“พุทธิพงษ์” ยันปิด “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ไม่ใช่ประเด็นการเมือง

135

รมว.ดิจิทัลฯ ยันไทยสั่งปิดเพจ หมิ่นสถาบัน ตามคำสั่งศาล และยึดตามกฎหมายไทย มั่นใจเฟซบุ๊กไม่ฟ้อง  เตรียมส่งจม.พร้อมคำสั่งศาล ปิดกั้นอีก 1,024 ยูอาร์แอล ไม่หวั่น “รอยัลลิสต์มาร์เก็ต เพลส” เปิดเพจใหม่ “ตลาดหลวง” ประกาศตามล้างตามเช็ดไม่เลิกทุกเพจที่ทำผิด 

วานนี้ ( 26 ส.ค.) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แถลงกรณีเฟซบุ๊ก ออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจที่กระทรวงดิจิทัลฯ ส่งคำสั่งศาลให้เฟซบุ๊กปิดกั้นเพจที่ผิดกฎหมาย เฉพาะอย่างยิ่ง เพจ “รอยัลลิสต์มาร์เกต เพลส” โดยยืนยันว่าดำเนินการทั้งหมด เป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ไม่ได้เลือกปฏิบัติ หรือ กลั่นแกล้งใคร ทุกยูอาร์แอลที่ส่งให้ดำเนินการ มีทั้งที่โพสต์เกี่ยวข้องสถาบันฯ และอื่นๆ แต่เป็นการดำเนินการตามคำสั่งศาลของไทย

โดยเมื่อ15 วันที่แล้ว กระทรวงฯ ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนพร้อมกับแนบคำสั่งศาลไปถึงเฟซบุ๊ก ขอให้ช่วยลบและนำข้อความที่ผิดกฎหมายออกจากแพลตฟอร์ม จำนวน 1,129 ยูอาร์แอล ซึ่งครบกำหนด 15 วัน เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยถึงวันนี้ เฟซบุ๊กได้ลบให้ทั้ง 1,129 ยูอาร์แอลแล้ว และยังมีเว็บที่ไม่เหมาะสมอีกจำนวนหนึ่ง

จะนำส่งหนังสือแจ้งเตือนการติดตามการปิดกั้น ซึ่งมีคำสั่งศาลแล้วไปยังแพลตฟอร์มต่างๆ อีก 1,024 ยูอาร์แอล แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 661 รายการ, ยูทูป 289 รายการ, ทวิตเตอร์ 69 รายการ และ เว็บอื่น 5 รายการ ซึ่งถ้าครบ 15 วันจากวันนี้แล้วแพลตฟอร์มไม่มีการปฏิบัติการตามคำสั่งศาลไทย ก็จำเป็นที่เราต้องดำเนินการตามกฎหมาย

“วันนี้จะมีการนำส่งคำเตือนแพลตฟอร์มต่างๆ 1024 รายการ ทุกอันมีคำสั่งศาลประกบ จะนับหนึ่งในวันนี้ ใน 15 วัน หากไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งศาลต้องมีการดำเนินคดี ที่ผ่านมา 1129 รายการถูกลบหมด รวมถึง Royalist Marketplace ต้องกราบเรียนว่า พรบ.คอมพิวเตอร์ และความผิดต่างๆ กระทรวงไม่ได้รังแกใคร แต่ใช้คำสั่งศาลภายใต้กฎหมายไทย ปกป้องอธิปไตยไซเบอร์ของไทย ซึ่งมาเร็วและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างต่อเนื่อง วันนี้จึงจำเป็นที่ต้องมีการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง ทุก URL ที่ส่งให้ดำเนินการเป็นคำสั่งของศาลประเทศไทย ไม่ใช่การตัดสินใจของกระทรวง” นายยุทธพงษ์ กล่าว

ส่วนกรณีมีกระแสข่าว เฟซบุ๊ก จะฟ้องรัฐบาลไทยนั้น ตนยังไม่เห็นเอกสารอย่างเป็นทางการ  ถ้ามีการฟ้องจริง ก็ต้องตั้งทีมกฎหมายสู้คดี ยืนยัน การดำเนินการที่ผ่านมาทำตามกฎหมายไทย แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ไม่น่าจะมีการฟ้องร้อง ส่วนหนึ่งเพราะคนไทยใช้เฟซบุ๊กเยอะ และคำขอที่ให้ลบเพจผิดกฎหมาย ก็เป็นการทำตามคำสั่งศาล ซึ่งได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดีจากเจ้าของแพลตฟอร์ม กระทรวงฯ ขอยืนยันว่าเรามีมาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมาย

