ศอ.บต. ยัน จ่ายเยียว 3 ศพ เขาตะเวครบ 1.5ล้าน หลังญาติ แห่ร้องสื่อ

75

ศอ.บต. ปลดล็อกชงจ่ายเยียวยา 1.5 ล้าน เหยื่อกระสุน 3 ศพบนเขาตะเว และ ครอบครัว “อับดุลเลาะ อีซอมูซอ” ที่หมดสติคาค่ายทหาร ก่อนไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล โดยเป็นการดำเนินการอย่างรวดเร็วภายหลังเรื่องร้องเรียนของทั้ง 2 กรณี 4 ครอบครัว ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชน

สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า จากเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนในพื้นที่ป่าเขา บริเวณเทือกเขาตะเว รอยต่อระหว่าง อ.ระแงะ กับ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.62 และมีการใช้อาวุธ โดยสำคัญผิดว่าเป็นคนร้ายหรือผู้ต้องสงสัยคดีคความมั่นคง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย โดยก่อนหน้านี้ เมื่อ 21 ธ.ค.62 พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายเอกรัฐ หลีเส็น ผวจ.นราธิวาส และ พ.อ.ธีร์พัชร์ เอมพันธ์ ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 45 ได้เดินทางลงพื้นที่หมู่ 8 ต.บองอ อ.ระแงะ เพื่อเยี่ยมเยียนและมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ทายาทครอบครัวของ นายฮาพีซี มะดาโอะ อายุ 24 ปี นายบูดีมัน มะลี อายุ 26 ปี และนายมะนาซี สะมะแอ อายุ 27 ปี ที่ถูกจนท.ยิงเสียชีวิตบนเทือกเขาตะเว เนื่องจากสำคัญผิดว่าเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง

โดยทั้ง 3 ครอบครัวได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ครอบครัวละ 500,000 บาท ตามระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555 ทว่าเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.63 หนึ่งใน 3 ครอบครัวผู้เสียชีวิตได้เดินทางไปที่รัฐสภา เพื่อร้องเรียนกับคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ว่ายังได้รับเงินเยียวยาไม่ครบถ้วนตามที่ฝ่ายรัฐรับปากเอาไว้ และไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับเจัาหน้าที่ทหารที่ใช้อาวุธจนมีผู้เสียชีวิต แต่ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยืนยันว่าฝ่ายรัฐทุกหน่วยได้จ่ายเงินเยียวยาครบถ้วนทั้งหมดแล้ว รวมครอบครัวละประมาณ 760,000 บาท

ทั้งนี้เมื่อ วันศุกร์ที่ 26 มิย.63 เวลา 13.30 น. คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบฯ ได้ประชุมเพิ่มเติม โดย พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ให้ข้อมูลว่าการดูแลช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบฯ ทั้ง 3 รายในเบื้องต้น การเยียวยาเป็นตัวเงินได้ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว โดยมอบเงินให้ทายาทแต่ละรายจำนวน 500,000 บาท

และการประชุมวันนี้ คณะกรรมการเยียวยาฯ มีมติเห็นสมควรให้การเยียวยาเพิ่มเติมแก่ทายาทผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย อีกรายละ 1,000,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามร่างระเบียบการเยียวยาฯ เหมือนกับกรณีหนึ่งที่เกิดเหตุที่ ต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เมื่อปลายปี 58 นอกจากนั้น 1 ใน 3 ครอบครัวมีบุตร 1 คน ซึ่งจะต้องดำเนินการเยียวยาในเรื่องการศึกษา ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนจบปริญญาตรี ประเด็นจากการประชุมทั้งหมดนี้ จะเร่งนำเข้าสู่คณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. ในกลางเดือน ก.ค.63 เพื่อให้ความเห็นชอบและนำเสนอคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์ถัดไปให้เป็นเรื่องเร่งด่วน

กรณีที่ 2 การเสียชีวิตของ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ อายุ 34 ปี ที่ถูกเชิญตัวไปซักถามเมื่อวันที่ 21 ก.ค.62 และในวันเดียวกันพบว่าหมดสติภายในห้องพักของสถานควบคุม จึงส่งตัวเข้ารับการรักษาไปยังโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร (อ.หนองจิก จ.ปัตตานี) โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา) โดยแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าหมดสติเนื่องจากอาการสมองบวม และระหว่างการรักษาตัวเกิดภาวะปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง และมีภาวะติดเชื้อจนนำไปสู่การเสียชีวิต เมื่อวันที่ 25 ส.ค.62

สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ม.ค.63 เห็นชอบตามมติ กพต. ที่ให้ช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวนายอับดุลเลาะ เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,568,400 บาท แต่เมื่อตรวจสอบกับภรรยาและญาติของนายอับดุลเลาะ กลับได้รับการยืนยันว่า ได้รับเงินเยียวยาเพียง 500,000 บาทจาก ศอ.บต. และค่าชดเชยการถูกควบคุมตัวอีกวันละ 400 บาท เป็นเวลา 6 วันเท่านั้น จึงเกิดคำถามว่าคณะรัฐมนตรีมีมตินานหลายเดือนแล้ว เหตุใดจึงยังไม่มีการจ่ายเยียวยาให้ครบถ้วน

ประเด็นนี้มีการหารือกันในที่ประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มิ.ย.63 เช่นกัน ได้ข้อสรุปว่า หน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้การช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ครอบครัวนายอับดุลเลาะ ตามมติ กพต. ครั้งที่ 1/2562 ประกอบด้วย

1. เยียวยาตามระเบียบ กพต. โดย ศอ.บต. เยียวยาเงิน จำนวน 500,000 บาท
2. เยียวยากรณีถูกควบคุมตัว ศอ.บต. ได้จ่ายแล้ว จำนวน 32,400 บาท รวมเป็นเงิน 532,400 บาท ซึ่งได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนั้น คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฯได้จัดประชุมและมีมติว่าควรให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมด้านคุณภาพชีวิตทางด้านการศึกษาบุตร จำนวน 2 คนซึ่งเป็นค่าเล่าเรียนรายปีจนจบปริญญาตรี (หรือจนกว่าจะอายุ 25 ปีบริบูรณ์) และเบี้ยยังชีพรายเดือนภายในการดูแลของกระทรวง พม. ซึ่งหากรวมยอดเงินในส่วนนี้ เป็นเงิน 1,036,000 บาท แต่ทางหน่วยงานรัฐไม่สามารถมอบเป็นเงินสดในคราวเดียวได้ ซึ่งหากรวมยอดเงินทั้งหมดทุกรายการ เป็นเงิน 532,400 บวก 1,036,000 บาท รวม 1,568,400 บาท ตรงตามข่าวที่ระบุว่า ครม.มีมติ และทาง ศอ.บต. ได้ชี้แจงให้กับครอบครัวของนายอับดุลเลาะทราบแล้ว นอกจากนั้นยังได้ให้ความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ อีกด้วย

ทางด้าน นางซูไมยะห์ มิงกะ อายุ 31 ปี ภรรยาของนายอับดุลเลาะ บอกว่ายังไม่ได้รับแจ้งใดๆ จากทาง ศอ.บต. แต่หากได้เงินเยียวยามาเพิ่มก็รู้สึกดีใจ จะได้ซ่อมแซมบ้านและส่งลูกเรียนต่อไป