ฮิวแมนไรท์วอตช์ จี้ ไทย ปล่อยตัว แกนนำ ยช.ปลดแอก โดยไม่มีเงื่อนไข

ฮิวแมนไรท์วอตช์ ออก แถลงการณ์ ป้อง ม็อบนศ.โจมตี รัฐบาลไทย ยกระดับการจับกุมบรรดาแกนนำผู้ประท้วง ฝักใฝ่ประชาธิปไตย ในการจัดการชุมนุมที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัว “เจมส์-ฟอร์ด” 2 แกนนำ ยช.ปลดแอก โดยไม่มีเงื่อนไข 

ในถ้อยแถลงของฮิวแมนไรท์วอตช์ ระบุ ถึงกรณีเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ตำรวจจับกุม ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือ ฟอร์ด และ “เจมส์” ภานุมาศ สิงห์พรม แห่งขบวการเยาวชนปลดแอก โดยตำรวจตั้งข้อกล่าวหานักเคลื่อนไหวทั้งสอง ฐานปลุกระดม ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี จากการชุมนุมโดยมีความตั้งใจก่อให้เกิดความรุนแรง, ละเมิดคำสั่งห้ามรวมตัวของคนหมู่มาก และความผิดทางอาญาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวของพวกเขา ในการประท้วงฝักใฝ่ประชาธิปไตยอย่างสันติ ในกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม

“เจ้าหน้าที่ของไทยควรหยุดจับกุมและตั้งข้อหานักเคลื่อนไหว สำหรับจัดการชุมนุมหรือเข้าร่วมในการประท้วงฝักใฝ่ประชาธิปไตยอย่างสันติ” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอตช์ระบุ “รัฐบาลไทยควรหยุดเชื่อว่าการปราบปรามแกนนำผู้ประท้วง จะทำให้การชุมนุมฝักใฝ่ประชาธิปไตยซาลงไป”

ศาลอาญาในกรุงเทพฯปล่อยตัว ทัตเทพและ ภานุมาศ ในช่วงเย็นวันที่ 26 สิงหาคม หลังสมาชิกฝ่ายค้านในรัฐสภาใช้ตำแหน่งหน้าที่ค้ำประกันการปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวทั้งสอง บนเงื่อนไขห้ามทำผิดซ้ำอีก อย่างไรก็ตามทั้งสองคนประกาศว่าจะเดินหน้าปราศรัย ณ เวทีชุมนุม

คำแถลงของฮิวแมนไรท์วอตช์ ระบุว่าก่อนหน้านี้ตำรวจจับกุมนักเคลื่อนไหวฝักใฝ่ประชาธิปไตย 6 คนในข้อกล่าวหาเดียวกัน โดย ทัตเทพและภานุมาศ และนักเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นหนึ่งใน 31 คนที่ตำรวจหาทางจับกุม ต่อการขึ้นกล่าวปราศรัยบนเวทีชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ซึ่งจัดขึ้นโดยขบวนการเยาวชนปลดแอก โดยพวกผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย, ปฏิรูปการเมืองและเคารพสิทธิมนุษยชน

นับตั้งแต่วันที่ 18 กรกฏาคม การประท้วงที่นำโดยเยาวชนของกลุ่มต่างๆได้ลุกลามไปทั่วประเทศไทย โดยการชุมนุมใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ซึ่งผู้เข้าร่วมเรียกร้องยุบสภา, ขอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่, เคารพสิทธิการแสดงออกและปฏิรูปสถาบันฯ เพื่อจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์

ฮิวแมนไรท์วอตช์ ระบุว่ากติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR)ซึ่งไทยให้สัตยาบันรับรองในปี 1996 ได้ปกป้องสิทธิการแสดงออกและการชมนุมอย่างสันติ อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยได้บังคับเซ็นเซอร์และปิดปากการพูดคุุยของสาธารณะอยู่เป็นนิจ ทั้งในเรื่องสิทธิมนุษยชน, ปฏิรูปการเมืองและบทบาทของกษัตริย์ในสังคม กว่าทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลไทยดำเนินคดีนักเคลื่อนไหวและผู้เห็นต่างหลายร้อยคน ต่อการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ ในข้อหาอาญาร้ายแรง อย่างเช่นปลุกระดม, อาชญากรรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และจาบจ้วงเบื้องสูงละเมิดสถาบัน

“วิกฤตสิทธิมนุษยชนในไทยกำลังส่งเสียงดังกังวานมากขึ้นเรื่อยๆไปทั่วโลก” อดัมส์กล่าว “สหประชาชาติและรัฐบาลต่างๆที่เกี่ยวข้องควรกดดันรัฐบาลไทยให้หยุดปราบปรามนักเคลื่อนไหวฝักใฝ่ประชาธิปไตยและการชุมนุมอย่างสันติ และปล่อยตัวพวกผู้ที่ถูกจับกุมโดยพลการอย่างไม่มีเงื่อนไข”