สุลต่านอับดุล ฮามิด ฮาลิมแห่งเกอดะฮ์
เป็นสุลต่านแห่งรัฐเกอดะฮ์ องค์ที่ 25 นับเป็นเจ้าเมืองไทรบุรีองค์สุดท้ายภายใต้การปกครองของสยาม
สุลต่านอับดุล ฮามิด ฮาลิม ชาห์มีพระนามเต็มว่า “สุลต่าน เซอร์ อับดุล ฮามิด ฮาลิม ชาห์ ที่สอง อิบนิ อะห์หมัด ตัชอุดดิน อัลมุการ์รัม ชาห์” (Sultan Sir Abdu’l Hamid Halim Shah II ibni Ahmad Taj ud-din al-Mukarram Shah)
มีบรรดาศักดิ์ทางฝ่ายสยามเป็นที่ “เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดีศรีสุลต่าน มหมัดรัตนราชมุนินทร สุรินทรวิวงษ์ผดุง ทนุบำรุงเกดะนคร อมรรัตนาณาเขตร ประเทศราชราไชสวริยาธิบดี วิกรมสีหะ เจ้าพระยาไทรบุรี” ตำแหน่งเจ้าประเทศราชไทรบุรี เอกสารฝ่ายไทยมักเรียกอย่างย่อว่าเจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮามิด)
พระองค์เป็นโอรสของสุลต่านอะห์หมัด ตัชอุดดิน มุการ์รัม ชาห์ (เจ้าพระยาไทรบุรี ตนกูอาหมัด) และพระนางวัน ฮาจาร์ (Wan Hajar) ประสูติเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1864 (พ.ศ. 2407) โดยมีฐานะเป็นตนกู เรียกตามเอกสารไทยว่า ตนกูฮามิด
ในปี ค.ศ. 1876 (พ.ศ. 2419) ตนกูฮามิดได้ร่วมกองทัพเมืองไทรบุรี (เกอดะฮ์) และกองทัพหัวเมืองต่างๆ ในความปกครองของสยามขึ้นไปช่วยปราบปรามจีนอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ต ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ 5 วิจิตราภรณ์ เป้นบำเหน็จความชอบในครั้งนั้น
ในปี ค.ศ. 1879 (พ.ศ. 2422) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ตนกูฮามิดเป็นที่พระเสนีณรงค์ฤทธิ ตำแหน่งรายามุดา ต่อมาเมื่อสุลต่านไซนัล ราซิด มุดซัม ชาห์ที่ 2 หรือพระยาไทรบุรี (ตนกูไซนาระชิด) ผู้เป็นพระเชษฐาสิ้นพระชนม์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งพระเสนีณรงค์ฤทธิรายามุดา เป็นพระยาฤทธิสงครามรามภักดีศรีสุลต่าน มหะมัดรัตนราชมุนินทร์ สุรินทรวิวังษา พระยาไทรบุรี เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง ตรีศก จุลศักราช 1243 ตรงกับวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424)
ภายหลังทรงมีพระราชดำริว่าพระยาไทรบุรีได้บังคับบัญชาราชการบ้านเมืองต่างพระเนตรพระกรรณมาช้านาน มีความชอบความดีมาก ในวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1895 (พ.ศ. 2438) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศพระยาฤทธิสงครามเป็น เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดีศรีสุลต่าน ตำแหน่งเจ้าประเทศราชเมืองไทรบุรี พร้อมทั้งพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า[1] และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกชั้นที่ 1 มหาวราภรณ์ เป็นเกียรติยศ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงส่งพระโอรส 2 องค์ของสุลต่านอับดุลฮามิดไปศึกษาที่ทวีปยุโรป ได้แก่ ตนกู ยูซุฟ ซึ่งต่อมาได้กลับมารับราชการตำรวจที่ประเทศสยาม และตนกู บาดิร ชาห์ (สุลต่านบาดิร ชาฮ์) ซึ่งสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและได้กลับมาพำนักอยู่ที่ประเทศสยามในระยะเวลาสั้นๆ
พระองค์มีชายาหลายองค์ ได้แก่ เจ๊ะเมนเญราลา (คุณหญิงเนื่อง นนทนาคร), เจ๊ะโซฟิอะห์ (Che Sofiah), ชะรีฟะห์ บินติ ไซเอ็ด อิดรุส (Sharifah Fatimah Binti Syed Idrus), ชะรีฟะห์ เซหะ บินติ ไซเอ็ด ฮุซเซน (Sharifah Seha Binti Syed Hussein), เจ๊ะสปาเชนดรา (Che Spachendra), ชะรีฟะห์ มาเรียม (Sharifah Mariam) และเจ๊ะลาราเซห์ (Che Laraseh) โอรสองค์ที่สำคัญได้แก่ตนกู อับดุล ระห์มัน นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศมาเลเซีย และสุลต่านบาดิร ชาฮ์
สุลต่านอับดุล ฮามิดได้สร้างพระที่นั่งใหม่โดยจากคอนกรีดและโลหะในปี ค.ศ. 1906 นอกจากนี้ พระองค์ยังเป็นผู้นำในการสวดมนต์วันศุกร์
สุลต่าน อับดุล ฮามิด ฮาลิม ชาห์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1943 รวมพระชนม์ได้ 78 พรรษา อยู่ในราชสมบัติ 62 ปี
ข้อมูล ปัณณพัทธิ์ คํานึง