นิด้าโพล เผยผลสำรวจ สังคมมองเด็ก ชูสามนิ้ว ผู้โบว์ขาว ในโรงเรียนเป็นสิทธิ เสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง แต่ครู-ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำ เชื่อสังคมไทยเผชิญความขัดแย้งระหว่างวัย
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ชูสามนิ้วและ ผูกโบว์ขาวในโรงเรียน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25 – 27 สิงหาคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,317 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการที่นักเรียนจำนวนหนึ่งรวมกลุ่มในโรงเรียนเรียกร้องเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการชูสามนิ้วและผูกโบว์ขาว
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการที่นักเรียนจำนวนหนึ่งรวมกลุ่มในโรงเรียนเรียกร้องเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการชูสามนิ้วและผูกโบว์ขาว พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.25 ระบุว่า เป็นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก หากไม่กระทำผิดกฎหมาย รองลงมา ร้อยละ 21.18 ระบุว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมในสถานศึกษา ร้อยละ 16.17 ระบุว่า เป็นการแสดงออกเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการ ร้อยละ 15.79 ระบุว่า เป็นการแสดงออกด้วยพลังบริสุทธิ์ของนักเรียน
ร้อยละ 13.67 ระบุว่า เป็นแค่แฟชั่นการแสดงออกทำตามกระแส ตาม social media/คำชักชวนของเพื่อน ร้อยละ 11.77 ระบุว่า เป็นการแสดงออกเพื่ออนาคตของประเทศ ร้อยละ 9.26 ระบุว่า เป็นการแสดงออกที่มีกลุ่มการเมือง/พรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง ร้อยละ 6.99 ระบุว่า เป็นการแสดงออกเพื่อล้มรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 3.80 ระบุว่า เป็นการสร้างความแตกแยกในสถานศึกษา ร้อยละ 3.11 ระบุว่า เป็นการแสดงออกที่มีเจตนาอื่นแอบแฝง ร้อยละ 1.97 ระบุว่า เป็นจุดเริ่มต้นของความแตกแยกในครอบครัว ร้อยละ 0.91 ระบุว่า เป็นการแสดงออกที่มีหน่วยงานต่างประเทศอยู่เบื้องหลัง และร้อยละ 5.09 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านการเห็นด้วยของประชาชนกับการที่นักเรียนจำนวนหนึ่งรวมกลุ่มในโรงเรียนเรียกร้องเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูสามนิ้วและผูกโบว์ขาว พบว่า ร้อยละ 34.78 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ เป็นสิทธิและเสรีภาพของนักเรียนจำนวนหนึ่งในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแต่ควรอยู่ ในขอบเขต และครู/อาจารย์ ผู้ปกครองควรดูแลและให้คำแนะนำ ร้อยละ 17.23 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ เป็นสิทธิของนักเรียนจำนวนหนึ่ง ที่จะเรียกร้องเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูสามนิ้วและผูกโบว์ขาวโดยไม่ผิดกฎของทางโรงเรียน
ร้อยละ 15.41 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังไม่สมควรเกี่ยวข้องเรื่องการเมือง เนื่องจากความคิดและวุฒิภาวะที่ยังไม่มากพอ ร้อยละ 25.82 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ เป็นการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม ก้าวร้าว เนื่องจากเป็นสถาบันการศึกษา และควรทำหน้าที่ของตนเอง คือ เรียนหนังสือ และร้อยละ 6.76 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ส่วนความเชื่อของประชาชนว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างวัย จากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 29.31 ระบุว่า เชื่อมาก เพราะ เด็กในยุคสมัยนี้มีความคิดเป็นของตัวเอง มีความเชื่อมั่นในตนเองค่อนข้างสูง ไม่ค่อยเชื่อผู้ใหญ่ และ ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากตนเอง ร้อยละ 28.63 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ เพราะ อิทธิพลทาง social media ส่งผลให้เด็กมีความก้าวร้าว รุนแรง นำมาซึ่งความขัดแย้ง และมีความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่างวัยมากขึ้น
ร้อยละ 14.88 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ เพราะ เป็นการแสดงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเด็กจำนวนหนึ่งเท่านั้น และเป็นการทำตามกระแสแฟชั่นในสังคม ร้อยละ 24.75 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย เ พราะ คนทุกวัยมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และเด็กทุกวันนี้มีความคิดเป็นของตนเอง และร้อยละ 2.43 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความขัดแย้งในเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง จากสถานการณ์ ทางการเมืองในปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 51.33 ระบุว่า เชื่อมาก เพราะ แต่ละฝ่ายต่างคิดว่าอุดมการณ์ทางการเมืองของตนเองถูกต้องเสมอ เป็นแบบนี้ ทุกยุคทุกสมัย ร้อยละ 28.17 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ เพราะ สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันแต่ละฝ่ายมีความคิดเห็นและอุดมการณ์ต่างกันอย่างชัดเจน ร้อยละ 8.43 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ เพราะ คนทุกวัยมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและอุดมการณ์ทางการเมือง ร้อยละ 9.11 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย เพราะ เป็นสิทธิและเสรีภาพของแต่ละบุคคลในการแสดงอุดมการณ์ทางการเมืองได้อย่างมีอิสระ และร้อยละ 2.96 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