ส่วนที่แอดมินเพจ”รอยัลลิสต์มาร์เก็ต เพลส” มีการเปิดเพจใหม่ “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส- ตลาดหลวง” ก็จะติดตาม หากมีการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย กระทรวงฯ ก็ยึดมาตรฐานเดิม ไม่ว่าจะเปิดใหม่อีกกี่เพจก็ตาม และจะใช้มาตรฐานนี้กับทุกเพจ ที่กระทำผิดกฎหมายไม่ใช่เฉพาะเพจนี้เท่านั้น

ที่ผ่านมา เราไม่เคยดำเนินการทางกฎหมายกับเจ้าของแพลตฟอร์มไหนเลย แม้กฎหมายจะเปิดช่องให้ทำได้ อย่างกรณี เพจ รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส ไม่ได้มีเรื่องของการเมืองอยู่เบื้องหลัง ก่อนหน้านี้เราส่งหนังสือ พร้อมคำสั่งศาลไป 2 ครั้ง มีการแจ้งเตือนขอความร่วมมือให้ลบทุกครั้ง เมื่อครบ 7 วัน แต่ไม่มีการดำเนินการ ครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 เรามีการแจ้งไปว่า มีมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ที่กำหนดให้ต้องดำเนินการภายใน 15 วัน

เขาอาจจะเพิ่งเข้าใจว่า หากไม่ลบก็จะมีความผิด จึงรีบดำเนินการ ซึ่งจะเป็นลักษณะปิดกั้นการมองเห็นของคนไทย หรือว่าลบแอคเค้าท์ อันนี้ไม่รู้แต่คำสั่งศาลไทยคือ ให้ลบ และถ้าเขาไม่ดำเนินการ เราก็ต้องรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้ตำรวจดำเนินคดีอาญา

ส่วนที่เฟซบุ๊กระบุว่า กรณีดังกล่าวมีผลทำให้เฟซบุ๊ก ทบทวนแผนการลงทุนในไทย ส่วนตัวเห็นว่าการที่บริษัทข้ามชาติจะมาลงทุนในไทย ถือเป็นสิทธิของบริษัทนั้น และเมื่อเขามาทำธุรกิจในไทย ก็ต้องเคารพกฎหมายไทย ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายของเรา ก็ทำอย่างเท่าเทียมกับคนที่กระทำความผิดไม่เฉพาะว่าเป็นคนไทย แล้วต่างชาติได้รับการยกเว้น ซึ่งถ้ากฎหมายไทยไม่ศักดิ์สิทธิ์ บริษัทต่างชาติหลายแห่งคงไม่เข้ามาลงทุน

รวมทั้งไม่มองว่ากรณีที่เกิดขึ้น จะมีผลทำให้คนออกมาชุมนุมทางการเมืองกันมากขึ้น เพราะสิ่งที่ดำเนินการเนื่องจากมีการทำผิดกฎหมาย ไม่ได้จะไปจุดไฟอะไร จึงเป็นคนละประเด็นกัน ถ้าไม่มีการโพสต์อะไรที่ผิดกฎหมาย ทำได้หมด แม้กระทั่งการชุมนุม ถ้าไม่ทำอะไรผิดกฎหมายก็ชุมนุมได้

นายพุทธิพงษ์  ยังกล่าวถึง กระบวนการไล่ล่า คนทำดี คนเห็นต่าง ไม่ว่าใครก็ตาม หรือคนมีชื่อเสียงถูกไล่ล่าทางโซเชียลฯ ซึ่งลักษณะแบบนี้ถือว่าไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมที่เราใช้อยู่ ชวนกันไป บูลลี่ กดดันให้เขาทำธุรกิจไม่ได้บ้าง ทัวร์ลงบ้าง ทำให้เขาถูกถอดออกจากหน้าที่การงาน ถือเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้อื่น ฉะนั้นถ้ามีการร้องเรียนเข้ามา หรือพบว่ามีการใช้ถ้อยคำหยาบคาย กระทรวงฯ ก็จะรับไปดำเนินการ และส่งให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)ไปดำเนินการ