกลไก สนับสนุนการเปิดเผยข้อมูล การใช้เทคโนโลยี มาจัดเก็บข้อมูลที่เป็นคะแนนเชิงสังคม (Social Credit Score) ซึ่งสำคัญต่อการพิจารณาสินเชื่อ เช่น บุคลิก นิสัย พฤติกรรม (Character) ที่ช่วยให้ “สตาร์ทอัพ” ทำการปล่อยกู้แบบ P2P ที่กำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในสังคม

รัฐยังมีบทบาทในการใช้เทคโนโลยีสร้างธรรมาภิบาลในการใช้อินเตอร์เน็ต (Internet Governance) ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและแสดงความคิดเห็นอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อฟื้นความเชื่อมั่น สร้าง “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” ของประชาชนที่มีต่อรัฐ การใช้เทคโนโลยีสร้างความไว้ใจในภาคธุรกิจก็จำเป็น เช่น บล็อกเชนจะช่วยสร้างเศรษฐกิจบนพื้นฐานความไว้ใจ ความเชื่อมั่น (Trust Economy) การเปิดเผยข้อมูลยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่าจะมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม เราต้องคำนึงถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์ในยุค Touchless ด้วย

ดังนั้น การปรับมุมมองความคิด (Mindset) จากที่มุ่งเป้าหมายไปที่แค่ตัวเลขหรือผลตอบแทนระยะสั้น ทำให้คนไม่กล้าลงทุนในนวัตกรรม เป็นการมุ่งเป้าที่ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพที่ให้ผลบวกแก่สังคม ทำให้เห็นผลตอบแทนในระยะยาวที่สูงขึ้น ความกล้าลงทุนในเทคโนโลยี นวัตกรรม การขวนขวายหาองค์ความรู้พัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต การปรับเปลี่ยนลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง การแสวงหาไปถึงระดับพาร์ทเนอร์ชิพข้ามชาติ